การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในอาเซียน

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2559

คำอธิบายทางวิทยาศาสตร์จากฝั่งตะวันตกอาจไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้กับการวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความหลากหลายทางชีวภาพในอาเซียน เนื่องจากมีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างโลกตะวันตกและภูมิภาคอาเซียนทั้งในแง่ภูมิระบบนิเวศ และบริบททางเศรษฐกิจและสังคม

การประชุม COP21 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปที่เปรียบเสมือนความหวังเพราะหลายประเทศที่เข้าร่วมประชุมได้ให้คำมั่นว่าจะจำกัดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ ระดับที่จะจำกัดให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส หรืออาจจะไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่อย่างไรก็ดี ภัยคุกคามจากสภาวะโลกร้อนก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก

การเปลี่ยนแปลงซึ่งส่วนใหญ่เป็นแง่ลบส่งผลกระทบต่อทั้งธรรมชาติและมนุษย์ไม่ต่างกัน ปัญหาด้านสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร การเปลี่ยนแปลง ณ ชายฝั่ง รวมไปถึงในแง่เศรษฐกิจและสังคมซึ่งได้รับการเผยแพร่มากมายทั้งในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และสื่อกระแสหลักงานเผยแพร่ดังกล่าวแม้จะสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้อ่าน แต่ในขณะเดียวกันก็บังคับให้มนุษย์เริ่มมองหาทางที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้

ในส่วนของธรรมชาติ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าพืชและสัตว์ต่างชนิดพันธุ์มีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่วิธีการ และเวลา

สิ่งแรกคือการอพยพย้ายถิ่นฐาน สภาพอากาศที่อุ่นขึ้นจะทำให้การกระจายตัวของพันธุ์พืชและสัตว์เปลี่ยนแปลงไป เช่น การเคลื่อนย้ายถิ่นของชนิดพันธุ์ใดชนิดพันธุ์หนึ่งไปยังพื้นที่ที่เราไม่เคยพบมันมาก่อน หรือการหายตัวไปของชนิดพันธุ์ในพื้นที่ที่มันเคยอยู่อาศัย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับปริมาณประชากรหรือถิ่นฐานภายในชนิดพันธุ์เดียวกัน

จากการศึกษาพบว่าชนิดพันธุ์ส่วนใหญ่ย้ายไปยังพื้นที่ที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นกว่า โดยแบ่งการเคลื่อนที่ออกเป็นสองแบบคือ การอพยพขึ้นไปตามเล่นละติจูด คือมุ่งหน้าไปยังขั้วโลก หรือการอพยพขึ้นไปยังพื้นที่ที่สูงกว่าเดิม

สิ่งที่สองคือผลกระทบต่อวงจรชีวิต กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิหรือดินฟ้าอากาศ ส่งผลกระทบต่อเหตุการณ์หนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นในวงจรชีวิต เช่น การผสมพันธุ์ รวมถึงพฤติกรรมอีกหลายอย่างในพืชและสัตว์

หากชนิดพันธุ์ใดไม่สามารถเผชิญกับผลกระทบทั้งสองข้างต้น ก็อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างความตึงเครียดต่อความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเดิมทีก็มีหลายปัจจัยคุกคามอยู่แล้ว ภูมิภาคอาเซียนคือหนึ่งในระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นราวร้อยละ 20 ของความหลากหลายทางชีวภาพทั้งทางน้ำและทางบก

น่าเสียดายที่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคอาเซียนเป็นประเด็นที่ไม่มีการศึกษามากนัก เราอยู่ในสภาวะที่ขาดข้อมูลอย่างรุนแรง เป็นการยืนยันว่าโครงสร้างเชิงสถาบันยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ไม่ว่าจะในระดับชาติสมาชิกระดับระหว่างรัฐบาล เช่น สำนักเลขาธิการอาเซียน หรือระดับสถาบันวิจัยภายในชาติสมาชิกอาเซียน

ภาพด้านบนคือสมมติฐานจำลองขึ้นตามทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและงานวิจัยที่ศึกษาในประเทศอื่น กลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งตั้งอยู่ในทวีปเอเชียจะเผชิญกับการย้ายถิ่นฐานของชนิดพันธุ์โดยมีทิศทางไปยังขั้วโลกโดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว สำหรับประเทศหมู่เกาะอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และบางส่วนของประเทศมาเลเซีย ชนิดพันธุ์มีแนวโน้มจะอพยพขึ้นที่สูงมากกว่ามุ่งหน้าไปทางขั้วโลก

การอพยพย้ายถิ่นฐานไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนที่ไปทางขั้วโลกหรือการอพยพขึ้นที่สูงย่อมส่งผลต่อสถานการณ์การอนุรักษ์ในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต โดยเฉพาะการบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครอง

