โลกรวน: ข้อมูลดาวเทียมชี้ วัฏจักรน้ำของโลกเปลี่ยนแปลงเกินคาด ส่งผลแล้ง-ฝน รุนแรงกว่าเดิม
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้วัฏจักรของน้ำระดับโลก ซึ่งเป็นกระบวนการที่น้ำระเหยกลายเป็นไอในชั้นบรรยากาศและควบแน่นตกลงมาเป็นฝน เริ่มหมุนเวียนไปจนครบรอบอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้พื้นที่ประสบภัยแล้งขาดแคลนน้ำยิ่งขึ้น เขตมรสุมพายุฝนจะรุนแรงจากเดิมและเกิดอุทกภัยหนักขึ้น ซึ่งผลการศึกษาข้างต้นเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุดจากดาวเทียม โดยทีมนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลหลายแห่งของสเปน ถูกตีพิมพ์รายงานดังกล่าวลงในวารสาร Scientific Reports ศึกษาพบว่า การวัดค่าความเค็มหรือความเข้มข้นของแร่ธาตุที่ผิวน้ำทะเล โดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดอยู่กับทุ่นลอยน้ำในมหาสมุทรนั้น มีความคลาดเคลื่อนโดยต่ำกว่าค่าความเค็มที่แท้จริงอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันเราตรวจวัดค่าดังกล่าวได้แม่นยำขึ้น ด้วยการสำรวจอุณหภูมิและการระเหยของน้ำทางดาวเทียม ซึ่งทีมผู้วิจัยระบุค่าความเค็มของผิวน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกตินั้น ชี้ถึงการที่ภาวะโลกร้อนทำให้บริเวณที่น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูง เกิดการระเหยกลายเป็นไอของผิวน้ำด้านบนมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น เพิ่มความชื้นในชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะรวมตัวกันเป็นพายุฝนในเขตใกล้เส้นศูนย์สูตรและขั้วโลกทั้งสองมากขึ้น
วัฏจักรของน้ำที่แปรปรวนดังกล่าว เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรูปแบบที่เรียกว่า “พื้นที่ชุ่มชื้นจะเปียกมากขึ้น พื้นที่แห้งก็จะแล้งยิ่งขึ้น” แหล่งน้ำในส่วนต่าง ๆ ของโลกจะได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยน้ำในแหล่งน้ำจืดจะมีแร่ธาตุเจือจางและมีรสจืดกว่าเดิมเพราะปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ส่วนน้ำทะเลนั้นจะยิ่งมีความเข้มข้นของแร่ธาตุสูง และมีรสเค็มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากน้ำระเหยกลายเป็นไอในอัตราที่สูงขึ้น แต่ไม่ตกกลับลงมาเป็นฝนในที่เดิมซึ่งมีอุณหภูมิสูงโดยข้อมูลจากดาวเทียมล่าสุดนี้ สอดคล้องกับการทำนายด้วยแบบจำลองภูมิอากาศโลก ซึ่งเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ในทุก 1 องศาเซลเซียส ที่โลกร้อนขึ้น จะส่งผลให้วัฏจักรของน้ำหมุนเวียนอย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้น ร้อยละ 7 ซึ่งหมายถึงว่าพื้นที่ชุ่มชื้นจะเผชิญพายุฝนหนักกว่าเดิม ร้อยละ 7 และพื้นที่แห้งแล้งจะยิ่งเผชิญสภาพอากาศที่แห้งจากเดิม ร้อยละ 7
ที่มา/แหล่งข้อมูล
https://www.bbc.com/thai/international-61299458