เคาะกติกาใหม่ภาษีรถยนต์ เก็บตามระดับ ‘รักษ์โลก’

ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 16 กรกฏาคม 2558

• รถกระบะเชิงพาณิชย์ ส่อโดนจ่ายเพิ่ม
• ฮอนด้า ซัดไม่เป็นธรรมหากนำขนาดเครื่องยนต์มาคิด
• แนะผู้ซื้อคิดให้ดีก่อนซื้อ เหตุจ่ายภาษีเพียบ

ECO Sticker มี QR Code เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถดาวน์โหลดข้อมูลรายละเอียดของรถยนต์คันนั้น รวมทั้งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Eco Sticker ได้อีกด้วย

        ภาษีรถใหม่ที่จะคิดจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะประกาศใช้ในต้นปี 2559 รวมถึงการให้ค่ายรถยนต์เปิดเผยข้อมูลรถให้กับประชาชน (Eco Sticker) ในเดือนตุลาคมนี้ ทำให้ทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อตื่นตัวกับการผลิตและเลือกซื้อรถยนต์ เพื่อรองรับภาษีใหม่ที่จะบังคับใช้ ส่วนผู้บริโภคหรือผู้ซื้อจะหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อรถใหม่ เพราะหากไม่เลือกซื้อรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณน้อยอาจจะต้องเสียภาษีมากขึ้น

       Eco Sticker คือ ป้ายแสดงการทดสอบอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมาตรฐานจากโรงงานประกอบรถยนต์ ได้แก่ อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันโดยรวม ในเมืองและนอกเมือง (ลิตร/100 กม.) ที่แสดงเป็นตัวเลขขนาดใหญ่ มีแถบแสดงอัตราสิ้นเปลืองชัดเจน เพื่อให้ผู้ซื้อรถได้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้น อีกทั้งบอกมาตรฐาน สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ข้อมูลพื้นฐานของรถ เช่น ยี่ห้อ รุ่น ระบบเกียร์ รหัส เครื่องยนต์ โครงรถ เครื่องยนต์ น้ำหนักรถ ขนาดของยาง จำนวนที่นั่ง ประเภทเชื้อเพลิง และโรงงานที่ผลิต

       นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดอุปกรณ์ที่ติดตั้งจากโรงงาน เป็นพื้นฐานความปลอดภัย และการประหยัดพลังงาน เช่น ขนาดของล้อ ระบบเบรd ถุงลมนิรภัย เบาะนั่ง ไฟท้าย และกระจก เป็นต้น อีกทั้งบอกรายละเอียดข้อมูลผู้ผลิตและนำเข้า ประกอบไปด้วย ชื่อบริษัทผู้ผลิต ที่อยู่ และเว็บไซต์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ถูกตรวจสอบคุณภาพโดยวิศวกรของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ที่ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติ (UN)

       อัตราการเสียภาษีจะคิดตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การคิดภาษีจะแบ่งตามประเภทรถยนต์ 7 ประเภท อาทิ รถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3000 ซีซี ปล่อยก๊าซไม่เกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บ 30% ปล่อยก๊าซ 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บ 35% และปล่อยก๊าซเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บ 40%

       ส่วนรถยนต์นั่งประเภทอี 85 และรถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3000 ซีซี ปล่อยก๊าซฯไม่เกิน 150 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บ 25% ปล่อยก๊าซ 150-200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บ 30% และปล่อยก๊าซฯเกิน 200 กรัมต่อกิโลเมตร จัดเก็บ 35%

       อุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา สศอ.ได้หารือกับผู้ผลิต ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยานยนต์ กำหนดแนวทางให้ติดป้ายแสดงการประหยัดพลังงานและปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเริ่มระบบป้ายข้อมูลรถยนต์ (Eco Sticker) ร่วมกับการเริ่มใช้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ ที่มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การให้สิทธิลดหย่อนอัตราภาษีจากรถยนต์ที่มีขนาด “ซี.ซี.ต่ำ-แรงม้าน้อย” มาเป็นรถยนต์ที่มี “ความสะอาด-ประหยัด-ปลอดภัย” ซึ่งระบบดังกล่าว ผู้บริโภคสามารถรับทราบและเปรียบเทียบข้อมูลคุณสมบัติของรถยนต์ได้จาก Eco Sticker ในการตัดสินใจซื้อรถยนต์

