เตรียมปรับรับโลกร้อน

เมื่อ 11 ปีก่อน  สมบัติ ชุมนุม หนุ่มใหญ่วัย 40 ปี พาโยโกะ มินามิ ภรรยาชาวญี่ปุ่น กลับมายังบ้านเกิดที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เพื่อสานฝันของเขา นั่นคือการแปรนาข้าวเดิมของพ่อที่ใช้สารเคมีมายาวนาน  ไปสู่นาข้าวอินทรีย์และแปลงเกษตรผสมผสาน

หลังไถปรับหน้าดินแข็งโกกเกกไร้ธาตุอาหาร และยกระดับที่นาให้สูงขึ้น เขาก็เริ่มขุดสระน้ำขนาดใหญ่ โดยผันน้ำมาจากลำห้วยวังหินที่อยู่ท้ายแปลงที่ดิน “หัวใจของการทำเกษตรคือน้ำครับ” เขาบอกขณะพาผมเดินฝ่าดงหญ้าริมคันนา เลียบสระน้ำกว้างใหญ่ที่เชื่อมต่อกับลำห้วยไหลเอื่อย  สมบัติใช้น้ำจากสระแห่งนี้รดต้นไม้ ปลูกข้าว และอุปโภคในครัวเรือน “ตอนมาทำใหม่ๆ ชาวบ้านแถวนี้หาว่าผมบ้า ไม่ใส่ยา ไม่ใส่ปุ๋ย แถมขุดสระน้ำใหญ่โต เขาไม่ขุดกันใหญ่ขนาดนี้หรอก เพราะเสียดายที่ดินปลูกข้าวครับ” เขาบอก

สมบัติเคยทำงานที่องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเกษตรอินทรีย์ในกรุงเทพฯ มาก่อน จึงมีความรู้ด้านการจัดการแปลงเกษตรพอสมควร แปลงนาของเขาปลูกข้าวหลากหลาย ทั้งข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105 อันลือชื่อของดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ข้าวเหนียวกข.6 และข้าวพันธุ์ใหม่ที่กำลังมาแรงอย่าง “ไรซ์เบอร์รี่”  ที่อยู่ติดกันคือสวนผสมสารพัน  ตั้งแต่กะทกรกยันเพกา กล้วยน้ำว้ายันมะรุม ใกล้ๆกันคือโรงเรือนไก่ไข่ และกองลอมฟางที่เป็นรังของเห็ดฟาง ซึ่งภรรยาของเขาจะมาเก็บไปทำอาหารทุกเช้า มีคอกแพะและวัว (ว่างเปล่าเพราะเลี้ยงไม่ไหว) เขาใช้แผงเซลล์สุริยะผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในบ้าน ไม่ดูโทรทัศน์ แต่ยังต้องพึ่งน้ำมันสำหรับใส่เครื่องสูบน้ำ และรถยนต์

นอกเหนือจากสระน้ำขนาดใหญ่ สมบัติยังขุดสระน้ำขนาดเล็กอีกหลายสระ กระจายอยู่ในบริเวณที่เครื่องสูบน้ำส่งไปไม่ถึง สระน้ำเหล่านี้จะรับน้ำฝนในช่วงฤดูมรสุม กักตุนไว้ใช้สำหรับฤดูแล้งซึ่งกินระยะเวลายาวนาน แม้จะไม่มากพอสำหรับการทำ “นาปรัง” แต่ก็ช่วยประทังในยามฉุกเฉินสำหรับ “นาปี” เขาเชื่อว่าการมีแหล่งน้ำหลายแหล่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนน้ำ และความไม่แน่นอนของฤดูกาล

การวางแผนที่ดีทำให้ที่ผ่านมา สมบัติไม่เคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ทว่าแม้จะวางแผนดีอย่างไร กลางปีพ.ศ. 2558  สภาพอากาศเกิดผิดแผกไปจากที่เขาเคยรู้จัก  สมบัติเล่าว่าช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา อากาศเย็นจนต้องนั่งผิงไฟ และฤดูมรสุมที่ฝนควรจะเทลงมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม กลับล่าช้าไปถึงสามเดือน จนเกิดภัยแล้งรุนแรง

สมบัติประคับประคองนาข้าวที่ปักดำไปแล้วด้วยแหล่งน้ำสำรองที่เหลืออยู่ เขาสูบน้ำถึงเลนตมในสระใหญ่ไม่ต้องพูดถึงสระน้ำขนาดเล็กที่แห้งกรังดินแตกระแหง ต้นข้าวที่ปักดำกำลังงามก็จริง แต่หากฝนไม่เทลงมาในเร็ววัน ก็เตรียมบอกลาผลผลิตปีนี้ได้เลย “นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุครับ แต่เป็นธรรมชาติ ปีนี้แล้งมากจริงๆครับ เราต้องแก้ไขปัญหา เฉพาะหน้ากันรายวัน เพราะฤดูกาลเชื่อถือไม่ได้อีกต่อไปแล้ว” เขาบอก

