โอลิมปิกฤดูหนาว…กับผลกระทบจากโลกร้อนที่ยากจะหลีกเลี่ยง
มหกรรมกีฬาโอลิมปิก ฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 4 – 20 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด “Winter Dream” หรือ “ความฝันแห่งฤดูหนาว” โดยรัฐบาลจีนประกาศว่าจะเป็นมหกรรมกีฬาสีเขียวที่ให้ความสำคัญกับนโยบายพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกที่ใช้เทคโนโลยี Carbon Dioxide Trans-Critical Direct Cooling ในการทำน้ำแข็ง ซึ่งลดการใช้พลังงานได้กว่า 40% เมื่อเทียบกับวิธีเดิม ซึ่งเป็นหนึ่งใน 119 มาตรการ ภายใต้ 12 แผนปฏิบัติการตามที่ระบุในแผนความยั่งยืน
แม้ว่าพื้นที่ปักกิ่ง จะมีอุณหภูมิเฉลี่ย -1 องศาเซลเซียส แต่กับในพื้นที่ หยานชิ่ง กับ จางเจียวโค่ว แนวภูเขาที่ใช้ในการจัดกีฬาประเภทสกีและสโนว์บอร์ดนั้น ต่างมีหิมะตกตลอดทั้งปีแค่ 5-20 เซนติเมตรเท่านั้น น้อยเกินกว่าจะปกคลุมให้ทั้งภูเขาขาวโพลนขึ้นมาได้ จีนจึงต้องผลิตหิมะขึ้นมาเพื่อให้พื้นที่เหมาะสมกับการแข่งกันกีฬา ซึ่งไม่ใช่โอลิมปิกฤดูหนาวครั้งแรกได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากแต่เราพบว่าอากาศร้อนขึ้น ส่งผลต่อวงการกีฬาในเขตหนาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพื่อให้โอลิมปิกฤดูหนาวยังคงเดินหน้าต่อไปประเทศเจ้าภาพจะต้องมีการวางแผนในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยหากย้อนไปเมื่อ ปี 2010 การแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดาก็ประสบปัญหาขาดแคลนหิมะบนภูเขาที่เป็นสถานที่จัดกีฬาสกีและสโนว์บอร์ด เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงกว่า 5 องศาเซลเซียส และแทบไม่มีหิมะตกมาเพิ่ม จึงได้มีการแก้ปัญหาโดยการย้ายหิมะจากยอดเขาลงมาในบริเวณด้านล่าง และนำหิมะสำรองในคลังออกมาสมทบให้เพียงพอ และเพื่อเป็นการประหยัดปริมาณหิมะ ก็นำฟางข้าวและขอนไม้มาเป็นฐานรองในหลายพื้นที่ ก่อนจะนำหิมะขึ้นมาเติมให้เต็มพื้นผิว นอกจากนี้ ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว ปี 2014 ที่เมืองโซชิ ประเทศรัสเซีย ด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่า 10 องศาเซลเซียส จึงเป็นโอลิมปิกฤดูหนาวที่ร้อนที่สุด โดยรัสเซียจึงต้องนำบทเรียนที่ได้จากแวนคูเวอร์มาปรับใช้ ทั้งการกักตุนหิมะไว้ล่วงหน้า และมีการใช้เครื่องผลิตหิมะมากกว่า 400 เครื่อง เพื่อผลิตหิมะมากกว่า 13 ล้านคิวบิคเมตร โดยอาศัยน้ำมากกว่า 870 ล้านลิตร มาลอกเลียนแบบกระบวนการเกิดของหิมะโดยธรรมชาติ รวมถึงต้องกักตุนหิมะปริมาณมากกว่า 710,000 คิวบิคเมตร เป็นเวลา 2 ปีก่อนโอลิมปิกฤดูหนาว อีกด้วย
จากอัตราการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะทำให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้นเกินกว่าระดับที่ข้อตกลงปารีสกำหนดไว้ว่าอุณหภูมิโลกจะต้องเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม จากรายงานขององค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก พบว่า ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีสัดส่วนมากที่สุด เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 413.2 ส่วนต่อ 1 ล้านส่วน ในปี ค.ศ. 2020 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยของเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาของมหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู รายงานว่า ภายหลังจากปี 2050 จะมีเพียง 9 เมืองที่เคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวจะร้อนเกินกว่าสามารถกลับมาจัดได้อีกครั้ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก เมื่อพิจารณาว่ามีแค่ 20 เมืองเท่านั้น ที่เคยได้จัดโอลิมปิกฤดูหนาว และภายในปี 2080 จะเหลือเมืองที่เคยเป็นเจ้าภาพเดิมเพียง 6 เมืองเท่านั้น ที่ยังเหมาะสมเพียงพอที่จะจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวได้
ทั้งนี้ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee : IOC) ได้ระบุแผนงานที่ช่วยชะลอ และแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยการออกข้อบังคับให้เจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว นับตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไป ต้องเป็นการแข่งขันที่ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โดยจะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศโลก ซึ่งอาจจะเป็นการดำเนินการได้โดยทางตรงหรือทางอ้อม อีกด้วย
ที่มา/แหล่งข้อมูล
https://mainstand.co.th
https://www.igreenstory.co/
https://www.thaipbspodcast.com/article/50/
https://www.bbc.com/sport/56972369
https://www.insidethegames.biz/