       ภาษีกลไกใหม่ช่วยผลิตรถลดปล่อยมลพิษ

       ขณะเดียวกัน จะช่วยส่งเสริมให้รถยนต์ที่จำหน่ายในประเทศมีอัตราการประหยัดพลังงานที่ดีขึ้น ลดการปล่อยมลพิษ โดยป้ายข้อมูลรถยนต์จะแสดงผลการทดสอบ การกำหนดอัตราการปล่อยก๊าซจากห้องทดสอบที่ได้มาตรฐานสากล ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา สศอ.ได้เริ่มทดลองระบบกับรถใหม่ที่จดทะเบียนครั้งแรก จนถึงวันประกาศใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2559 โดยจะมีรถยนต์จำนวน 220 รุ่นเข้าสู่ระบบดังกล่าว

       ปัจจุบันระบบ Eco Sticker เป็นกลไกที่ประเทศอุตสาหกรรมยานยนต์ชั้นนำเกือบทุกประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น กลุ่มสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย นำมาใช้ในการให้ข้อเท็จจริงเชิงเปรียบเทียบ เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค มีใช้อยู่อย่างแพร่หลายในประเทศอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก

       เพียงใจ แก้วสุวรรณ นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ยอมรับว่า การปรับโครงสร้างภาษีอาจส่งผลให้รถยนต์บางกลุ่มมีราคาปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เช่น รถกระบะเชิงพาณิชย์ ที่จะมีการปรับภาษีขึ้น 5-10% ซึ่งส่งผลให้ราคารถยนต์อาจปรับขึ้นอีก 2% อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการปรับโครงสร้างภาษีจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างแน่นอน

ฟอร์ด ให้การสนับสนุนโครงการ Eco Sticker สำหรับรถที่จัดจำหน่ายในประเทศไทยทุกรุ่น

        ฟอร์ด ชี้ชัดสร้างมาตรฐานวงการรถยนต์

       ยุคนธร วิเศษโกสิน กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ฟอร์ดมองว่าโครงการ Eco Sticker เป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ซึ่งการติด ECO Sticker บนรถยนต์ทุกคันที่จัดจำหน่าย ถือเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เป็นสิ่งที่บอกถึงความรับผิดชอบของผู้ผลิตในการแสดงคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ต่อลูกค้าอย่างโปร่งใสและเปิดเผย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้ช่วยให้ผู้บริโภคในประเทศสามารถเข้าถึงข้อมูลของรถยนต์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบอ้างอิงคุณสมบัติของรถยนต์แต่ละรุ่น ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ ซึ่งระบบใหม่นี้เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างต่อเนื่อง

       ฟอร์ด ประเทศไทย ให้การสนับสนุนภาครัฐในโครงการ Eco Sticker สำหรับรถที่จัดจำหน่ายในประเทศไทยทุกรุ่น โดยสติกเกอร์จะบอกข้อมูลรถยนต์แสดงคุณสมบัติสำคัญของตัวรถโดยละเอียด นอกจากนี้แล้ว ใน ECO Sticker ยังมี QR Code สำหรับให้ผู้ซื้อสามารถดาวน์โหลดข้อมูลรายละเอียดของรถยนต์คันนั้น รวมทั้งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Eco Sticker ได้อีกด้วย ทำให้ลูกค้าได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจซื้อรถ เพื่อให้ความมั่นใจในการเป็นเจ้าของรถยนต์ฟอร์ด และเชื่อมั่นได้ว่ารถฟอร์ดจะมอบประสบการณ์ขับขี่ที่ยอดเยี่ยม ประหยัดน้ำมัน มีปริมาณมลพิษต่ำ และขับขี่ได้อย่างปลอดภัย

       ทั้งนี้ จะผ่านแนวคิดหลัก 4 ประการ ประกอบด้วย ความมีคุณภาพ (Quality) การประหยัดน้ำมัน (Green) ความปลอดภัย (Safe) และเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Smart) ตอบโจทย์การขับขี่ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการรถที่มีดีไซน์โดดเด่น ขับขี่ดีเยี่ยม ปลอดภัย แล้วยังสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย

ฮอนด้า 12 รุ่นได้รับเครื่องหมาย “ฉลากเขียว”

        ฮอนด้า ผลิตรถปล่อยไอเสียต่ำ

       พิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตามโครงสร้างภาษีใหม่ที่จะคิดจากปัจจัย ขนาดเครื่องยนต์ (CC) และปริมาณไอเสีย (ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) นั้น ค่ายรถต่างต้องปรับตัวเพื่อทำให้รถประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้น รถที่มีการปล่อยค่าไอเสียในระดับต่ำจะได้เปรียบที่มีการเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า

