การลดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยสาหร่ายสีเขียวขนาดเล็ก

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (2557)

มนัสนันท์ งามถ้อย

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการนำแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ความเข้มข้นสูง เช่น จากกิจกรรมการเผาไหม้หรือกิจกรรมอื่นๆ ในอุตสาหกรรมมาใช้ในการเลี้ยงสาหร่ายเพื่อลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศด้วยวิธีทางชีววิทยา โดยศึกษาการเจริญเติบโตของสาหร่าย 3 สายพันธุ์ ได้แก่ Chlorella vulgaris TISTR 8580, Chlorococcum Sp. TISTR 8583 และ Scenedesmus Sp. TISTR 8479 ในน้ำหมักชีวภาพที่ผ่านการฆ่าเชื้อและไม่ผ่านการฆ่าเชื้อในสภาวะทดลองแบบธรรมชาติที่ระดับความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ คือ 0.5 และ 1% ผลการศึกษาพบว่าสาหร่ายแต่ละชนิดมีการเจริญเติบโตแตกต่างกันในสภาวะธรรมชาติ โดยพบว่าสาหร่าย Scenedesmus Sp. TISTR 8479 สามารถเจริญเติบโตได้ดีที่สุดในทุกสภาวะทดลอง และเมื่อนำสาหร่ายแห้งมาสกัดองค์ประกอบทางชีวเคมีภายในเซลล์สาหร่าย ที่สภาวะทดลองแบบธรรมชาติในน้ำหมักชีวภาพที่ผ่านการฆ่าเชื้อ พบว่ามีปริมาณไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตสูงที่สุดเท่ากับ 6.53 ± 1.01, 32.28 ± 0.43 และ 15.13 ± 0.23% ของน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ ที่สภาวะเพาะเลี้ยงที่ระดับความเข้มข้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 1% พบว่าสาหร่าย Scenedesmus Sp. TISTR 8479 มีปริมาณไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตสูงสุดเท่ากับ 3.56 ± 0.55, 43.48 ± 0.76 และ 20.08 ± 0.16% ของน้ำหนักแห้ง ตามลำดับ มีกรดไขมันที่เป็นองค์ประกอบหลัก ได้แก่ กรดปาล์มมิติก 32.16 และ 8.89%, กรดโอเลอิก 20.74 และ 3.72%, กรดลิโนเลอิก 7.81 และ 6.10% และกรดลิโนเลนิก 6.31 และ 14.16% ตามลำดับ

คำสำคัญ

สาหร่ายขนาดเล็ก Chlorella vulgaris Scenedesmus Sp. การลดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
น้ำมันจากสาหร่าย

เอกสารอ้างอิง

1.       มนัสนันท์.งามถ้อย, 2557, Rt3 – การลดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยสาหร่ายสีเขียวขนาดเล็ก, สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.

Write a comment

seventeen + six =