ทว่าชาวนาละแวกนั้นไม่ได้วางแผนรอบคอบอย่างสมบัติ   ไม่ต่างจากเกษตรกรอีกหลายล้านครัวเรือนที่ยังคงหวังพึ่งฟ้าฝน เมล็ดพันธุ์ข้าวที่พวกเขาหว่านไว้ตั้งแต่เดือนเมษายนหรือพฤษภาคมตามรูปแบบการทำนาน้ำฝนเดิมๆ ทยอยแห้งตายทั้งหมด  เนื่องจากฝนไม่เทลงมาตามนัดในเดือนมิถุนายน  “ข้าวนาปี” ซึ่งเป็นวิถีชีวิตและจิตวิญญาณ ของชาวอีสานต้องพึ่งพาน้ำฝนและฤดูกาลแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์  มาบัดนี้ล้วนแปรสภาพเป็นนาร้างกว้างไกลสุดลูกหู ลูกตา ชาวนาต่างสิ้นเนื้อประดาตัว และหากความทุกข์มีมูลค่า ชาวนาแถบนั้นคงเป็นเศรษฐีกันทุกคน

ผมถามเขาว่า ถ้าปีหน้าสภาพอากาศเป็นแบบนี้อีก เขาจะวางแผนอย่างไร สมบัติยอมรับว่าไม่มีทางรู้สภาพอากาศในอนาคตได้เลย และข้อมูลการพยากรณ์อากาศของทางการก็เชื่อไม่ค่อยได้ “เราต้องเสี่ยง และแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไปแต่ละปีครับ” เขาพยายามขบคิดตามประสานักวางแผน “แต่ถ้าไม่มีน้ำ เราก็คงต้องหยุดทำนาครับ” เขาบอก

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในเมืองใหญ่รถติดและจงชังฝนหลงฤดูที่ถล่มลงมายามเย็นหลังเลิกงาน  หรือเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ภาวนาฝอยฝนผิดนัดให้โปรยลงมา สภาพอากาศแปรปรวนในทุกวันนี้อาจเป็นบันไดขั้นหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นผลจากน้ำมือมนุษย์ในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา  การพัฒนาเชิงอุตสาหกรรม การขนส่งและพาณิชย์ กิจกรรมการเกษตรที่ไม่ยั่งยืน การจัดการขยะ การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆอีกมากมายล้วนเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศจนเกิดภาวะโลกร้อน  ส่งผลให้เราต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนมากขึ้นทุกที อาทิ มรสุมรุนแรง ภาวะแห้งแล้งยาวนาน ฝนทิ้งช่วง คลื่นความร้อน และน้ำท่วมฉับพลัน

ผลกระทบรุนแรงเห็นชัดที่สุดในภาคเกษตร  ภาวะโลกร้อนส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรในเอเชียมีแนวโน้มลดลงกว่าร้อยละ 30 เกษตรกรรายย่อยเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางโดยเฉพาะกลุ่มที่ยังพึ่งฟ้าพึ่งฝนตามฤดูกาล รวมถึงพวกที่มีฐานะยากจน ปฏิทินการเพาะปลูกที่ไม่สามารถคาดเดาได้อีกต่อไป หรือแม้แต่พืชบางชนิดที่เคยให้ผลผลิตดีก็อาจถูกรบกวนด้วยโรคพืชและแมลงใหม่ๆ ขณะที่ผู้คนในเมือง แม้จะไม่ได้พึ่งพิงฟ้าฝนโดยตรง แต่ผลกระทบจากโลกร้อนก็เป็นชนวนของปัญหาสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการอพยพย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมือง อาหารราคาแพง โรคติดต่อ ไปจนถึงภัยพิบัติฉับพลัน

บางทีการปรับตัวเฉพาะหน้าไปตามสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนในทุกวันนี้  อาจไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิงในอนาคตข้างหน้า “ผมคิดว่าวันนี้เมืองไทยเรายังไม่มีการปรับตัวอย่างที่ควรจะเป็นครับ” วิฑูรย์ ปัญญากุล จากมูลนิธิสายใยแผ่นดิน และผู้เขียนหนังสือ เกษตรอินทรีย์กับโลกร้อน กล่าวและเสริมว่า ที่ผ่านมา การปรับตัวรับสภาพอากาศผันผวนในประเทศไทยเป็นเพียงการรับมือในระยะสั้น หรือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เขาเชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างทั้งภูมิศาสตร์ ผู้คน และแม้แต่เศรษฐกิจที่แตกต่าง  ทำให้การปรับตัวรูปแบบเดียวกันใช้ไม่ได้ผล เขายกตัวอย่างมาตรการของรัฐบาลที่แก้ปัญหาภาคการเกษตรในช่วงแล้งแบบเดียวกันทั้งประเทศ เช่น งดการปลูกข้าว หรือแนะให้ปลูกพืชชนิดอื่น “เป็นสิ่งที่ผิดมากครับที่ทุกคนคิดว่า เราต้องปรับตัวเหมือนๆกัน เพราะการปรับตัวแต่ละวิธีก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย”

