บลูคาร์บอน: แหล่งกักเก็บคาร์บอนประสิทธิภาพสูงที่กำลังได้รับความสนใจ เพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

ผู้นำจากทั่วโลกได้แสดงความมุ่งมั่นเกี่ยวกับการหยุดทำลายป่าไม้ในปี ค.ศ. 2030 ณ COP26 อย่างไรก็ตามมีเพียง 43 ประเทศ จาก 113 ประเทศ เท่านั้น ที่รวมระบบนิเวศบลูคาร์บอนเข้าเป็นส่วนหนี่งในมาตรการการลดก๊าซเรือนกระจก อันเป็นเหตุให้นักรณรงค์และนักอนุรักษ์ทางทะเลระบุว่าแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสูงในมหาสมุทรกำลังถูกมองข้าม

ระบบนิเวศชายฝั่ง อันประกอบด้วย ป่าชายเลน ที่ราบน้ำท่วมถึง และหญ้าทะเล ซึ่งถือเป็น บลูคาร์บอน เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ ระบบนิเวศนี้กักเก็บคาร์บอนส่วนใหญ่ไว้ในรากและตะกอนดินซึ่งคาร์บอนเหล่านี้จะถูกกักเก็บได้นานนับพันปีในกรณีที่ไม่ถูกรบกวน ขณะที่กรีนคาร์บอน เช่น ป่าฝน กักเก็บคาร์บอนไว้ในชีวมวลและปล่อยกลับออกมาเมื่อต้นไม้ตาย ด้วยเหตุนี้ บลูคาร์บอนจึงมีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่าป่าไม้ถึงเกือบ 10 เท่า

หลักฐานยืนยันสำหรับประสิทธิภาพของบลูคาร์บอนถูกเปิดเผยเพิ่มเติม เมื่อมีการค้นพบว่า ที่ราบน้ำท่วมถึง Steart ในประเทศอังกฤษสามารถดูดซับคาร์บอนได้ 19 ตัน ต่อเฮกตาร์ ในทุกๆ ปี หรือ 18,000 ตัน ใน 4 ปี ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับการกำจัดก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยโดยรถยนต์ 32,900 คัน อันเป็นการสนับสนุนว่าบลูคาร์บอนมีประสิทธิภาพสูงว่าป่าไม้ที่มีขนาดเท่ากัน อีกทั้ง ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนโดยหญ้าทะเลจากการสังเคราะห์ด้วยแสงและกักเก็บไว้ในโคลนตะกอนมีความไวกว่าป่าฝนถึง 35 เท่า

อย่างไรก็ตาม ระบบนิเวศชายฝั่งถือเป็นหนึ่งในระบบนิเวศของโลกที่ถูกคุกคามมากที่สุดจากการพัฒนาชายฝั่ง การทำฟาร์ม การทำประมงไม่ถูกวิธี และมลพิษ เกิดการสูญเสียป่าชายเลนประมาณ 50% ของชายฝั่งแถบคาริเบียนในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาจากการทำปศุสัตว์ การสร้างถนน และการท่องเที่ยว หญ้าทะเลกว่า 92% ของสหราชอาณาจักรสูญเสียในช่วง 2 ศตวรรษที่ผ่านมา โดยกว่า 39% สูญหายไปตั่งแต่ปี ค.ศ. 1980 เท่านั้น พื้นที่ของหญ้าทะเลซึ่งครอบคลุมเพียงประมาณ 0.1% ของมหาสมุทรทั่วโลกแต่กลับสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 18% กำลังลดปริมาณลง 7% ในทุกปี สำหรับประเทศไทยนั้น มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 2,500 ตารางกิโลเมตร และเพิ่มขั้นเล็กน้อยในปีที่ผ่านมาซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอสำหรับการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกขของประเทศ

ไม่เพียงเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น ระบบนิเวศชายฝั่งถือเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ อีกทั้งยังช่วยปกป้องพื้นที่ชายฝั่งจากคลื่นพายุ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะให้ความสำคัญกับบลูคาร์บอน กลยุทธ์ต่างๆ สำหรับปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของโลกเรา

 

 

 

 

 

ที่มา / แหล่งข้อมูล

  1. https://www.theguardian.com/environment/2021/nov/04/can-blue-carbon-make-offsetting-work-these-pioneers-think-so
  2. https://www.theguardian.com/environment/2021/nov/05/seagrass-meadows-could-turn-tide-of-climate-crisis-aoe
  3. https://www.theguardian.com/environment/2021/nov/06/dangerous-blindspot-why-overlooking-blue-carbon-could-sink-us
  4. https://www.bluecarbonsociety.org/th/blue-carbon-facts
  5. https://www.deakin.edu.au/about-deakin/news-and-media-releases/articles/world-first-blue-carbon-estimates-in-time-for-cop26-summit

Write a comment

fifteen + eleven =