โตเกียวโอลิมปิก และ พาราลิมปิก มหกรรมกีฬารักษ์โลก

 

เป็นที่ทราบกันดีว่ามหกรรมกีฬาโอลิมปิก และ พาราลิมปิก คือมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่เป็นการรวบรวมกองทัพนักกีฬา กรรมการ
เจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาสาสมัครจากทุกมุมโลกมากกว่า 1 แสนคนนอกจากนี้ยังทำให้เกิดการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ
และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไปจนถึงการคมนาคมที่จะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรเป็นอย่างมาก การจัดการแข่งขันโอลิมปิก เกมส์
ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม – 8 สิงหาคมที่ผ่านมาและพาราลิมปิกเกมส์ ที่อยู่ระหว่างการแข่งขันระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม – 5 กันยายน
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การจัดมหกรรมกีฬาระดับโลกที่นอกจากจะมีเป้าหมายด้านการกีฬาแล้วยังมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมาย
การพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Development Goals ภายใต้แนวคิด “Be better, together – for the planet and the people”
โดยชูประเด็นการสร้างสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green society

 

ขณะที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้ต้องเลื่อนการจัดการแข่งขันจากปีที่แล้วมาเป็นช่วงกลางปี 2021
ทั้งยังต้องเผชิญกับเสียงของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยในการจัดงานจากความกังวลเรื่องการระบาดของเชื้อโควิด-19 รวมถึงการใช้งบประมาณของประเทศ
แต่อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพภายใต้แรงกดดันว่าสามารถจัดงานได้อย่างมีมาตรฐาน
และแฝงไปด้วยความใส่ใจทั้งความรู้สึกของประชาชนในประเทศ และประชากรโลก

 

จากเว็บไซต์ของ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ International Olympic Committee (IOC)
ระบุว่าการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาในครั้งนี้ประสบความสำเร็จในความมุ่งมั่นที่จะเป็น
มหกรรมกีฬาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่าน 5 หลักการสำคัญคือ

 

1. ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนที่เป็นศูนย์ ด้วยการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เป็นพลังงานสำหรับคบเพลิง แหล่งพลังงานทั้งหมดมาจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานลม พลังงานน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้รถยนต์ทางเลือกที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีระดับต่ำมาก การใช้ประโยชน์จากอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเดิมให้คุ้มค่าที่สุดเพื่อลดจำนวนการก่อสร้างอาคารใหม่ ส่วนการก่อสร้างอาคารที่สร้างใหม่ถูกก่อสร้างขึ้นด้วยหลักคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำโครงการคาร์บอนออฟเซ็ต เพื่อชดเชยการปล่อย CO₂ ที่ปล่อยออกมาระหว่างการจัดการแข่งขันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แม้จะเริ่มดำเนินการตามมาตรการกำจัด/ลดแล้วก็ตาม

2. การจัดการทรัพยากร มุ่งสู่ Zero Wasting หรือขยะเป็นศูนย์ ผ่าน แนวคิด 3R คือ Reduce, Reuse, Recycle โดยจัดให้มีระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้ชิ้นส่วนจากขยะอิเลคทรอนิคนำมารีไซเคิลเป็นเหรียญรางวัล คบเพลิงที่ทำจากเศษอลูมิเนียมที่ใช้สร้างบ้านสำเร็จรูป ซึ่งรวบรวมจากแถบโทโฮคุ (Tohoku) ที่ประสบภัยแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ เมื่อปี 2554 แท่นรับเหรียญสร้างจากวัสดุที่รีไซเคิลจากภาชนะพลาสติกที่ใช้แล้วในครัวเรือน อาคารที่สร้างขึ้นใหม่ใช้วัสดุที่เป็นวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด ซึ่งชิ้นส่วนที่เป็นไม้จะถูกนำส่งกลับไปใช้ประโยชน์ในท้องถิ่นนั้นๆ

3. สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ภายใต้แนวคิด “City within Nature/Nature within City” โดยมุ่งหมายที่จะฟื้นฟูและสร้างสมดุลของระบบนิเวศระหว่างเมืองและธรรมชาติ โดยทำให้สถานที่แข่งขันกีฬาเป็นสถานที่ที่เป็นมิตรและกลมกลื่นกับสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดสวน การจัดการระบบระบายน้ำซึ่งสามารถนำน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ การรักษาพื้นที่ธรรมชาติบริเวณใกล้กับสนามกีฬาให้เป็นพื้นที่อาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ได้ การปลูกต้นไม้รักษาพันธุ์ไม้
ที่เป็นสายพันธุ์พื้นเมืองเป็นต้น

4. สิทธิมนุษยชน แรงงาน และการดำเนินธุรกิจที่เป็นธรรม มหกรรมกีฬาโอลิมปิกในครั้งนี้ดำเนินการภายใต้การสนับสนุนความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่าง (Diversity and Inclusion) ไว้ในทุกแง่มุมของการเตรียมการและดำเนินงานเพื่อเคารพสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางเพศ ของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับงาน ตามหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจอย่างยุติธรรมปราศจากการทุจริตหรือการต่อต้านการแข่งขัน

5. การมีส่วนร่วม การร่วมมือ และการสื่อสาร ที่มุ่งเน้นการสร้างการเป็นเจ้าของร่วมกันและความเท่าเทียม ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้ได้เปิดกว้างให้กับทุกคนมีส่วนร่วม จะมีส่วนช่วยในการสร้างสังคมที่มีความหลากหลายและครอบคลุมสำหรับทุกคนมากขึ้น เพื่อแบ่งปันข้อมูลเพื่อสร้างจิตสำนึกสาธารณะถึงความสำคัญของความยั่งยืน เราจึงได้เห็นการนำผู้คนที่มีความหลากหลายทั้งวัย และอาชีพ มีส่วนร่วมในพิธีเปิด/ปิด และรวมไปถึงการจัดทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัย ที่แสดงให้เห็นถึงการไม่ทอดทิ้งใครเอาไว้ข้างหลัง

 

การจัดการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นถึงการคำนึงทุกส่วนทุกด้านที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่เพียงแค่เรื่องของสิ่งแวดล้อม
แต่คำนึงถึงผู้คนในทุกระดับ และแสดงให้เห็นถึงความหวังในการนำพาโลกไปสู่โลกไปสู่ความยั่งยืน

 

 

 

 

 

ที่มา

1. Update to the Sustainability Pre-Games Report : https://gtimg.tokyo2020.org/image/upload/production/gmfcochjrvyezhpvzkle.pdf
2. Tokyo 2020: Sustainability update highlights safety, gender and climate change : https://olympics.com/ioc/news/tokyo-2020-sustainability-update-highlights-safety-gender-and-climate-change
3. Tokyo 2020 Sustainability : https://olympics.com/tokyo-2020/en/games/sustainability/

 

 

แปลและเรียบเรียงโดย: วรรโณบล ควรอาจ และ ธิติพงศ์ พิบูลกุลสัมฤทธิ์ นักวิชาการชำนาญการ สำนักพัฒนาศักยภาพและเผยแพร่องค์ความรู้

Write a comment