7 ผลกระทบ ที่ข้อตกลงปารีสอาจส่งผลต่อชีวิตคุณ

คุณอาจคิดว่า ข้อตกลงปารีสที่เป็นข้อสรุปจากการประชุม COP21 อาจแทบไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อชีวิตประจำวันของคุณ แต่สำหรับการประชุมนี้มีความแตกต่างออกไป เพราะหลายคนเชื่อว่าผลลัพธ์ของข้อตกลงปารีสคือความหวังสุดท้ายที่มนุษยชาติจะบรรลุเพื่อปกป้องตัวเองจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อคุณ และอีกหลายพันล้านคนทั่วโลก ด้วยเหตุผล 7 ข้อคือ

1. นี่คือปราการด่านสุดท้ายที่เราจะดำเนินการในระดับโลก ทางเลือกเดียวที่นำไปสู่การป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือความร่วมมือระหว่าภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน

นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม เราเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลและถางทำลายป่าเพื่อเร่งรัดการพัฒนาของมนุษย์ แต่เนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศจะตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้า สิ่งที่เราเผชิญในปัจจุบันอาจเป็นผลมาจากการกระทำเมื่อทศวรรษที่แล้ว แต่หากเรายังไม่สามารถทำตามข้อตกลงปารีสโดยลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก เช่น การลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็มีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นอย่างมาก

2. อากาศที่แปรปรวน = ความไม่มั่นคงทางอาหารและความรุนแรง

เกษตรกรทั่วโลกต่างต้องพึ่งพิงแบบแผนของภูมิอากาศเป็นสำคัญ เมื่อแบบแผนเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่สามารถคาดเดาได้ ย่อมนำไปสู่ความสูญเสียของพืชผลทางการเกษตร การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศปัจจุบันได้ส่งผลทำให้อัตราการเก็บเกี่ยวของพืชทั่วโลก เช่น ข้าวสาลีและกาแฟ ลดลงอย่างมาก

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่มากกว่าฝนที่ตกโดยไม่สามารถคาดเดาได้ กล่าวคือ อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้น คลื่นความร้อน ความเสี่ยงภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร และทำให้คนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเนื่องจากลี้ภัยผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรง ตัวอย่างเช่น ภัยแล้งที่ยาวนานคือหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในซีเรีย

ผู้เชี่ยวชาญคาดเดาว่าอัตราการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ลดต่ำลงในธัญพืชหลัก เช่น ข้าวสาลี และข้าว จะส่งผลให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่และความขัดแย้งรุนแรง การดำเนินการตามข้อตกลงปารีสจะช่วยลดความเสี่ยงในกรณีนี้

3. การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ปัญหาร้ายแรงขึ้น

ป่าไม้มีบทบาทสำคัญในการเป็นเครื่องกรองทั้งน้ำและฟอกอากาศ ป่าไม้ช่วยกรองมลภาวะ ยึดหน้าดิน รวมถึงเป็นแหล่งกักเก็บแก๊สเรือนกระจกไว้ใต้ดิน ป่าไม้ยังเป็นที่พึ่งพาทางเศรษฐกิจของชุมชนที่อยู่อาศัยในป่า มีการศึกษาว่าป่าไม้ช่วยปรับสมดุลสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ดังนั้นป่าอเมซอนก็ช่วยควบคุมให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลไกลถึงแคลิฟอร์เนีย

เมื่อป่าไม้ถูกตัดลง ผลกระทบทางลบจะเกิดขึ้น 2 ทอด อย่างแรกคือเราสูญเสียการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นออกซิเจนตามธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน คาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกักเก็บไว้ใต้ดินก็จะถูกปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ

4. มหาสมุทรที่เป็นกรดมากขึ้น

คุณอาจเคยได้ยินคำว่า ‘มหาสมุทรกำลังกลายเป็นกรด’ แต่ความหมายที่แท้จริงของมันคืออะไร?

