โลกเตรียมเผชิญ ‘มหันตภัย’ ถาโถม คาร์บอนในบรรยากาศพุ่ง ทะลุจุดยากหวนคืน

แม้ว่าเดือน ก.ย.จะเป็นเดือนที่มีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ในชั้นบรรยากาศต่ำสุดในรอบปี แต่จากผลการวิจัยของ สถาบันสมุทรศาสตร์สคริปปส์ (Scripps Institution of Oceanography) ชี้ชัดว่า ในเดือน ก.ย.2016 ปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ที่ตรวจจับได้ในบรรยากาศจะมีค่ามากกว่า 400 ppm โดยจะอยู่ราวๆ 401 ppm

ทั้งที่ค่ามาตรฐานในระดับปลอดภัยซึ่งจะทำให้โลกรอดพ้นมหันตภัยร้ายแรงชนิดที่ไม่อาจแก้ไขได้นั้น ถูกพิจารณาว่าควรจะต้องไม่เกิน 350 ppm

Ralph Keeling หัวหน้าโครงการวิจัย เชื่อว่า ความหวังที่จะทำให้เดือน ต.ค.มีค่าลดลงนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ในทางตรงกันข้ามในเดือน พ.ย.ของปีนี้ โลกจะต้องเผชิญหน้ากับปริมาณคาร์บอนไดออกไซค์ในชั้นบรรยากาศทุบสถิติใหม่ คืออาจจะทะลุ 410 ppm

“ค่อนข้างเป็นที่แน่ใจแล้วว่าเราจะไม่ได้เห็นเดือนที่มีค่าคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่า 400 ppm อีกแล้ว” นักวิจัยรายนี้ กล่าว พร้อมยังฉายภาพความจริงที่น่าหวาดกลัว

นั่นก็คือ ต่อให้มีปาฏิหาริย์คือเราทุกคนหยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ก็ถือว่ายังต้องใช้เวลาอีกนับทศวรรษกว่าที่ค่าจะลดลงต่ำกว่า 400 ppm ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าเป็นไปไม่ได้

การตรวจพบปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์มากกว่า 400 ppm ครั้งแรก มีขึ้นเมื่อปี 2013 โดย สถานีตรวจวัดเมานาโลอา ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นสถานีตรวจวัดทั่วโลกก็ต่างทยอยตรวจพบค่าไปในทิศทางเดียวกัน

จนในที่สุดปี 2016 สถานีอุตุนิยมวิทยาแอนตาร์กติก ขั้วโลกใต้ ก็เป็นแห่งสุดท้ายที่ทำให้โลกได้ก้าวผ่านค่า 400 ppm

มีการศึกษาของนักวิชาการหลายชิ้นที่พยายามหาคำตอบว่า ก่อนหน้านี้โลกเคยประสบกับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศที่สูงขนาดนี้มาก่อนหรือไม่

หนึ่งในนั้นคือการศึกษาเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับความเสถียรของแผ่นน้ำแข็ง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศตลอด 20 ล้านปีที่ผ่านมา ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ในปี 2009 ระบุว่าครั้งสุดท้ายที่โลกเผชิญกับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณสูงอย่างคงที่เช่นนี้ อยู่ที่ราว 15-20 ล้านปีก่อน

ขณะที่อีกการศึกษาเรื่อง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศที่ลดลง ระหว่างการก่อตัวของน้ำแข็งขั้วโลกเหนือสมัยไพลโอซีน ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Paleoceanography ในปี 2011 ระบุว่า ค่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศของโลกที่ลักษณะเหมือนกับในปัจจุบัน น่าจะเคยเกิดขึ้นเมื่อ 2-4 ล้านปีก่อน

แน่นอนว่า มีความเป็นไปได้ที่โลกเคยผ่านวิกฤตคาร์บอนไดออกไซค์มาแล้ว ซึ่งไม่ว่าจะ 4 ล้านปี หรือ 15 ล้านปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกสำหรับเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ

ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถบอกได้ ว่าในขั้นต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นตามมา ?

เรียบเรียงข้อมูลจาก http://www.sciencealert.com/earth-s-co2-levels-just-permanently-crossed-a-really-scary-threshold

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. Green News TV, 2559, Nt2 – โลกเตรียมเผชิญ ‘มหันตภัย’ ถาโถม คาร์บอนในบรรยากาศพุ่งทะลุจุดยากหวนคืน, [online], Available: http://www.greennewstv.com/%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%8D-%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A0%E0%B8%B1/ [30 กันยายน 2559].

Write a comment

eleven − 5 =