ภายใต้แนวโน้มด้านบน ผู้ดำเนินนโยบายในกลุ่มประเทศอาเซียนจะเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก พวกเขาอาจจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นกระบวนการทางธรรมชาติ ยอมรับการสูญพันธุ์และความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานขนานใหญ่ โดยจะเน้นที่การลดผลกระทบจากปัจจัยกดดันดั้งเดิม เช่น การตัดไม้ผิดกฎหมาย การค้าสัตว์ป่า การพัฒนาอย่างไม่ยั่งยืนรอบระบบนิเวศ พื้นที่อยู่อาศัยตัดขาด การบุกรุกจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และไฟป่า

หรือมีอีกทางเลือกหนึ่งคือ เขาสามารถบริหารจัดการโดยพิจารณาความเป็นไปได้ว่าชนิดพันธุ์จะเคลื่อนที่ไปทางไหน และใช้ทางเลือกเช่นการสร้างระเบียงป่า (corridors) การประกาศพื้นที่อนุรักษ์ที่สามารถข้ามเขตกันได้ หรือการขยายขอบเขตพื้นที่อนุรักษ์ให้ขอบคลุมทั้งที่ราบและที่สูง ทางเลือกนี้แน่นอนว่าต้องผ่านกระบวนการเจรจาที่ยากลำบากและเข้มข้นกับทางเลือกอื่นในการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงผู้มีส่วนได้สวนเสียต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น

ในบริบทของอาเซียน ผลกระทบที่เกิดไม่ใช่แค่ต่อพืชหรือสัตว์ แต่ยังรวมถึงประชากรมนุษย์ด้วย มีตัวอย่างในหลายพื้นที่ที่ชุมชนท้องถิ่นย้ายที่ทำกินไปยังพื้นที่สูงเพื่อให้พืชเศรษฐกิจมีผลิตผลเพิ่มขึ้น

กลุ่มเกษตรกรกาแฟบริเวณ Central Aceh นับเป็นตัวอย่างที่โด่งดัง พวกเขาได้รับผลกระทบจากอากาศที่อุ่นขึ้นซึ่งส่งผลให้มีการระบาดของศัตรูพืช เกษตรกรเคลื่อนย้ายที่ทำกินไปเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 1,000 เมตรเพื่อผลิตกาแฟอราบิก้าชื่อก้องโลก แต่เพื่อการนั้น เกษตรกรก็ได้บุกรุกเข้าไปในพื้นที่คุ้มครอง หักร้างถางพงพื้นที่เพื่อใช้ทำการเกษตร

การขาดข้อมูลเกี่ยวกับภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในขณะเดียวกัน รัฐบาลของบางประเทศในกลุ่มอาเซียนก็ขาดการดำเนินการแก้ไขปัญหา หรือถึงขั้นไม่สนใจ จนทำให้เราต้องสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไปในหลายพื้นที่อนุรักษ์

ในระดับภูมิภาค ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งอาเซียน (the ASEAN Centre for Biodiversity – ACB) ซึ่งถือเป็นสถาบันอย่างเป็นทางการระดับภูมิภาค ทำหน้าที่สนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ภายใต้การดูแลของสำนักเลขาธิการอาเซียน ควรเดินหน้าไปให้ไกลกว่าดำเนินโครงการที่มีผู้บริจาคหรือผู้สนับสนุน สู่การเป็นสถาบันที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในอาเซียน เช่น การกำหนดนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่จัดทำขึ้นเพื่อชาติอาเซียนโดยเฉพาะ ในขณะเดียวกันก็ต้องตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ในอาเซียน

บทบาทในอนาคตของ ACB และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน ก็ยังอยู่ในขั้นประนีประนอม เนื่องจากขาดความเชี่ยวชาญ และมีงบประมาณภายในที่ค่อนข้างจำกัด หากไม่มีทรัพยากรเหล่านี้ ก็เป็นเรื่องจากที่ ACB จะดำเนินการวิจัยใดๆ ในอนาคต หรือการริเริ่มสร้างศักยภาพผู้บริหารพื้นที่คุ้มครอง โดยเชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในอาเซียน

ถอดความจาก Climate change affects ASEAN biodiversity โดย Jamal M. Gawi เข้าถึงได้ที่http://www.thejakartapost.com/news/2016/02/16/climate-change-affects-asean-biodiversity.html
ถอดความโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.        Gawi, J.M. and รพีพัฒน์.อิงคสิทธิ์, 2559, At4 – การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในอาเซียน, [online], Available: http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1734:seubnews&catid=5:2009-10-07-10-58-20&Itemid=14 [28 กุมภาพันธ์ 2559].



Write a comment

3 × three =