Climate Clock นาฬิกาสภาพภูมิอากาศ นับถอยหลังสู่วิกฤติโลก

นับตั้งแต่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ซึ่งเป็นวันที่ความตกลงปารีส (Paris Agreement) มีผลบังคับใช้ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ทำให้นานาประเทศมีเป้าหมายร่วมกันที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เพิ่มเกินกว่า ๒ องศาเซลเซียส แต่ที่ดีที่สุดคือ ๑.๕ องศาเซลเซียส ซึ่งถ้าเราทำไม่สำเร็จ นั่นหมายถึงทุกชีวิตบนโลกจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศที่ไม่สามารถย้อนกลับได้ (Point of No Return) และสถานการณ์จะรุนแรงกว่าที่เราเผชิญอยู่ในตอนนี้หลายเท่าตัว นั่นคือ โลกของเรามีเวลาจำกัดสำหรับการแก้ไขปัญหานี้ ก่อนจะสายเกินไป

สิ่งที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้นก็คือก๊าซเรือนกระจก หรือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ทุกคนคุ้นหูกันมากกว่า โดยเฉพาะในช่วงของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมก๊าซเหล่านี้ที่ถูกปล่อยออกมาอย่างมหาศาลและขึ้นไปสะสมจนทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น หรือ เกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้น หากเราต้องการจัดการที่สาเหตุของปัญหานี้ ก็คือ เราต้องจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งการควบคุมหรือจำกัดปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่สามารถปล่อยได้ และเรียกว่า “Carbon Budget” และหากเรายังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเกิน Carbon Budget จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงเกิน ๑.๕ องศา หรือ ๒ องศา นั่นคือเราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของ ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ได้นั่นเอง

ในปี ๒๐๑๘ รายงาน Special Report on Global Warming of ๑.๕ °C ของ IPCC กล่าวว่าหากต้องการควบคุมอุณหภูมิไม่สูงเกิน ๑.๕ องศาเซลเซียส  จะมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถปล่อยได้ (Carbon budget) ต้องไม่เกิน ๔๒๐ GtCO2eq และในการที่จะทำให้อุณหภูมิไม่สูงเกิน ๒ องศาเซลเซียส ต้องไม่เกิน ๑,๑๗๐ Gt CO2 ซึ่งในปัจจุบันนี้โลกเราปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ ๔๒ GtCO2eq ต่อปี และหากเรายังปล่อยด้วยอัตราเท่าเดิมหรือมากกว่า เราจะเหลือเวลาอีกนานเท่าไหร่ ในการยังยั้งความรุนแรงของปัญหา Climate Change

นาฬิกาสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Clock ณ วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๓ (Ref.: https://climateclock.world/) แสดงให้เห็นว่าก่อนที่ Carbon Budget จะหมด เราเหลือเวลา ๗ ปี ที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้อยู่ที่ ๑.๕ องศาเซลเซียส และ ๒๕ ปี สำหรับ ๒ องศาเซลเซียส โดยนาฬิกานี้เปรียบเสมือนการนับถอยหลังสู่จุดที่ไม่อาจย้อนกลับ และเราทุกคนจะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์โลกร้อน หากไม่ลงมือทำอะไรเลย

 

โดย

สำนักสนับสนุนวิชาการและนโยบายสาธารณะ (สวส.)

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

Write a comment

18 + 9 =