NFT ทำให้โลกร้อนขึ้น?

“NFT” ที่ย่อมาจาก “Non-Fungible Token” หรือ “สินทรัพย์ที่ไม่สามารถทดแทนกันได้” กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มนักลงทุนงานศิลปะรุ่นใหม่ NFT คือตราสัญลักษณ์ซึ่งจะมีความแตกต่างกันออกไป ไม่สามารถทำซ้ำ หรือทดแทนกันได้ คล้ายกับของสะสมอย่างภาพวาด ที่หากถูกคัดลอกก็จะสามารถระบุได้ว่าชิ้นไหนคือต้นฉบับ

NFT เองก็ทำงานเหมือนกับสกุลเงินดิจิทัล การผลิต การซื้อ ขาย หรือ การทำธุรกรรมก็ต้องผ่านกระบวนการเดียวกันกับคริปโท (Cryptocurrency)  ที่อิงกับระบบบล็อกเชน (Blockchain) บนเครือข่าย PoW ซึ่งใหญ่ที่สุดคือ Ethereum เครือข่ายดังกล่าวต้องอาศัยการขุดเหรียญ ซึ่งต้องใช้พลังงานจำนวนมหาศาลและให้ความร้อนในปริมาณมาก เพื่อทำการคำนวณที่ซับซ้อนโดยใช้คอมพิวเตอร์ขั้นสูงและฮาร์ดแวร์การขุดเฉพาะทาง  ส่งผลให้การทำธุรกรรมของ NFT เกิดการปล่อยคาร์บอนเช่นกัน จากรายงานจากเดอะนิวยอร์กไทมส์ระบุว่า การสร้าง NFT โดยเฉลี่ยหนึ่งชิ้น สร้าง “คาร์บอนที่ทำให้โลกร้อนกว่า 200 กิโลกรัม เทียบเท่ากับการขับรถ 500 ไมล์ (804 กิโลเมตร) ด้วยรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินทั่วไปของอเมริกา”

แม้ว่า NFT จะยังมีข้อถกเถียงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาภาวะโลกร้อนที่มาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถึงกับมีศิลปินบางคนที่เป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเริ่มย้ายออกจาก NFTs แม้ว่าจะทำให้ต้องเสียรายได้หลายล้านดอลลาร์ก็ตาม ศิลปินเหล่านี้อ้างว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของ NFT นั้นมากเกินไป เช่น Joanie Lemercier ศิลปินดิจิทัลชาวฝรั่งเศส ได้ยกเลิกการขายผลงาน 6 ชิ้นหลังจากคำนวณต้นทุนด้านพลังงานที่เกี่ยวข้อง ที่พบว่าการขายผลงานของเค้าจะใช้เวลาเพียงสิบวินาที แต่การใช้ไฟจะเทียบเท่าการจ่ายไฟให้กับสตูดิโอสองปีเลยทีเดียว

ทั้งนี้ ส่วนสำคัญของการใช้พลังงานของ NFT มาจากการที่นิยมดำเนินการผ่าน Ethereum ซึ่งใช้พลังงานสูงมาก จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า เมื่อเทียบกับบล็อกเชนทางเลือกอื่นๆ ที่ใช้พลังงานน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็น Polygon ,Tezos , Algorand และเครือข่าย PoS อื่นๆ โดย Polygon ที่อยู่ในอินเดียสามารถประหยัดพลังงานมากกว่า Ethereum ถึง 84,810 เท่า หรือ Bubblehouse ที่ประกาศตัวเองว่าเป็นตลาด NFT ที่ปราศจากคาร์บอนแห่งแรก อย่างไรก็ตาม Ethereum เองที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ลดการใช้พลังงานลง นอกจากนี้ ในแวดวงของ NFT ก็เริ่มที่จะมีการดำเนินการในลักษณะของการชดเชยคาร์บอน หรือ Carbon Offsets เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยลดปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากกระบวนการต่างๆของการสร้าง NFT อีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนทำให้ NFT มีความเป็นมิตรกับโลกใบนี้เพิ่มขึ้นได้บ้าง โดยเราก็คงจะต้องติดตามการพัฒนาทั้งเพื่อเป็นเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยี และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก NFT ต่อไป

 

สำหรับในประเทศไทย  สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้ออกเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจไม่ให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2565 โดยหลักเกณฑ์นี้จะมีความเกี่ยวข้องกับ NFT มากหรือน้อยแค่ไหน คงจะต้องติดตามทิศทางของ NFT ต่อไป

 

 

ที่มา/แหล่งข้อมูล

  https://cryptosiam.com/ethereum-transaction-energy-use/

  https://today.line.me/th/v2/article/RB0JLxe

  https://digiconomist.net/ethereum-energy-consumption

https://ecommerce-platforms.com/th/articles/the-environmental-impact-of-nfts

https://theconversation.com/nfts-why-digital-art-has-such-a-massive-carbon-footprint-158077

https://www.varasarnpress.co/writings/lifestyle/nft-environmental-concern/

https://news.trueid.net/detail/kvrNaN1WEykv

Write a comment

15 − 8 =