โลกร้อน..ภูมิอากาศสุดขั้ว ฝนตกหนักไม่ตามฤดูกาล

ฝนตกกลางฤดูหนาว น้ำท่วมกระหน่ำภาคใต้ หลายระลอก…หลายคนตั้งข้อสงสัยไปที่ปรากฏการณ์ลานินญา แต่ข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา ลานินญากำลังจะสลายตัว…สรุปแล้วสภาพอากาศปรวนแปร เกิดจากอะไรกันแน่???

“สาเหตุหลักมาจากภาวะโลกร้อน ทำให้ฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยในเกือบทุกพื้นที่ ยิ่งช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ฝนมักตกน้อยในฤดูฝน แต่ข้ามไปตกในฤดูแล้งช่วงสั้นๆ และตกหนักในพื้นที่แคบๆในเมืองใหญ่ ภาวะเช่นนี้ไม่ได้มาจากความกดอากาศจากประเทศอื่นเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นภาวะสภาพอากาศสุดขั้วระดับท้องถิ่น เกิดจากมลพิษในอากาศและการสะสมความร้อนจากการใช้พลังงาน”

ดร.รอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ยกตัวอย่าง กรณีภาคใต้เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ปริมาณน้ำฝนมีมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 1,000%

สาเหตุหลักมาจากอุณหภูมิในทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันต่างกันมากเกินไป เลยทำให้เกิดการก่อตัวของมรสุมบ่อยขึ้น   นอกจากนั้น เมืองชายฝั่ง เมืองใหญ่คนอาศัยหนาแน่น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มักมีฝนตกหนัก สาเหตุมาจากปรากฏการณ์ Cloudburst หรือฝนตกกระหน่ำอย่างกะทันหัน แต่จะหยุดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเกิดการสะสมของความร้อนในการใช้พลังงานสูง จนผลักตัวขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และเมื่อความร้อนปะทะเข้ากับลมเย็นด้านบน จึงทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นสัญญาณเตือนคนไทย…ในอนาคตจะต้องรับมือกับฝนตกหนักมากยิ่งขึ้น

“ในเมืองร้อน คนจะยิ่งเปิดแอร์ รถติดควันพิษไอร้อนจากการเผาน้ำมันเชื้อเพลิงมีมากขึ้น ความร้อนยิ่งสะสมมากขึ้น ยิ่งเมืองใหญ่ในอากาศมีฝุ่นมาก จะทำให้ไอน้ำจับตัวเป็นฝนได้มากและเร็วกว่าปกติ ฉะนั้นหากเราไม่มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ไม่สามารถแก้ปัญหามลพิษและปัญหาจราจรได้หายนะจะตามมาในอนาคตอันใกล้”

สำหรับสถานการณ์น้ำปีนี้ ดร.รอยล บอกว่า ไม่น่าห่วงนัก น้ำในเขื่อนหลักๆแม้จะน้อย แต่ก็ไม่ถึงขั้นวิกฤติ ฉะนั้นหากจะแล้งก็แล้งไม่มากและไม่นาน แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ เขื่อนหลักที่จ่ายน้ำสู่ภาคกลางอย่างเขื่อนภูมิพลมีน้ำน้อย ทำให้ต้องพึ่งน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ที่อยู่ไกลกว่า การจ่ายน้ำเข้าภาคกลางอาจมีปัญหาบ้าง แต่ไม่มากมายนัก อีกประการน้ำในเขื่อนแม่กลองที่ใช้ช่วยผลักดันน้ำทะเล ปีนี้มีค่อนข้างน้อย จึงอาจมีปัญหาเรื่องน้ำกร่อย

สิ่งที่น่ากังวลอีกอย่างหลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรประสบภัยแล้งมาตลอด เมื่อมีน้ำอาจเร่งเพาะปลูก เกิดการใช้น้ำมากโดยไม่ระวัง ฉะนั้นเกษตรกรต้องปรับตัวบริหารจัดการน้ำให้ดี มีสระน้ำส่วนตัวหรือของชุมชนกักเก็บน้ำและบรรเทาอุทกภัย รวมทั้งทำถนนน้ำเดิน เพื่อระบายน้ำฝนหลักให้ไหลไปรวมในบ่อหรืออ่างที่สร้างไว้ หรืออาจนำแนวคิดของท้องถิ่นที่บริหารจัดการน้ำได้ดี จนไม่มีน้ำท่วมน้ำแล้งกว่า 900 แห่งทั่วประเทศ มาประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นของตนเอง.

 โดย กรวัฒน์ วีนิล

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.       วีนิล, ก., 2560, Nt4 – โลกร้อน..ภูมิอากาศสุดขั้ว ฝนตกหนักไม่ตามฤดูกาล, [online], Available: https://www.thairath.co.th/content/847989 [1 กุมภาพันธ์ 2560].

Write a comment

one × four =