SAMSO เกาะต้นแบบรักษ์โลก

“โลกร้อน” (Global Warming) หรือภาษาทางการคือคือ สภาวะอากาศแปรปรวน (Climate Change) แม้จะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามวงรอบของธรรมชาติ แต่ก็มีการค้นพบว่ากิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ในเวลาไม่กี่ร้อยปีที่เข้าสู่ ยุคอุตสาหกรรม เป็นตัวเร่งให้ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจำนวนของ “ก๊าซเรือนกระจก” อาทิ คาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน
ที่ถูกปล่อยออกมาจากภาคส่วนต่างๆ

ระยะหลังๆ จึงมีความพยายามของประชาคมโลกที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) อันเป็นที่มาของพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี 2540 และต่อมายังมี การประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในปี 2553 รณรงค์ให้นานาชาติร่วมกันสร้าง“พื้นที่สีเขียว” ซึ่งที่ประเทศเดนมาร์กนี้เอง ยังมีพื้นที่ “ต้นแบบ” ให้ผู้สนใจมาศึกษาดูงานด้วย นั่นคือ

..“เกาะแซมโซ” (SAMSO Island)..

เกาะแซมโซ เป็นเกาะเล็กๆ เนื้อที่เพียง 114 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากรราวสามพันกว่าแต่ยังไม่ถึงสี่พันคน ตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของเกาะน้อยใหญ่ต่างๆ ของประเทศเดนมาร์ก โดยอยู่ทางตะวันตกของกรุงโคเปนเฮเกน เศรษฐกิจหลักของเกาะแห่งนี้คือการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์ มีแม้กระทั่งโรงเบียร์ของตนเอง แต่การเริ่มนโยบาย “พลังงานสะอาด” (Green Energy) เกิดขึ้นในปี 2540 หลังได้รับรางวัลชนะเลิศจากรัฐบาล ในการแข่งขันออกแบบแผนพัฒนาพลังงานทดแทน

ในปี 2543 เกาะแซมโซ เริ่มติดตั้ง “กังหันลม”จำนวนมากเพื่อใช้พลังงานลมผลิตกระแสไฟฟ้า พร้อมไปกับการนำเศษไม้และฟางมาทำเป็น “พลังงานความร้อน” ด้วยอีกทางหนึ่ง เพียง 3 ปีให้หลัง ในปี 2546 พบว่าเกาะแห่งนี้สามารถลดการใช้พลังงานที่ต้องสั่งซื้อจากแผ่นดินใหญ่ อาทิ น้ำมันและถ่านหิน ได้ถึงร้อยละ 50 กระทั่งเห็นผลอย่างที่สุดในปี 2551 กล่าวคือ

..ไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ มาจากพลังงานลม..ความร้อน 75 เปอร์เซ็นต์ มาจากแสงอาทิตย์และชีวมวล..

แบ่งเป็น โรงงานผลิตพลังงานความร้อนจากฟาง 3 แห่ง, โรงงานผลิตพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์และไม้สับ 1 แห่ง, กังหันลมบนชายฝั่ง11 ต้น (1 เมกะวัตต์) และกังหันลมนอกชายฝั่ง 10 ต้น (2.3 เมกะวัตต์) ซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กให้เงินสนับสนุนราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในอัตราที่สูงกว่าปกติ โดยในช่วง 5 ปีแรก สนับสนุนในอัตรา 0.6 โครน หรือประมาณ 4 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง และ 5 ปีต่อไป สนับสนุนในอัตรา 0.43 โครนหรือประมาณ 3 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ทั้งนี้เกาะแซมโซไม่เพียงเป็นต้นแบบด้านพลังงานสะอาดเท่านั้น แต่ยังรวมถึง

..การบริหารจัดการ “ของชุมชน-โดยชุมชน-เพื่อชุมชน” ทุกขั้นตอน..

ปัจจุบันหากใครได้ไปเยือนเกาะแซมโซสถานที่แรกที่ชาวเกาะ “ยินดีนำเสนอ” อย่างภาคภูมิใจ คือ Samso Energy Academy เริ่มเปิดทำการในปี 2550 เป็นที่พบปะพูดคุยของผู้คนบนเกาะ รวมถึงเป็นที่ศึกษาหาความรู้สำหรับผู้มาเยือนที่สนใจประเด็นพลังงานยั่งยืน มีการจัดนิทรรศการและฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง ได้รับความสนใจจากทั้งนักเรียน-นักศึกษา นักวิชาการ สื่อมวลชน รวมถึงนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมเฉลี่ยปีละ 5,000 คน

