แนวทางการศึกษารูปแบบและการดำเนินการของพันธบัตรป่าไม้สำหรับประเทศไทย

รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำนักงานกองทุนสนบสนันการวิจัย (สกว.) (2558)

มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

บทคัดย่อ/รายละเอียดโครงการ

ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่า ระบบนิเวศป่าไม้และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และนำไปสู่ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งภาครัฐมีแนวทางการอนุรักษ์ป่าเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่ามาอย่างต่อเนื่อง โดยป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า ได้แก่ การยกเลิกสัมปทานการทำไม้ การเพิ่มพื้นที่ป่าและฟื้นฟูพื้นที่ป่า การประกาศพื้นที่อนุรักษ์ การป้องกันและควบคุมไฟป่า การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการป่า การเฝ้าระวังและติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า การปลูกป่าทดแทน การอนุรักษ์ป่าควบคู่กับการรักษาความเป็นชุมชนเพื่อลดปัญหาความขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม การดำเนินการโดยใช้ทรัพยากรและกลไกของรัฐในการปกป้องและดูแลรักษาพื้นที่ป่าที่ผ่านมายังมีข้อจำกัด ดังนั้น จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องหากลไกใหม่ในการเร่งระดมทรัพยากรและให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์พื้นที่ป่าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยการระดมทรัพยากรกรจากภาคส่วนต่างๆ ที่ได้ประโยชน์จากการมีพื้นที่ป่าไม้และระบบนิเวศป่าที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งต้นน้ำ การอนุรักษ์ดินและน้ำ แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งกักเก็บและดูดซับคาร์บอน และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ บนพื้นฐานของหลักการผู้ได้ประโยชน์เป็นผู้จ่าย หรือ Beneficiaries Pay Principle โดยการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันระหว่างกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์จากป่า กับกลุ่มคนผู้ดูแลรักษาพื้นที่ป่า ซึ่งผู้ได้รับประโยชน์จากป่าต้อง “จ่าย” เพื่อให้ผู้ดูแลรักษาและฟื้นฟูป่าทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศป่าอย่างยั่งยืน

แนวทางการศึกษานี้จึงทำการศึกษารูปแบบมาตรการทางการคลังเพื่อนำไปสู่การระดมทุนจากภาคเอกชนและประชาชนที่ได้ประโยชน์จากป่าไม้และระบบนิเวศ ด้วยการออกพันธบัตรป่าไม้ เพื่อนำไปใช้ในการฟื้นฟูและป้องกันพื้นที่ป่าของประเทศ โดยการศึกษาประโยชน์ที่พึงได้รับจากป่าไม้และระบบนิเวศป่าโดยประมาณการเป็นมูลค่าเบื้องต้น และศึกษารูปแบบและแนวทางการดำเนินการของพันธบัตรป่าไม้สำหรับประเทศไทย และปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมหรืออุปสรรคในการออกพันธบัตรป่าไม้ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนต่อไป

