เปิดโครงการ Climate Action Leaders Forum #รุ่น 1 เวทีรวมพลังสุดยอดผู้นำเพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
เริ่มต้นขึ้นแล้วสำหรับ โครงการ “Climate Action Leaders Forum #รุ่น 1” หรือ CAL Forum #1 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564
ซึ่งเป็นเวทีที่รวมพลังสุดยอดผู้นำจากทุกภาคส่วนจำนวน 49 ท่าน เพื่อมุ่งสู่การร่วมมือกันขับเคลื่อนการแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
จัดโดย สถาบันวิทยาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคีร่วมจัด
“การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการดำเนินงานโดยรัฐบาลเพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย”
ในการนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดโครงการฯ
ซึ่งได้เน้นย้ำถึง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ถือเป็นภัยคุกคามและความท้าทายที่สำคัญของโลก
ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของปริมาณการปล่อยทั้งโลก แต่เป็น 1 ใน 10 ประเทศอันดับต้นของโลก
ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการดำเนินงานโดยรัฐบาลเพียงลำพัง
แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งหากเป็นดังที่กล่าวมาแล้ว ในอนาคตอันใกล้ประเทศไทยจะเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการดำเนินงานลดโลกร้อนแก่ประเทศอื่นๆ ได้ต่อไป”
อีกทั้ง นายวราวุธ ศิลปอาชา ได้กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบัน แนวปฏิบัติในการพัฒนาความร่วมมือด้านกลไกตลาดระหว่างประเทศ ภายใต้บริบทของความตกลงปารีส ข้อที่ 6.2 (Article 6.2)
และกลไกที่นำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้บริบทของความตกลงปารีส ข้อที่ 6.4 (Article 6.4) ได้ผ่านการรับรองแล้ว
ซึ่งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) จะมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินงาน
เพื่อรองรับการตรวจวัด รายงาน และทวนสอบ (MRV) การออกหนังสือรับรองกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกจากโครงการในภาค/สาขาต่าง ๆ
ตลอดจนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องตามกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกที่จัดตั้งขึ้นภายใต้บริบทของความตกลงปารีสดังกล่าว ซึ่งจะนำไปสู่การซื้อ-ขาย ถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตได้ต่อไป”
ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้กล่าวถึง แนวพระราชดำริปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานไว้เมื่อปี พ.ศ. 2517 ว่า มีความสอดคล้องและกลมกลืนกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
เพราะมีเป้าหมายในการมุ่งสร้างความผาสุก ความสมดุล ความมั่นคง และความยั่งยืนของการพัฒนา ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยความร่วมมือ และความรับผิดชอบจากทุกฝ่าย
จากนั้น นางกิต้า ซับบระวาล ในฐานะ United Nations Resident Coordinator in Thailand ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ
“การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง ภาครัฐ ร่วมกับ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ต่อการดำเนินงานลดโลกร้อน”
ซึ่งสอดคล้องกับ นายเรอโน เมแยร์ ในฐานะของ UNDP Resident Representative to Thailand ได้สะท้อนมุมมองถึงการดำเนินงานลดโลกร้อนว่า
การต่อสู้วิกฤติสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ของมวลมนุษยชาติ และเราอย่าเลือก “การสูญพันธุ์” เป็นทางเลือกของเรา
แต่เราควรเร่งพัฒนาการดำเนินงานให้ครอบคลุมตั้งแต่นโยบายระดับชาติ ไปจนถึงการขับเคลื่อนในระดับท้องถิ่น และประชาชน รวมถึงบูรณาการและประสานความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ในการนี้ ผู้นำจากภาครัฐ ที่ให้เกียรติเข้าร่วมเป็น รุ่น 1 ของโครงการ และได้เดินทางมาเข้าร่วมด้วยตนเอง อาทิ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ดร. รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ดร. ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ประธานกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
และ ดร. กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ในงานนี้ ได้รับเกียรติจาก ผู้นำองค์กร ของภาคเอกชน และสถาบันการเงิน เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง อาทิ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
ดร. คงกระพัน อินทรแจ้ง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) นายนพปฎล เดชอุดม บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด
นายปนันท์ ประจวบเหมาะ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) คุณวิบูลย์ วงสกุล บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
นายแดน ปฐมวาณิชย์ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) และ นายยุทธพร จิตตเกษม บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ โครงการยังได้รับเกียรติจาก ผู้นำในภาคสื่อมวลชน ให้เกียรติเข้าร่วมเป็นรุ่น 1 ด้วยตนเอง อาทิ นายกิตติ สิงหาปัด สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3
นายสมชาย รังษีธนานนท์ บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด และ นายอเล็กซ์ เรนเดลล์ Environmental Education Center Thailand
รวมถึง คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย ได้แก่ ศ.ดร. สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร. สุระ พัฒนเกียรติ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.ดร. วิชิตา รักธรรม วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล
พร้อมด้วย ผู้แทนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรอิสระ ให้เกียรติเข้าร่วม ได้แก่ ม.ร.ว. ศรีเฉลิม กาญจนภู มูลนิธิชัยพัฒนา
ม.ล. ดิศปนัดดา ดิศกุล มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ มูลนิธิโลกสีเขียว
ซึ่งโครงการ CAL Forum #1 เป็นการสร้างเวทีระดับผู้นำ รูปแบบใหม่ ที่ได้รับเชิญมาเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด ประสบการณ์ การมีส่วนร่วมลดโลกร้อน มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
โครงการ Climate Action Leaders Forum #รุ่น 1 นี้มีกำหนดจัดขึ้นจำนวน 5 ครั้ง ระหว่าง เดือนธันวาคม 2564 ถึง เดือนมกราคม 2565 ณ สโมสรราชพฤกษ์ โครงการนอร์ธ ปาร์ค กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้เอ่ยถึงการจัดโครงการครั้งนี้ว่า ผลของการหารือร่วมกัน ระดับผู้นำในภาคส่วนต่างๆ ของไทยและสหประชาชาติ
จะนำไปสู่การจัดทำถ้อยแถลงร่วม ของผู้นำในโครงการ CAL Forum #1 เป็น Joint Statement เพื่อส่งมอบให้แก่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เพื่อเป็นแนวทางผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนสังคมไทย ต่อสู้ปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศในอนาคต โดยจะมีการแถลงข่าวในวันที่ 14 มกราคม 2565 ต่อไป
Climate Action Leaders Forum 2021
ติดต่อเรา: caa@tgo.or.th