IPCC ชี้ปัญหา‘โลกร้อน’ ใกล้สุดทาง

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ได้เผยแพร่รายงาน “Climate Change 2021-2022” โดยได้มีการเปิดเผยรายงาน 2 ส่วนแรกไปแล้ว เมื่อเดือนสิงหาคม ปีค.ศ. 2021 ซึ่งในรายงานส่วนที่ 1 The Physical Science Basis ได้กล่าวถึง “สัญญาณอันตราย” ที่โลกจะร้อนเกินกว่าที่จะควบคุมได้ และจะชี้ให้เห็นว่า โลกที่ร้อนขึ้นอาจส่งผลให้อารยธรรมมนุษย์ล่มสลายแบบไม่อาจหวนกลับคืน ในรายงานส่วนที่ 2 Impact, Adaptation and Vulnerability เดือนกุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 2022 และรายงานส่วนที่ 3 Mitigation of Climate Change ปีค.ศ. 2022 เป็นการบอกวิธีการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้โลกใบนี้ยังสามารถอยู่อาศัยได้ในอนาคต และเน้นย้ำว่าต้อง “เริ่มทำทันที” เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่จะเกิดขึ้นเพราะเนื่องจากในปัจจุบันพื้นผิวโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่ายุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.1 องศาเซลเซียส

รายงานส่วนที่ 3 ของรายงาน IPCC ฉบับนี้ ได้ประเมินสถานะของโลกในปัจจุบันที่เป็นสัญญาณเตือนเอาไว้หากโลกไม่สามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากกว่าที่แต่ละประเทศได้ประกาศเป้าหมายเอาไว้ภายในปีค.ศ. 2030 (เป้าหมาย NDC) นั่นหมายความว่า เป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศา ตามความตกลงปารีสนั้นจะไม่สามารถเป็นไปได้ ดังนั้น IPCC ระบุว่าหากต้องการควบคุมไม่ให้โลกอุณหภูมิสูงกว่าเกิน 2 องศา โดยโลกจะต้องไม่ใช้น้ำมันสำรองร้อยละ 30 ก๊าซสำรองร้อยละ 50 และถ่านหินสำรองร้อยละ 80 แม้ว่าจะมีเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์แล้วก็ตาม และระบุว่าการยุติการอุดหนุนพลังงานฟอสซิลของรัฐบาลทั่วโลกจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึงร้อยละ 10 ภายในปีค.ศ. 2030 โดยระบุอีกแนวทางเอาไว้ คือการ “เปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด” โดยระบุว่า โลกจะต้องเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น “ศูนย์” หรือ “Net Zero Emission” ให้ได้ภายในปีค.ศ. 2050 โดยจะต้องหันไปใช้ พลังงานไฟฟ้า และพลังงานไร้มลพิษอื่นๆ นอกจากนี้ ควรลดความต้องการพลังงานลงจากฝั่งผู้บริโภคได้ด้วย เช่น การกินอาหารจากพืชเป็นหลัก การใช้รถยนต์ไฟฟ้า การคมนาคมโดยไม่ใช้รถยนต์ การสื่อสารทางไกล การสร้างอาคารที่ทนต่อสภาพอากาศ ลดเที่ยวบินระยะไกล รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้ร้อยละ 40-70 ภายในปีค.ศ. 2050 และวิธีที่เป็นไปได้จริง ก็คือการดูดกลับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่า หรือการใช้เครื่องมือทางเคมีในการแยกคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ มีความสำคัญอย่างมากต่อการก้าวไปสู่เป้าหมาย “Net Zero Emission” และ “การลดอุณหภูมิโลก” ลงได้

 

 

อ้างอิง https://www.matichon.co.th/article/news_3289925

Write a comment

one × 4 =