ใครจะรอด ใครจะไป

ในช่วง 70 ปีข้างหน้า ลีเมอร์สายพันธุ์ต่างๆบนเกาะมาดากัสการ์ อาจสูญเสียถิ่นอาศัยราวร้อยละ 60 จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากสภาพภูมิอากาศเป็นศัตรูตัวฉกาจเพียงอย่างเดียวของสัตว์ชนิดนี้ ลีเมอร์ขอบหน้าขาวอาจอยู่รอดได้ เพราะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงจะไม่ทำให้ถิ่นอาศัยของพวกมันในบริเวณพื้นที่ต่ำและตามภูเขาหดหายไป แต่ปัจจัยอื่นๆอาจส่งผลกระทบต่อพวกมัน โดยเฉพาะปัจจัยหลักอย่างการแผ้วถางและเผาป่าเพื่อทำเกษตร และจำนวนประชากรมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น สวนสัตว์เนเปิลส์ รัฐฟลอริดา

สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง นั่นคือความจริงของธรรมชาติ แต่ภูมิอากาศโลกในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง จนกระทั่งอาจพลิกโฉมหน้าของผืนดินและท้องทะเล  และส่งผลกระทบต่อสรรพชีวิต

“จะมีสิ่งมีชีวิตส่วนน้อยกลุ่มหนึ่งเสมอที่อยู่รอดและได้ประโยชน์จากสภาพการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างค่อนข้างฉับพลันครับ” ทอมัส เลิฟจอย นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์ประจำมหาวิทยาลัยจอร์จเมสัน และภาคีสมาชิกของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก กล่าวและเสริมว่า “แต่สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่จะตกที่นั่งลำบาก” ถ้าไม่ถึงกับล้มหายตายจากไป

อุณหภูมิที่สูงขึ้นจากก๊าซเรือนกระจกเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการนี้เท่านั้น ก่อนจะตามมาด้วยสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว  (รวมถึงภัยแล้งต่อเนื่องยาวนาน) ฤดูผสมพันธุ์และฤดูอพยพที่เปลี่ยนแปลงไป แหล่งอาหารไม่แน่นอน รูปแบบโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆ น้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว และระดับทะเลสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงแต่ละอย่างนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอื่นๆอีกมากมาย และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

การเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลดีกับสิ่งมีชีวิตบางจำพวกเป็นต้นว่าฤดูใบไม้ผลิที่ยาวนานกว่าเดิมส่งผลให้มีอาหาร มากขึ้น สภาพแวดล้อมบางอย่างอาจเปลี่ยนไปในทางที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัย  และการอพยพย้ายถิ่นอันเหนื่อยยาก อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่ขณะที่การเปลี่ยนแปลงดำเนินต่อไปอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นก็อาจเผชิญกับขีดจำกัดครั้งใหม่และตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำเช่นกัน

นี่ไม่ใช่เรื่องของอนาคต แต่ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปปรากฏเด่นชัดในปัจจุบัน

“ไม่มีทางหวนกลับไปเหมือนเดิมได้อีกแล้วครับ” เจมส์ วัตสัน จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโครงกรการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (World Conservation Society) กล่าวและเสริมว่า “ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลงไป” สัตว์ป่าที่เคยใช้ชีวิตอย่างปกติสุขท่ามกลางสภาพภูมิอากาศที่ค่อนข้างแน่นอนในช่วง 10,000 ปีที่ผ่านมากำลังถูกกดดันและทดสอบอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงส่งผลให้เป็ดซีกโลกเหนือชนิดนี้ตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง ในฤดูหนาว เป็ดไอเดอร์หน้าแว่นจะมารวมตัวกันในพื้นที่เล็กๆบริเวณทะเลเบริงซึ่งอากาศหนาวเย็นและมีอาหารอุดมสมบูรณ์ เพื่อดำน้ำหาหอยและสัตว์น้ำชนิดอื่นๆเป็นอาหาร แต่เมื่อน้ำแข็งหดหาย ถิ่นอาศัยและการเข้าถึงแหล่งอาหารในช่วงฤดูหนาวของพวกมันย่อมเปลี่ยนแปลงไป ในเวลาเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่งก็กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าแหล่งจับคู่ผสมพันธุ์ของเป็ดชนิดนี้ในพื้นที่ชุ่มน้ำทุนดรา ศูนย์โลกใต้ทะเลอะแลสกา เมืองซีเวิร์ด

