เกี่ยวกับเรา

โดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
 
 
 

 
 
หลักการและเหตุผล
 

          การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมีความจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการดำเนินงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนั้นก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศซึ่งนำไปสู่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนผลกระทบทางเศรษฐกิจกับทุกภาคส่วนทั่วโลก

          ประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามความตกลงปารีส(Paris Agreement) เมื่อปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change) ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2558 เพื่อกำหนดกฎกติการะหว่างประเทศสำหรับการมีส่วนร่วมของภาคีในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความมุ่งมั่นมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก ในบริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืนและความพยายามในการขจัดความยากจน

          องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้ดำเนินโครงการสถาบันวิทยาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ TGO – Climate Action Academy โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างองค์ความรู้และเครือข่ายในกลุ่มเป้าหมายอันประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงหรือผู้นำองค์กร และบุคลากรทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมถึงนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงในความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สาเหตุของการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ (Global warming) แนวทางหรือกลไกการบริหารจัดการสาเหตุของการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวต่อการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนนโยบายและมาตรการต่างๆ ทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศที่ใช้เป็นแนวทางสำหรับการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป

          ที่ผ่านมา TGO ได้จัดตั้ง ศูนย์วิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change International Technical and Training Center: CITC) และพัฒนาชุดองค์ความรู้พื้นฐานด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับ Japan International Cooperation Agency (JICA) เพื่อใช้ถ่ายทอดในระดับภูมิภาค ซึ่งองค์ความรู้นี้สามารถถ่ายทอดสู่ผู้นำองค์กรและบุคลากรจากภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รวมถึงนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้เกิดความเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้นอกจากนี้ยังได้ทราบถึงรูปแบบและตัวอย่างการดำเนินการที่ประสบผลสำเร็จต่างๆ ผ่านการถ่ายทอดประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการใช้พลังงานในภาคส่วนต่างๆ ปัจจัยการผลิตภาคอุตสาหกรรมการจัดการของเสียต่างๆการผลิตและการปรับเปลี่ยนที่ดินในภาคการเกษตรและอาหาร

          นอกจากการดำเนินงานด้านการถ่ายทอดองค์รู้พื้นฐานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่สังคมโดยศูนย์ CITC แล้ว TGO ยังได้ทำการถ่ายทอดรูปแบบและกระบวนการประเมินความสำเร็จในการลดก๊าซเรือนกระจก หรือ carbon credit ในระดับโครงการ ระดับองค์กร ระดับพื้นที่ ตามมาตรฐานที่พัฒนาขึ้นในหลายรูปแบบ เช่น กลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM ) โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (TVER) ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์/ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (CFP/CFR) และ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO/CCF) เป็นต้น รวมไปถึงความรู้ในกลไกการตลาดในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

          ในการนี้ สถาบันวิทยาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือก่อตั้งขึ้นภายใต้แนวคิดการบูรณาการองค์ความรู้พื้นฐานที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้การดำเนินงานของ CITC ร่วมกับการถ่ายทอดรูปแบบและกระบวนการประเมินความสำเร็จในการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับต่างๆ ตามมาตรฐานที่ TGO ได้พัฒนาขึ้น โดยมุ่งหวังที่จะยกระดับการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้องค์ความรู้พื้นฐานด้านการดำเนินการต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งสถาบันวิทยาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมุ่งหวังที่จะสร้างบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงและผู้นำความคิดของทุกภาคส่วนให้มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทที่จะส่งเสริมการผลิตที่ใช้รูปแบบพลังงานและการปล่อยของเสียแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้เกิดผลผลิตสูงสุด ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีของเสียน้อยที่สุด และเกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของระบบห่วงโซ่อุปทานในระดับที่ต่ำสุด และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ตลอดจนส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่มีการดำเนินการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ (low carbon) สร้างสังคม low carbon ให้เกิดขึ้นโดยเร็ววันอันจะทำให้ทุกชีวิตในโลกอยู่ได้อย่างยั่งยืนและผาสุกต่อไป

Contact us

 E-mail : caa@tgo.or.th
Facebook : CAA Climate Action Academy