การฝึกอบรม“ความรู้เบื้องต้นโครงการ T-VER ภาคป่าไม้และการเกษตร” สำหรับผู้ประเมินภายนอกและผู้พัฒนาโครงการ

TGO จัดฝึกอบรม “ความรู้เบื้องต้นโครงการ T-VER ภาคป่าไม้และการเกษตร”

สำหรับผู้ประเมินภายนอกและผู้พัฒนาโครงการ

 


 

กรุงเทพฯ : วันที่ 31 มีนาคม – 1 เมษายน 2564 องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO โดย สถาบันวิทยาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (TGO Climate Action Academy: CAA) จัดฝึกอบรม “หลักสูตรความรู้เบื้องต้นโครงการ T-VER ภาคป่าไม้ และการเกษตร สำหรับผู้ประเมินภายนอกและผู้พัฒนาโครงการ” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินคาร์บอนเครดิตตามหลักเกณฑ์ของโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ภาคป่าไม้และการเกษตร ให้กับบุคคลหรือหน่วยงานที่มีความประสงค์จะดำเนินโครงการ T-VER รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมแก่ผู้ที่ประสงค์จะเป็นผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body : VVB) สำหรับโครงการ T-VER ภาคป่าไม้และการเกษตร โดยมี นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และ ดร. ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวเปิดการอบรม ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ
โครงการ T-VER เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน ภาคอุตสาหกรรมที่มีกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การจัดการของเสีย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่มีศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ รวมถึงการปลูกต้นไม้และการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นอกจากจะช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้แล้วยังสามารถรักษาและสร้างสมดุลของความหลายหลายทางชีวภาพได้อีกด้วย ทั้งนี้ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากโครงการ T-VER และได้รับการรับรองจาก TGO แล้ว จะเป็นคาร์บอนเครดิตที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร บุคคล และการจัดงานต่างๆ เป็นต้น
การอบรมมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การดำเนินงานกลไกด้านคาร์บอนเครดิตของประเทศไทย แนวทางการพัฒนาโครงการ T-VER (คาร์บอนเครดิต) วิธีการคำนวณการลด/กักเก็บก๊าซเรือนกระจก ภาคป่าไม้และการเกษตร การพัฒนาเอกสารข้อเสนอโครงการ (Project design Document) รายงานผลประโยชน์ร่วมเพื่อขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และการพัฒนาเอกสารรายงานการติดตามประเมินผล (Monitoring Report) ขอรับรองคาร์บอนเครดิต รวมทั้งการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการสำรวจทรัพยากรป่าไม้เพื่อการประเมินปริมาณคาร์บอนเครดิต โดย ดร.พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักประเมินและรับรองโครงการ และนักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ TGO





Write a comment