ตัวอาคารของ Energy Academy ถูกออกแบบให้เป็นมิตรกับระบบนิเวศน์ สภาพอากาศภายในตัวอาคารถูกปรับให้เหมาะสม ด้วยระบบระบายอากาศโดยวิธีทางธรรมชาติ กำแพงและหน้าต่างของอาคารถูกออกให้สามารถลดการใช้พลังงานได้ สำหรับความอบอุ่นในอาคารได้มาจากโรงงานผลิตพลังงานความร้อนจากฟาง ใช้น้ำฝนสำหรับสุขภัณฑ์ในห้องน้ำ ส่วนน้ำร้อนได้มาจากระบบผลิตพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ อีกทั้งตำแหน่งของหน้าต่างยังถูกวางให้ใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ให้ได้มากที่สุด และอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกตัวที่นี่ใช้รุ่นที่ประหยัดไฟระดับเกรด A

เช่นเดียวกับ ฟาร์มกังหันลม (Wind Farm) แหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าสำคัญของเกาะ ความน่าสนใจอยู่ที่ ร้อยละ 90 เป็นการลงทุนของคนในพื้นที่ชาวเกาะเป็นทั้งผู้รับความเสี่ยงและผู้ได้ผลประโยชน์ แต่ด้วยความไว้วางใจกันระหว่างคนในชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล SAMSO) รวมถึงผู้ประกอบการทั้งในเดนมาร์กและประเทศอื่นๆ อาทิ ความร่วมมือของเทศบาล SAMSO, Samso Energy Academy และบริษัทผลิตปั๊มน้ำชื่อดังของเดนมาร์กอย่าง Grundfoss พัฒนาระบบสูบน้ำที่สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้จากเดิมถึงร้อยละ 30 เป็นต้น

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน นำคณะผู้บริหากระทรวงพลังงาน
และสื่อมวลชน ศึกษาดูงาน เกาะแซมโซ ประเทศเดนมาร์ก

ช่วงวันที่ 17-19 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา คณะสื่อมวลชนมีโอกาสติดตามผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เดินทางไปประเทศเดนมาร์ก และได้เข้าศึกษาดูงาน ณ เกาะแซมโซ แห่งนี้ด้วย ซึ่ง พล.อ.อนันตพรกาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในอดีตกระทรวงพลังงานเคยมีแนวคิดพัฒนา เกาะพะลวย จ.สุราษฎร์ธานี ตามแนวทางของเกาะแซมโซ ให้เป็นต้นแบบของไทย

ซึ่งหลังจากนี้ทางกระทรวงฯ จะนำโครงการดังกล่าวกลับมาปัดฝุ่นศึกษากันใหม่ เพื่อให้เกาะพะลวยสามารถพัฒนาไปสู่การใช้พลังงานทดแทนบนเกาะเต็มพื้นที่ได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามรมว.พลังงาน ยอมรับว่า สำหรับประเทศไทยการนำพลังงานลมมาใช้คงเป็นเรื่องยาก เพราะมีข้อจำกัดอยู่ที่ความแรงลมในไทยน้อยกว่าทางยุโรป อาทิ กังหันลมรุ่นเดียวกับที่เดนมาร์ก หากนำมาติดตั้งในไทยจะผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าที่เดนมาร์กถึง 8 เท่า

“ขณะเดียวกันอาจจะหาพื้นที่ที่ชุมชนพร้อมร่วมมือกับรัฐบาล เชื่อว่ามีหลายหมู่บ้านของประเทศไทยที่มีความต้องการพัฒนาชุมชนของตัวเองให้ใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ในชุมชน เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน” รมว.พลังงาน ระบุ

นอกจากนี้ รมว.พลังงาน ยังสนใจการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน เนื่องจากเดนมาร์กเป็นประเทศหนึ่งที่รัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และปรับพฤติกรรมหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งกระทรวงพลังงานของไทยเองก็ได้ประกาศยุทธศาสตร์ช่วงปี 2559-2563 ไว้หลายเรื่อง รวมถึง ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยประการหนึ่ง

แม้จะได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ แต่ชาวเกาะแซมโซยังไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาการใช้พลังงานอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ ตั้งเป้าหมายว่า ในปี 2563 จะต้องลดปริมาณรถยนต์ที่ใช้น้ำมันลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง และการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับทำความร้อนในที่อยู่อาศัยต้องลดลงร้อยละ 33 เพื่อนำไปสู่ “เป้าหมายสุดท้าย” คือบนเกาะแห่งนี้จะต้อง “ปลอดเชื้อเพลิงฟอสซิลทุกชนิด” ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ให้ได้อย่างเด็ดขาดในปี 2573

จะทำได้หรือไม่? มากน้อยเพียงใดยังไม่อาจคาดเดา..แต่จากความตั้งใจที่ผ่านมาของประชาคมชาวเกาะจนปรากฏผลเป็นรูปธรรมมากมาย คงต้องคิดไว้ก่อนว่า “มีหวัง” และน่าชื่นชมอย่างยิ่ง!!!

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.       หนังสือพิมพ์แนวหน้า, 2560, Nt1 – Samso เกาะต้นแบบรักษ์โลก, [online], Available: http://www.naewna.com/local/272045 [26 พฤษภาคม 2560].

Write a comment

fifteen − one =