การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้แนวทางพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำและมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน

การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้แนวทางพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำและมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน

โครงการ “การสร้างเสริมเครือข่ายเมืองคาร์บอนต่ำ”

ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2563

ณ ห้องประชุมโรงแรมอิมพีเรียลแม่ฮ่องสอนรีสอร์ท อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

ความเป็นมา:

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ร่วมกับ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Development Programme (UNDP) ประจำประเทศไทย และสถาบันวิจัยพลังงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการจัดทำชุดความรู้ “การจัดการเมืองคาร์บอนต่ำและรับมือผลกระบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศในระดับท้องถิ่น สู่สังคมคาร์บอนต่ำและสังคมที่มีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการสร้างความเข้มแข็ง ทั้งในขีดความสามารถและกระบวนการในการบูรณาการแนวคิดและการพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำในระดับท้องถิ่นรวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการจัดทำแผนพัฒนาสู่เมืองคาร์บอนต่ำยั่งยืน และได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโดยใช้ชุดความรู้ที่พัฒนาขึ้นให้กับเทศบาลเป้าหมายของโครงการ 4 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครนครราชสีมา และเทศบาลนครเกาะสมุย โดยเนื้อหาของการอบรมเชิงปฏิบัติการประกอบไปด้วยชุดความรู้ดังนี้

ชุดความรู้ที่ 1 ความสำคัญและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของเมือง

ชุดความรู้ที่ 2 การประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบริบทเมืองเพื่อการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ

ชุดความรู้ที่ 3 มาตรการเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการติดตามประเมินผลในภาคต่าง ๆ

ชุดความรู้ที่ 4 การขับเคลื่อนแผนการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

จากการอบรมเชิงปฏิบัติการของเทศบาลเป้าหมาย 4 แห่ง ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมมีความรู้พื้นฐานและเข้าใจความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ นอกจากนี้ได้ทราบถึงพื้นฐานและเข้าใจวิธีการวิเคราะห์และตีความผลการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ และกระบวนการจัดทำแผนและการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ การจัดทำรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกระดับเมือง (City Carbon Footprint) เข้าใจวิธีการวิเคราะห์และคัดเลือกมาตรการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมกับเมือง สามารถวางแผนและกำหนดวิธีการติดตามประเมินผลของมาตรการได้ ในส่วนของการขับเคลื่อนแผนการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความรู้พื้นฐานเข้าใจวิธีการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนแผนการลดก๊าซเรือนกระจกให้เกิดขึ้นได้จริงสามารถจำแนกผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินมาตรการ/เทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเทศบาลได้

ดังนั้น เพื่อส่งเสริมและขยายผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา อบก. และ UNDP จึงได้มอบหมายให้ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันวิจัยพลังงาน ดำเนินโครงการ “การสร้างเสริมเครือข่ายเมืองคาร์บอนต่ำ”เพื่อเป็นการขยายผลการพัฒนาศักยภาพบุคลากรจาก 4 เทศบาลกลุ่มเป้าหมายไปสู่เทศบาลในส่วนอื่นของประเทศเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำในระดับภูมิภาคของประเทศไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต และให้มีการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำผ่านระบบการจัดการเมืองอย่างยั่งยืน โดยใช้เนื้อหาหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ที่ได้รับการพัฒนาในการฝึกอบรมให้กับเทศบาลที่ขยายผล โดยเนื้อหาของหลักสูตรประกอบด้วยองค์ความรู้ที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาประเทศในระดับท้องถิ่นสู่สังคมคาร์บอนต่ำและสังคมที่มีความพร้อมในการับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันได้แก่  (1) ความสำคัญและผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (2) การประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในบริบทเพื่อการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ (3) แนวทางการปรับตัวของเมืองเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (4) การขับเคลื่อนแผนเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

1) ผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแนวคิดและแนวทางการ
บูรณาการประเด็นการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการจัดทำแผนงานในบริบทการจัดการเมืองคาร์บอนต่ำและรับมือผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน

2) ผู้เข้ารับการอบรมได้ฝึกฝนการนำแนวคิดและทักษะในการบูรณาการประเด็นการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการจัดทำแผนงานในบริบทการจัดการเมืองคาร์บอนต่ำได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่

3) พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างผู้รับการอบรมและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ

 

ผู้เข้าร่วมการอบรมหลักสูตร
  • เจ้าหน้าที่เทศบาลที่รับผิดชอบหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการวางแผนพัฒนาเมืองหรือดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐสถาบันการศึกษา เอกชน หรือผู้นำชุมชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเทศบาล

 

สอบถามข้อมูลและแจ้งลงทะเบียนการอบรม

ดร.กัญณภัทร ชื่นวงศ์ นักวิจัย และผู้ประสานงาน
โครงการ “การสร้างเสริมเครือข่ายเมืองคาร์บอนต่ำ” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โทรศัพท์ :0867628296

e-mail :kannaphat.ch@hotmail.com

นางสาวฐิติณัฏฐ์  ศักรานุกิจ นักวิชาการชำนาญการ
สำนักพัฒนาศักยภาพและสร้างภาพลักษณ์องค์กร
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

โทรศัพท์ :0 2141 9854, 08 6552 4850

โทรสาร : 0 2143 8405

e-mail : thitinat@tgo.or.th

 

download กำหนดการ

Write a comment

19 − five =