ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ประกาศเพิ่มเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจก

ระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน 2564 ได้มีการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศหรือ Leaders Summit on Climate ขึ้นโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อกระตุ้นความพยายามของประเทศเศรษฐกิจหลักในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

การประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศมีวัตถุประส่งค์เพื่อเน้นย้ำถึงความเร่งด่วน และผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจากการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่เข้มแข็งขึ้น รวมทั้งจะเป็นก้าวสำคัญบนเส้นทางสู่การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (COP26) ในเดือนพฤศจิกายนนี้ที่เมืองกลาสโกว์ สก็อตแลนด์

โดยก่อนการเริ่มประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศเพียงไม่กี่ชั่วโมงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลญี่ปุ่นรายหนึ่งเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจที่จะเพิ่มเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 46% ภายในปี 2573 จากระดับที่ตั้งเป้าไว้ที่ 26.4% ในปีงบประมาณ 2556  โดยนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะ ได้ประกาศเป้าหมายนี้ขณะเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศร่วมกับผู้นำจากทั่วโลก

เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครั้งใหม่ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากเป้าหมายครั้งก่อน และมีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการมากขึ้นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวให้ทันสหรัฐฯและยุโรปในการก้าวไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางของคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ในระดับโลกภายในปี 2593 และตั้งใจที่จะเร่งผลักดันสู่พลังงานหมุนเวียน

ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ได้ประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็น 50% – 52% จากระดับการปล่อยในปี 2548 ภายในปี 2573 ซึ่งคิดเป็นเกือบสองเท่าของเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า

ก่อนหน้านี้ระหว่างการประชุมทวิภาคีระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน และ นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ ซูกะ ได้ตกลงกันที่จะเปิดตัวความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศแบบทวิภาคีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีสและเป้าหมายชั่วคราวปี 2573 รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและส่งเสริมการลดคาร์บอนในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกและที่อื่น ๆ

สำหรับการประชุมผู้นำสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ มีผู้นำจากประเทศชั้นนำเข้าร่วมและร่วมแสดงถึงความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก อาทิ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียวางแผนที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% จากระดับการปล่อยในปี 2533 ภายในปี 2573 ตามข้อเสนอของสหประชาชาติและมีแนวโน้มที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯผ่านความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ส่วนประเทศจีนได้ตั้งเป้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดภายในหรือก่อนปี 2573 และบรรลุการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2603 จีนและสหรัฐฯตกลงในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันเสาร์ที่ 18 เมษายน 2564 ที่จะร่วมมือกันต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งได้การประกาศนี้อยู่ในช่วงที่นายจอห์น เคอรี่ ทูตพิเศษด้านสภาพภูมิอากาศของสหรัฐอเมริกาเดินทางไปเยือนนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

สำหรับจีนและสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2 อันดับแรกของโลก รวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของการปล่อยทั่วโลก ประเด็นเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศยังกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่หัวข้อที่ทั้งสองฝ่ายเปิดกว้างในการเจรจาท่ามกลางความตึงเครียดระดับทวิภาคี

ประเทศอินเดียได้เสนอจะเพิ่มเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจาก 33% เป็น 35% ภายในปี 2573 จากระดับปี 2548 อินเดียคือหนึ่งในประเทศต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากประชาคมโลกในการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างกำลังต่อสู้อย่างหนักกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำลังเผชิญกับแรงกดดันครั้งใหม่ในการกำหนดเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกให้มีความท้าทายมากขึ้นเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2573 ซึ่ง นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ามีความสำคัญต่อการดำเนินการไปสู่ความเป็นกลางของคาร์บอนภายในปี 2593

อย่างไรก็ตามนักวิจัยจากองค์การสหประชาชาติ และสถาบันอื่น ๆ ทั่วโลก ต่างออกมาเตือนว่าโลกจะต้องลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้มากที่สุดหรือควรลดให้ได้มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ภายในปี  2573 เพื่อควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ว่าจะสามารถบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอนภายในปี 2593 หรือไม่ องค์การสหประชาชาติและสหภาพยุโรปกำลังเรียกร้องให้ประเทศอื่น ๆ ที่เหลือตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นเพื่อป้องกันความเสียหายที่ไม่สามารถย้อนกลับได้

สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้มีแนวคิดหลักคือ

  1. กระตุ้นความพยายามของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกในการลดการปล่อยก๊าซในช่วงทศวรรษที่สำคัญนี้เพื่อให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่สูงเกิน 5 องศาเซลเซียส
  2. การระดมทุนทางการเงินของภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นศูนย์ และเพื่อช่วยประเทศที่เปราะบางรับมือกับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ
  3. ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ โดยเน้นที่การสร้างงานและความสำคัญของการสร้างหลักประกันให้ชุมชนและคนงานได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาดแบบใหม่
  4. กระตุ้นการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ อย่างมหาศาลและสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
  5. การจัดแสดงตัวอย่างระดับนานาชาติและนอกภาครัฐ ที่มุ่งมั่นในการฟื้นฟูสีเขียว และวิสัยทัศน์ที่เท่าเทียมกันในการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไว้ให้ไม่สูงเกิน 5 องศาเซลเซียส และการทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลระดับชาติเพื่อผลักดันเป้าหมายและการปรับตัว
  6. การหารือเกี่ยวกับโอกาสในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการดำรงชีวิตจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการกับความท้าทายด้านความมั่นคงของโลกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความพร้อม รวมทั้งหารือถึงบทบาทของการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐานเพื่อการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593

 

แปลและเรียบเรียงโดย นางสาววรรโณบล ควรอาจ

 

 

 

ที่มา/ แหล่งข้อมูล

Write a comment

2 × one =