เวิลด์แบงก์คาดประเทศกำลังพัฒนาใช้เงิน 70-100 พันล้านเหรียญ/ปี ปรับตัวรับมือโลกร้อน

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ย้ำชัดประเทศไทยคเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  อุณหภูมิโลกพุ่งจากอดีต เจอทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง พายุหนัก รวมถึงจะมีพื้นที่ที่อุณหภูมิสูงสุด  วันที่ร้อนจัดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาภาคกลาง-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับ วิทยาลัยบริหารธุรกิจแฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt School of Finance and Management-FS) ภายใต้การสนับสนุนด้านเงินทุนจากศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Research Centre-IDRC) ร่วมกันแถลงข่าวการเปิดโครงการหลักสูตรอบรมการเงินสนับสนุนเพื่อการปรับตัวรับมือกับสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (AFFP)”สำหรับบุคลากรจากภาคนโยบาย ภาคเอกชน และการวิจัย เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพของบุคลากรรุ่นใหม่จากประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่  

นายโจนาส เฟลียร์( Jonas Fleer)  ผู้ประสานงานโครงการ AFFP  กล่าวว่า   ตั้งแต่เริ่มมีการเจรจาตกลงภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) แนวคิดเรื่องการปรับตัวเพื่อรับมือกับภัยอันเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ทวีความสำคัญ และถูกนำมาหยิบยกเป็นประเด็นอยู่เสมอ

“ในระยะแรกอนุสัญญาฯและพิธีสารเกียวโตต่างมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการสะสมก๊าซเรือนกระจก แม้จะมีงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่กำลังประเมินผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศต่อประเทศที่อยู่ในสภาพอ่อนไหวเปราะบาง ตลอดจนความจำเป็นในการปรับตัวของประเทศเหล่านั้น แต่ทัศนะความเห็นส่วนใหญ่ยังคงเน้นความสำคัญเรื่องการลดปัญหาโลกร้อน”

ผู้ประสานงานโครงการ AFFP กล่าวว่า ภายหลังข้อตกลง COP 21 กรุงปารีสในเดือนธันวาคม 2558 ที่ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ได้บรรลุข้อตกลงที่จะลดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคปฏิบัติอุตสาหกรรม นานาชาติเริ่มหันมาให้ความสนใจกับประเด็นการปรับตัวรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการเงินสำหรับกิจกรรมการปรับตัว โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาความสามารถของประเทศในการปรับตัวและฟื้นตัวภายหลังที่ประสบวิกฤต และลดระดับความเปราะบางเมื่อภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ดังนั้นนานาชาติจึงตกลงที่จะร่วมมือกันในการสร้างความเข้มแข็งด้านการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะโลกร้อนให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรต่างๆ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ปฏิบัติงานด้านการปรับตัวรับมือกับภูมิอากาศและบุคคลอื่นๆ  

ทั้งนี้ นายโจนาสกล่าวอีกว่า  การเงินเพื่อรับมือกับภูมิอากาศจะช่วยให้สามารถรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ แม้ว่าการประมาณการต้นทุนการปรับตัวจะค่อนข้างยากมากก็ตาม โดยธนาคารโลกประมาณการว่าประเทศกำลังพัฒนาต้องใช้เงิน 70-100 พันล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี จนถึงปี พ.ศ. 2593 เพื่อใช้ในการปรับตัวรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

“แต่ในปี  พ.ศ. 2554  มีเงินสำหรับการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของประเทศกำลังพัฒนาเพียง 4.4 พันล้านเหรียญเท่านั้น สิ่งสำคัญจึงควรเร่งดำเนินการลงทุนด้านนี้ให้มากขึ้น โดยให้มีการเร่งระดมทุนจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งภาครัฐและภาคเอกชน  มุ่งสู่มุมมองด้านการปรับตัวที่เน้นบทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ และเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น”