วิฑูรย์และทีมงานเคยศึกษาแนวทางการปรับตัวในภาคเกษตรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ ยโสธร และหลายพื้นที่ในแถบที่ลุ่มภาคกลาง  เขาพบว่าลักษณะภูมิอากาศแตกต่างกันย่อยลงไปถึงระดับท้องถิ่น นั่นหมายความว่า การพยากรณ์อากาศระดับมหภาคไม่สามารถให้รายละเอียดได้ลึกพอ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงริเริ่มสร้างกระบวนการเก็บข้อมูลสภาพอากาศท้องถิ่น และวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ล่วงหน้า สำหรับสร้างแผนการเพาะปลูกระยะยาว และเสนอวิธีรับมือให้ชาวบ้านหลายๆวิธี  รวมทั้งข้อดีและข้อเสียที่จะได้รับ “เป็นการปรับตัวเชิงรุกโดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาประเมินผลกระทบแล้ววางแผนครับ”

อัมพร คำมั่น วัย 50 ปี และสามี เป็นชาวนาอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ที่เข้าร่วมโครงการทดลองการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อหลายปีก่อน เธอมีที่นาสามแปลง ควายหกตัว วัวอีกสองตัว และบ่อน้ำซับสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการ  เธอปลูกพืชอาหารผสมผสานหลายชนิดในที่ดิน รวมทั้งปลูกข้าวแบบอินทรีย์เพื่อรักษาความชื้นในดิน เป้าหมายของโครงการคือทำให้เธอและครอบครัวมีอาหารหมุนเวียนทั้งปีโดยกระจายความเสี่ยงที่อาจเกิดกับผลผลิตในช่วงสภาพอากาศแปรปรวน และมีแหล่งน้ำไว้ใช้ในยามแล้งซึ่งเป็นความไม่แน่นอนของสภาพอากาศท้องถิ่นทุกวันนี้

แต่ที่น่าสนใจคือ  เธอจะตื่นแต่เช้าตรู่ทุกวันเพื่อจดบันทึกสภาพอากาศ รวมทั้งลักษณะเมฆที่เห็นตอนเช้าเพื่อพยากรณ์สภาพอากาศในหลายเดือนถัดไปด้วยตนเอง เธอทำข้อมูลภูมิอากาศท้องถิ่นผนวกกับภูมิปัญญาจากการสังเกต ทำให้วางแผนการเพาะปลูกได้ยืดหยุ่นกว่า “มื้อนี้ฮู้ล่วงหน้าแล้วว่า ฝนจะมาล่า สิเลยเลื่อนตกกล้าไปเดือนนึง” เธอพูดถึงนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่เขียวชอุ่ม ผิดกับแปลงของเพื่อนบ้านหลายแปลงที่ยืนต้นตายหรือไม่ก็ทิ้งร้างเพราะภัยแล้ง

เช้าตรู่วันหนึ่งเราพบกันตอนที่เธอกำลังจดบันทึกข้อมูลสภาพอากาศ “มื้อนี้เอิ้นว่าลายเกล็ดปลา” เธออธิบายถึงสภาพเมฆในเช้าวันนั้น และพยากรณ์ว่าอีกสี่เดือนข้างหน้าจะหนาวเย็น แต่ไม่มากนัก  วิชาพยากรณ์อากาศท้องถิ่นนี้เธอเรียนมาจากแม่เฒ่า ซึ่งอาศัยการเฝ้าสังเกตธรรมชาติอย่างพฤติกรรมของมดและการติดดอกของต้นมะม่วง “ก็บ่ถึงร้อยหรอกค่า แต่ก็แม่นอยู่” เธอพูดถึงความแม่นยำของการพยากรณ์

แม้จะยอมรับว่า ที่ผ่านมาพยากรณ์คลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่อัมพรยังคงเชื่อมั่นวิธีสังเกตธรรมชาติของเธอมากกว่าพยากรณ์อากาศจากโทรทัศน์  ผมถามเธอว่า  รู้จักภาวะโลกร้อนไหม “คือฮ้อนอีหลีแม่นบ่ แล้วก็แล้งในดินหลายอีหลี เพราะว่าอากาศมันแห้ง” เธอพยายามอธิบาย ผมถามต่อว่า แล้วเธอจะปรับตัวรับมืออย่างไร

“ถึงจะฮ้อนแล้วก็แล้งอีหลี” อัมพรตอบ ขณะเหม่อมองเมฆและแสงแรกของวัน “แต่ชาวนาอย่างเราก็ต้องอดทน สิแม่นบ่”

โดย  ราชศักดิ์ นิลศิริ
ภาพถ่าย  เอกรัตน์ ปัญญะธารา

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. ราชศักดิ์.นิลศิริ, 2560, At4 – เตรียมปรับรับโลกร้อน, [online], Available: http://www.ngthai.com/uncategorized/280/%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/ [5 เมษายน 2560].

Write a comment

5 × 1 =