ผลการศึกษารูปแบบพันธบัตรป่าไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าและรักษาระบบนิเวศป่าไม้ที่เหมาะสมสำหรับบริบทของสังคมไทยควรมีองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ ประการที่หนึ่ง การดำเนินงานด้านพันธบัตรป่าไม้ต้องมีกฎหมายรองรับ และการจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการและการออกพันธบัตรป่าไม้ ดังนั้นกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือการออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรนี้เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ในการออกพันธบัตรป่าไม้ได้ และสร้างกลไกที่เป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีกฎหมายเป็นของตนเองสามารถออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนได้ที่ได้จากผู้ลงทุนไปสนับสนุนกิจกรรมในการปลูกป่า และดูแลรักษาป่าเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และจ่ายผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนตามสัญญา รวมทั้งมีการประสานงานกับหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งองค์การมหาชนเพื่อทำหน้าที่ออกพันธบัตรยังมีความยุ่งยากและอุปสรรคในการดำเนินการซึ่งต้องใช้เวลานานในการจัดตั้ง ประการที่สอง การดำเนินการที่เน้นให้คนอยู่ร่วมกับป่าเนื่องจากป่าที่ถูกทำลายในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติส่วนมากมีคนครอบครองพื้นที่อยู่แล้ว โดยการปลูกป่าเพิ่มที่เน้นรูปแบบที่ไม่ต้องย้ายคนออกจากพื้นที่แต่จ้างเป็นแรงงานในการปลูกและบำรุงรักษาป่า และให้มีส่วนร่วมในการรับรู้และแสดงความคิดเห็นในการดำเนินการรูปแบบการดำเนินการปลูกป่าและการดูแลพื้นที่ป่าไม้ภายใต้การจัดการป่าชุมชน การปลูกป่าเศรษฐกิจหรือการปลูกสวนป่า เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิต และให้บริการทางสังคมที่ดีแก่ชุมชนในพื้นที่รวมถึง การใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ให้เกิดประโยชน์เต็มศักยภาพและสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นด้วยประการที่สาม การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบปัจจุบันให้เอื้ออำนวยต่อดำเนินการป่าไม้เชิงพาณิชย์เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานพันธบัตรป่าไม้ และประการที่สี่ การจัดเก็บรายได้จากผู้ที่ได้ประโยชน์จากการปลูกป่าหรือฟื้นฟูสภาพป่า โดยผลตอบแทนทางการเงินของป่าไม้ตลอดอายุพันธบัตรจึงต้องมีความคุ้มค่าและสามารถนำไปจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ซื้อพันธบัตรเมื่อครบกำหนดเวลาได้ โดยหลีกเลี่ยงการดำเนินการมีผลกระทบต่อกลุ่มประชาชนที่มีรายได้ต่ำ ทั้งนี้ เพื่อให้มูลค่าผลตอบแทนทางการเงินของการปลูกป่าเบื้องต้นที่คุ้มค่าตลอดอายุพันธบัตร 15 ปี ในพื้นที่ป่าปลูก 1.05 ล้านไร่ ต้องจัดเก็บรายรับจากหลายแหล่งได้แก่ 1) รายรับจากการทำไม้อย่างยั่งยืน โดยประเมินปริมาณเนื้อไม้จากป่าที่ปลูกขึ้นใหม่ และมีการตัดไม้หมุนเวียนแบบยั่งยืน และลดการนำเข้าไม้ ซึ่งทำให้มีรายได้จากการทำไม้อย่างยั่งยืนในพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ2) รายรับจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้โดยประเมินจากความสามารถในการเก็บกักคาร์บอนในพื้นที่ป่าที่ปลูกเพิ่มในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งนำคาร์บอนเครดิตไปขายในตลาดคาร์บอน 3) รายรับจากประโยชน์ที่มีสภาพต้นน้ำดีขึ้น เช่น การเก็บค่าน้ำโดยหักจากราคาค่าน้ำปกติจากผู้ใช้น้ำรายใหญ่โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม และผู้ให้บริการน้ำในภาคประชาชนในช่วงฤดูแล้ง 4) รายรับจากงบประมาณด้านการป้องกันปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งเงินที่ประหยัดได้ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งจะลดลงเมื่อสภาพป่ามีความสมดุลมากขึ้น 5) รายรับจากการเก็บภาษีคาร์บอนจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ผลิตจากฟอสซิล 6) รายรับจากการท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ได้แก่ รายได้จากการเก็บค่าเข้าชมอุทยาน และค่าธรรมเนียมต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยว และ7) รายรับจากงบประมาณการปลูกป่าและฟื้นฟูป่า ซึ่งอ้างอิงจากงบประมาณในการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการพันธบัตรป่าไม้เป็นเครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยสร้างสมดุลให้กับทรัพยากรป่าไม้ และนำมาใช้ระดมทุนจากนักลงทุนภาคเอกชนและประชาชนที่สนใจได้มากขึ้นโดยมีผลตอบแทนแก่ผู้ซื้อพันธบัตรเมื่อครบกำหนดเวลา อีกทั้งการลงทุนพันธบัตรป่าไม้ในภาคเอกชนยังเป็นเครื่องมือสร้างภาพลักษณ์องค์กรในการช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อม และนำเงินที่ได้จากการซื้อพันธบัตรเพื่อทำกิจกรรมในการดูแลรักษาพื้นที่ป่า ได้แก่ การเพิ่มการคุ้มครองไม่ให้มีการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และการปลูกป่าทดแทนและจัดระบบการปลูกป่าที่เหมาะสมและสามารถเพิ่มมูลค่าได้ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้การดำเนินการต้องสร้างกลไกที่เป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งพันธบัตรป่าไม้ยังสามารถทำควบคู่ไปได้กับกิจกรรมปลูกป่าหรืออนุรักษ์ป่าอื่นๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว เช่นธนาคารต้นไม้ ซึ่งมีหน่วยการดูแลเป็นรายต้นไม้ แต่พันธบัตรป่าไม้เน้นการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเป็นรายผืนป่า ทั้งนี้ การศึกษานี้เป็นงานวิจัยเริ่มต้นของการศึกษารูปแบบการดำเนินการของพันธบัตรป่าไม้ และเป็นการประเมินมูลค่าเศรษฐกิจของรายรับเบื้องต้นเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในการดำเนินการผลักดันกลไกพันธบัตรป่าไม้ต่อไป

คำสำคัญ

พันธบัตรป่าไม้, ผู้ได้ประโยชน์เป็นผู้จ่าย, รายรับจากระบบนิเวศป่าไม้

เอกสารอ้างอิง

1.       มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2558, “Rt5 – แนวทางการศึกษารูปแบบและการดำเนินการของพันธบัตรป่าไม้สำหรับประเทศไทย”, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ (สกว.), Vol., No.

Write a comment

5 × five =