การคาดการณ์ของเราว่า  สัตว์ชนิดไหนจะ “ไปได้สวย” และสัตว์ชนิดใดจะ “ตกที่นั่งลำบาก” อาจไม่ถูกต้องเสมอไป วัตสันบอกว่า ตัวอย่างเช่น “ที่ผ่านมาเราแทบคาดไม่ถูกเลยว่า สถานการณ์จะย่ำแย่ลงแค่ไหน ระดับความรุนแรงของการละลายบริเวณขั้วโลกทั้งสองกับผลกระทบ  [ต่อสัตว์ป่า] นั้นช่างน่าตระหนก”  ยังมีเรื่องความเปราะบางต่ออุณหภูมิของระบบนิเวศปะการังหลายแห่ง และการเกิดพายุต่างๆ อีกด้วย  “มีอะไรที่เราต้องรับมือมากจริงๆครับ”

ทว่าประสบการณ์และแบบจำลอง ตลอดจนสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับชีววิทยาจะช่วยให้เราเห็นภาพอย่างชัดเจนว่า  จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตอันใกล้ เช่น สิ่งมีชีวิตชนิดใดสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วได้ ตั้งแต่ชนิดพันธุ์ที่มีความยืดหยุ่นสูงซึ่งทนต่อสภาพอากาศหลายรูปแบบ สิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมและแพร่พันธุ์ได้เร็ว  สิ่งมีชีวิตที่สามารถเดินทางไปยังแหล่งอาศัยที่เหมาะสมแห่งใหม่ได้หรือยังพอมีที่ทางให้ไป สิ่งมีชีวิตที่สามารถแข่งขัน ซึ่งโดยมากเป็นพวกชนิดพันธุ์รุกราน ไปจนถึงวัชพืช

สิ่งมีชีวิตกลุ่มที่ตกที่นั่งลำบากได้แก่พวกที่ต้องการสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเฉพาะเจาะจง สิ่งมีชีวิตที่ปัจจุบันต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดอยู่แล้ว กลุ่มประชากรเล็กๆ ที่อยู่อย่างกระจัดกระจายหรือถูกล้อมกรอบอยู่ในพื้นที่ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต  สัตว์ที่ต้องแข่งขันกับมนุษย์ ชนิดพันธุ์ที่ขาดความหลากหลายทางพันธุกรรม พวกที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง ตามเกาะแก่งต่างๆ และกลุ่มที่ต้องพึ่งพาปะการัง ไปจนถึงสัตว์ที่ต้องอาศัยน้ำแข็งเพื่อความอยู่รอด

พรองฮอร์นบางชนิดในธรรมชาติฟื้นตัวได้ดีหลังได้รับการคุ้มครอง แต่พรองฮอร์นชนิดย่อยนี้ยังอยู่ในภาวะล่อแหลม พวกมันอาศัยอยู่เฉพาะบนคาบสมุทรบาฮากาลีฟอร์เนียซูร์ และอาจหลงเหลืออยู่ในธรรมชาติไม่ถึงร้อยตัว รวมไปถึงฝูงในสถานเพาะเลี้ยงที่เคยช่วยเพิ่มประชากรในธรรมชาติ สัตว์กีบชนิดนี้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมแบบทะเลทรายได้ก็จริง แต่อากาศที่ร้อนขึ้นและปริมาณฝนที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อแหล่งหากินของพวกมันทั้งในฤดูหนาวและฤดูร้อน

เราหยุดภาวะโลกร้อนไม่ได้ แต่เราชะลอขบวนรถแห่งการทำลายล้างนี้ได้ เลิฟจอยบอกว่า การฟื้นฟูสภาพภูมิประเทศควรเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปกป้องสรรพชีวิต  เขาเสริมว่า ความเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่องของระบบนิเวศได้ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกซ์ไซด์ส่วนเกินปริมาณมาก “ความพยายามอย่างขนานใหญ่ในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมน่าจะช่วยลดทอนความเปลี่ยนแปลงในสภาพภูมิอากาศโลกลงได้เทียบเท่าครึ่งองศา ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นจริงๆ”

ขณะที่การป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายไปมากกว่านี้และการดูแลสิ่งที่ยังเหลืออยู่  ถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆพอๆกัน  วัตสันบอกว่า  “สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ในตอนนี้คือ  ต้องสามารถระบุและปกป้องกลุ่มประชากรที่มีความสำคัญสูงสุดเอาไว้ จากนั้นก็พยายามกันไม่ให้มนุษย์เข้าไปยุ่มยามกับวิถีทางของพวกมันครับ

โดย เจนนิเฟอร์ เอส. ฮอลแลนด์
ภาพถ่าย โจเอล ซาโทรี

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.       เจนนิเฟอร์.เอส.ฮอลแลนด์, 2560, At4 – ใครจะรอด ใครจะไป, [online], Available: http://www.ngthai.com/featured/315/%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%94-%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%9B/ [12 เมษายน 2560].

Write a comment

fourteen − 5 =