เอาง่ายๆ มหาสมุทรจะยิ่งมีความเป็นกรดมากขึ้น มากขึ้น เมื่อเราเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล คาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลจะถูกดูดกลืนสู่มหาสมุทร ซึ่งแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดูดซับลงสู่น้ำจะเปลี่ยนแปลงเคมีของมหาสมุทร

ในมหาสมุทรที่มีความเป็นกรดสูง สัตว์น้ำเปลือกแข็ง เช่น หอยนางรม ปู หอยทาก หรือแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดจิ๋ว จะมีปัญหาในการสร้างและรักษาเปลือกแข็งของพวกมัน เนื่องจากค่าความเป็นกรดที่สูงจะสลายเปลือกแข็งดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อทั้งห่วงโซ่อาหารในทะเล และแน่นอนว่าปลาที่เรารับประทานกันก็ย่อมได้รับผลกระทบนี้ด้วย ปัจจุบัน ประชากรราวร้อยละ 12 จำเป็นต้องพึ่งพาการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เรื่องนี้จึงถือเป็นเรื่องใหญ่

5. กาแฟ และเกษตรกรทำไร่กาแฟ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อทุกคนในระดับที่แตกต่างกัน แต่พื้นที่เขตร้อนชื้นจะได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง นั่นหมายถึงสินค้าเกษตรอย่างกาแฟ กล้วย และโกโก้ ย่อมได้รับผลกระทบ

เกษตรกรในพื้นที่เขตร้อนชื้นต่างประสบปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างคาดเดาไม่ได้ หน้าร้อนที่ร้อนขึ้นและฝนตกหนักทำให้เกิดการระบาดของเชื้อราในกาแฟ ที่ส่งผลให้กาแฟค่อยๆ เฉาตาย อีกทั้งกาแฟยังเป็นพืชที่ต้องปลูกในช่วงอุณหภูมิที่เฉพาะเจาะจง ยิ่งอุณหภูมิสูงขึ้นเท่าไร ก็มีความเป็นไปได้ว่าเกษตรกรจะไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตและสร้างรายได้เพียงพอต่อการยังชีพ

การเพาะปลูกพืชอย่างยั่งยืนถือเป็นทางออกหนึ่ง และข้อตกลงปารีสจะช่วยเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะต่อเกษตรกรในเขตร้อนชื้น

6. ผู้หญิง เด็ก และชาติพันธุ์พื้นเมือง คือผู้ที่จะได้รับผลกระทบก่อน

ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยเฉพาะผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ด้อยพัฒนา ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานหรือบริการที่ช่วยเหลือต่อการรับมือภัยพิบัติ เช่น ภัยแล้ง หรือพายุที่รุนแรง เป็นเรื่องไม่ยุติธรรมที่คนเหล่านี้มีวิถีชีวิตที่ปล่อยคาร์บอนน้อยมากๆ แต่กลับเป็นกลุ่มที่โดนผลกระทบมากที่สุด

ผู้หญิง เด็ก และชาติพันธุ์พื้นเมือง คือกลุ่มที่มีความเปราะบาง ความไม่เท่าเทียมทางเพศในหลายประเทศของโลกเป็นอุปสรรคให้ผู้หญิงและเด็กไม่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ในขณะเดียวกัน ชาติพันธุ์พื้นเมืองก็ต้องสูญเสียแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และเผชิญกับสภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้ ทำให้สูญเสียแหล่งที่พึ่งทางเศรษฐกิจไป

สภาพภูมิอากาศที่เสถียรมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดความยากจนและเพิ่มสุขภาวะ ข้อตกลงปารีสคือก้าวแรกเพื่อบรรลุสิ่งที่ใหญ่กว่า

7. เราไม่มีแผนสำรอง

เราอยู่ในสถานการณ์ลำบากเพราะบรรพบุรุษของเราเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลและตัดป่าอย่างมโหฬาร เป็นเรื่องยากที่จะกล่าวโทษพวกเขา เพราะพวกเขาไม่รู้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น แต่เรารู้ดี และคงเป็นเรื่องที่ไร้วิสัยทัศน์หากตัวแทนที่เข้าร่วมการประชุม ณ กรุงปารีส จะไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลง หรือการบอกปัดว่า “เดี๋ยวค่อยจัดการเรื่องนี้ทีหลัง”

โชคไม่ดีนัก ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องที่ ‘ค่อยทำทีหลัง’ การดำเนินการที่ช้าเกินไป จะยิ่งทำให้ผลกระทบที่เราเองก็รู้สึกได้รุนแรงขึ้น

ถอดความจาก “7 Ways the Outcome of Paris Climate Talks Will Impact Your Day-to-Day Life” โดย Brittany Wienke เข้าถึงได้ที่ http://ecowatch.com/2015/12/09/paris-climate-talks-impact-you/
ถอดความโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.       รพีพัฒน์.อิงคสิทธิ์, 2559, At4 – 7 ผลกระทบ ที่ข้อตกลงปารีสอาจส่งผลต่อชีวิตคุณ, [online], Available: http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1795:seubnews&catid=5:2009-10-07-10-58-20&Itemid=14 [28 เมษายน 2559].

Write a comment

two × five =