       หากผู้ผลิตไม่มีการปรับตัว เชื่อว่ารถยนต์ใหม่จะมีราคาเพิ่มขึ้น อาจจะทำให้มีการดึงความต้องการซื้อรถยนต์ในปีหน้าจำนวนหนึ่ง ย้ายมาในช่วงปลายปีนี้ (Demand Move) รถที่มีการปล่อยค่าไอเสียในระดับต่ำจะได้เปรียบที่มีการเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า ซึ่งปัจจุบันหลายค่ายหันมาพัฒนารถยนต์ที่สามารถใช้พลังงานทดแทน อย่าง อี 20 อี 85 และซีเอ็นจี ดังนั้น ผู้ผลิตต้องพัฒนาเครื่องยนต์ให้มีการปล่อยค่าไอเสียน้อย ลดขนาดของเครื่องยนต์ เพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ และเลือกใช้พลังงานที่สะอาดขึ้น แต่ยังคงอัตราเร่งที่ดีเหมือนเดิม หรือดีขึ้นด้วย

       สำหรับฮอนด้าส่วนใหญ่ปล่อยค่าไอเสียในระดับที่ต่ำอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะฮอนด้าดำเนินธุรกิจตามแนวทางที่ได้ประกาศวิสัยทัศน์ 2563 ของฮอนด้าทั่วโลกที่ตั้งเป้าหมายในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มอบความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้าด้วยความรวดเร็ว ในราคาที่ย่อมเยา และมี CO2 ต่ำ ฮอนด้าจึงมุ่งมั่นคิดค้นนวัตกรรมยานยนต์ ล้ำหน้าด้วยเทคโนโลยีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความพยายามในการค้นหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อลดการปล่อย CO2 ในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจ

       ทั้งนี้ การคิดภาษีตามปริมาณไอเสียนั้น ก็ควรคิดจากค่า CO2 เพียงอย่างเดียว ไม่ควรเอาเทคโนโลยี หรือขนาดเครื่องยนต์ (CC) มาเป็นตัวกำหนดด้วย ซึ่งคอนเซปท์นี้ก็ยังคงมีความไม่เป็นธรรมอยู่

       นอกจากนี้ ยังมีช่องว่างระหว่างการกำหนดค่า CO2 ในแต่ละขั้นที่กว้างเกินไป ทำให้ความพยายามในการค้นคว้าพัฒนาลดค่า CO2 เพื่อที่จะลดขั้นภาษีลงมา มีความเป็นไปได้ยากมาก จึงไม่มีแรงจูงใจให้ค่ายรถหันมาพัฒนารถยนต์เพื่อลดค่าไอเสียอย่างจริงจัง

       รถทุกรุ่นได้ “ฉลากเขียว”

       ยนตรกรรมฮอนด้าที่ผลิตในประเทศทุกรุ่น ยังได้รับเครื่องหมาย “ฉลากเขียว” ทั้ง 12 รุ่น ได้แก่ บริโอ้, บริโอ้ อเมซ, แจ๊ซ, ซิตี้, ซิตี้ ซีเอ็นจี, ซีวิค, ซีวิค ไฮบริด, โมบิลิโอ, แอคคอร์ด, แอคคอร์ด ไฮบริด, เอชอาร์-วี และซีอาร์-วี เพื่อเป็นการรับรองว่าได้ผ่านข้อกำหนด เป็นยนตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิต การใช้ การทิ้งทำลาย ตลอดจนการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ปัจจุบัน ฮอนด้าเป็นผู้ผลิตรถยนต์เพียงรายเดียวที่ได้รับเครื่องหมายฉลากเขียว อีกทั้งรถยนต์ฮอนด้าทุกรุ่นยังได้รับการผลิตในโรงงานสีเขียวของฮอนด้า (Honda Green Factory) ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเฉพาะด้านความปลอดภัยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบควบคุมคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9001: 2008 และได้รับการรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 อีกด้วย

       อย่างไรก็ตาม การนำเสนอรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ซื้อรถยนต์นั้น นับเป็นส่วนหนึ่งที่ได้กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้นด้วย

       ฮอนด้า ยังคงมุ่งมั่นค้นหาวิธีในการลดค่าไอเสียให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้ราคาเพิ่มขึ้น เช่น ฮอนด้า แอคคอร์ด ไฮบริด มีอัตราการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงที่ดีเยี่ยมถึง 23.8 กิโลเมตร/ลิตร และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 100 กรัม/กิโลเมตร

       นอกจากนี้ ฮอนด้ายังได้สื่อสารกับผู้จำหน่ายรถยนต์ฮอนด้า เพื่อทำความเข้าใจเรื่อง Eco-Sticker รวมถึงทำความเข้าใจเรื่อง Eco-Sticker ให้กับลูกค้าด้วย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.            ผู้จัดการออนไลน์, 2558, At5 – เคาะกติกาใหม่ภาษีรถยนต์ เก็บตามระดับ ‘รักษ์โลก’, [online], Available: http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000080415 [16 กรกฏาคม 2558].

Write a comment

eighteen + 14 =