ขณะที่ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยความจำเป็นที่ต้องมีการฝึกอบรมการปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เนื่องไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ  อุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้นจากอดีต  มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม ฝนแล้ง พายุหนัก สูงขึ้น ในอนาคตประเทศไทยจะมีพื้นที่ที่อุณหภูมิสูงสุด (และวันที่ร้อนจัด) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ น้ำท่วมรุนแรงจะมาเร็วขึ้น 18 ปี

“ผลกระทบด้านต่าง ๆ ของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ได้แก่ การขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค  ผลผลิตเกษตรลดลง เพราะน้ำแล้ง/น้ำท่วม น้ำท่วมเมืองใหญ่-อุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติจะหมดเสน่ห์ พื้นที่ชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะ โครงสร้างพื้นฐาน-สาธารณูปโภคเสียหาย”

ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงหลักสูตรอบรมการเงินสนับสนุนเพื่อการปรับตัวรับมือกับสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ AFFP เป็นการบูรณการความรู้ในสาขาวิชาการต่างๆและนำบุคคลผู้เกี่ยวข้องทั้งจากภาคนโยบาย ภาคเอกชน นักธุรกิจ และนักวิจัย  มาร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้และแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศต่างๆ   ผลการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมอบรมจากประเทศต่างๆจะเป็นการผสานพลังนำไปสู่การคิดเชิงสร้างสรรค์ การผลิตองค์ความรู้ และการพัฒนาโครงการใหม่ๆโดยมีมาตรการทางการเงินเป็นเครื่องจูงใจนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการรับมือกับความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งท้ายที่สุดผู้เข้าร่วมโครงการจะทำหน้าที่เป็นทูตที่นำความรู้ความเข้าใจอันดีจากการฝึกอบรมวิจัยไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศ

สำหรับโครงการ AFFP  เป็นหลักสูตรอบรมออนไลน์  เข้าอบรมฟรีในหลักสูตรของวิทยาลัยบริหารธุรกิจแฟรงก์เฟิร์ต(FS)และได้รับรองประกาศนียบัตร “ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Certified Expert in Climate Adaptation Finance – CECAF)  มีสัมมนาเชิงปฏิบัติการเชิงวิชาการ เพื่อเชื่อมโยง แบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนร่วมโครงการและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วทุกมุมโลกด้วยสัมมนาและหลักสูตรในหลายรูปแบบทั้งที่จัดขึ้นที่แฟรงก์เฟิร์ต และกรุงเทพฯ รวมทั้งสัมมนาออนไลน์  

ที่สำคัญเป็นหลักสูตรพิเศษ  รับคำปรึกษา และเต็มอิ่มกับเนื้อหาเข้มข้นสอนโดยคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านชื่อดังระดับนานาชาติ  มีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี จัดอบรม 2 รุ่น รุ่นละ 18 คน  โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ด้านนโยบาย 6 คน ด้านธุรกิจ 6 คน และด้านวิจัย 6 คน

 ปัจจุบันกำลังจะเปิดปฐมนิเทศรุ่นที่ 1 ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 ที่ประเทศเยอรมนี  สำหรับผู้สนใจรุ่นต่อไปสามารถดูรายละเอียดการรับสมัครได้ที่เว็บไซต์ของ วิทยาลัยบริหารธุรกิจแฟรงก์เฟิร์ต  http://www.frankfurt-school.de/affp/en.html

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.       สำนักข่าวอิศรา, 2559, Nt5 – เวิลด์แบงก์คาดประเทศกำลังพัฒนาใช้เงิน 70-100 พันล้านเหรียญ/ปี ปรับตัวรับมือโลกร้อน, [online], Available: https://www.isranews.org/thaireform-other-news/52239-gwm-6214.html?preview=1&fcu=nuttarparch&fcp=$P$DCaZaFXO0HHk80oSR0UpbUI5GHDsdZ. [2 ธันวาคม 2559].

Write a comment

four × two =