เมื่อประเทศชิลีเปิดประมูลไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ต่ำที่สุดในโลก และต่ำกว่าจากถ่านหิน

ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 4 กันยายน 2559

เมื่อประมาณ 10 กว่าปีมาแล้ว ผมเคยศึกษาและเขียนรายงานเรื่องพลังงานลมพบว่า ประเทศชิลีซึ่งตั้งอยู่ในส่วนใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้นั้นมีศักยภาพของพลังงานลมสูงมาก เพราะตั้งอยู่ค่อนไปทางขั้วโลกใต้พอๆ กับทวีปยุโรปที่ค่อนไปทางขั้วโลกเหนือ ความเร็วลมของทั้งสองพื้นที่นี้จึงมีพอๆ กัน แต่ที่ผมแปลกใจมากคือประเทศชิลีซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาทำไมจึงไม่มีการติดตั้งกังหันลมเหมือนกับกลุ่มประเทศแถบทวีปยุโรปที่พัฒนาแล้วเลย

        มาวันนี้ผมได้พบในสิ่งใหม่ที่คล้ายกับเมื่อก่อน แต่การกระทำของรัฐบาลประเทศชิลีคราวนี้ต่างไปจากเมื่อ 10 ปีก่อนอย่างมาก กล่าวคือ พบว่าประเทศชิลีตั้งอยู่ในบริเวณที่มีพลังงานแสงอาทิตย์สูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก แต่คราวรัฐบาลของประเทศชิลีได้ให้ความสำคัญกับพลังแสงอาทิตย์และพลังงานลมสูงมาก เดี๋ยวผมจะค่อยๆ ลำดับให้ฟังนะครับ

        ประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะพูดถึงในวันนี้ก็คือ ต้นทุนพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ในประเทศชิลีมีราคาลดต่ำลงมาก จนมีราคาต่ำกว่าที่ผลิตจากถ่านหินเสียอีก และต่ำที่สุดในโลกเมื่อนับถึงเดือนสิงหาคม

        ที่ผมจำเป็นต้องพูดถึงเรื่องนี้ก็เพราะว่า ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับนักวิชาการด้านพลังงาน (โดยตรง)อย่างน้อย 2 ท่านที่มีอายุเกิน 72 ปี คือเกษียณราชการมานานกว่า 12 ปีแล้ว ท่านยังมีความเชื่อว่าไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มีราคาแพง แม้ผมจะแย้งท่านว่า “มันแพงจริงเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ปัจจุบันมันได้มีราคาถูกลงมากๆ แล้ว” แต่ดูเหมือนว่าท่านไม่ฟังผมเลย ยังคงย้อนกลับมาพูดว่า “แพงๆ” ดังเดิมเป็นแผ่นเสียงตกร่อง และด้วยความเกรงใจ ผมก็ปล่อยให้ท่านพูดต่อไปในวงสนทนา

        ดังนั้น เพื่อไม่ให้เสียเวลา ในบทความนี้ผมจึงได้สรุปเรื่องราคาพร้อมแหล่งอ้างอิงข้อมูลไว้ในแผ่นภาพข้างล่างนี้

        ภาพซ้ายมือ เป็นราคาของผู้ชนะการประมูลในช่วงปี 2013 ถึง 2016 ในประเทศต่างๆ หลายประเทศทั้งหมดเป็นประเภทโซลาร์ฟาร์ม

        ราคาที่สูงที่สุดเป็นการติดตั้งที่รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2013 ขนาด 23 เมกะวัตต์ ในราคาซื้อขายตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) ที่อัตรา 8.5 เซนต์สหรัฐต่อหน่วย หรือ 2.94 บาทต่อหน่วย (อัตราแลกเปลี่ยน 34.62 บาทต่อดอลลาร์) โดยราคาจะคงที่อยู่นาน 20 ถึง 25 ปี

        เราพบว่าราคาได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี 2015 รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ราคาลดลงมาเหลือ 5.71 เซนต์สหรัฐ หรือ 1.98 บาทต่อหน่วย

        อีกหนึ่งปีต่อมา ในเดือนพฤษภาคม 2016 ผู้ชนะการประมูลขนาด 800 เมกะวัตต์ในเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ซึ่งมีพลังงานแสงอาทิตย์สูงมาก) ในราคา 2.99 เซนต์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 1.035 บาทต่อหน่วย ในการประมูลครั้งนี้ผู้เสนอราคาสูงสุด 4.5 เซนต์สหรัฐต่อหน่วยหรือ 1.56 บาทเท่านั้น

        ในอีก 3 เดือนต่อมา คือ สิงหาคม 2016 การประมูลที่ประเทศชิลีขนาด 247 เมกะวัตต์ โดยตกลงจะขายไฟฟ้าในราคา 2.91 เซนต์สหรัฐต่อหน่วย หรือ 1.01 บาทต่อหน่วยซึ่งต่ำกว่าเมื่อ 3 เดือนก่อน และถือว่าเป็นราคาต่ำที่สุดในโลกในขณะนี้ ผู้ชนะการประมูลเป็นบริษัทสัญชาติสเปน โดยทางบริษัทคาดว่าแต่ละ 1 กิโลวัตต์จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 2,044 หน่วย ในขณะที่ประเทศไทยจะได้ประมาณปีละ 1,400 หน่วยแต่กระทรวงพลังงานรับซื้อในราคา 5.66 บาท

        ถ้าท่านผู้อ่านต้องการจะศึกษาเพิ่มเติมก็สามารถพิมพ์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษ (ตามที่ผมตัดมา) ลงในกูเกิ้ล ก็จะมีให้ศึกษาเยอะเลยครับเช่นในแผ่นภาพข้างล่างนี้

        จากเอกสารที่ชื่อ Chile: Solar cheaper than fossil fuels. ซึ่งเผยแพร่โดย PV magazine โดยอ้างถึงผลการศึกษาของ Deutsche Bank (เยอรมนี) ว่า จากการประมูลในเดือนตุลาคม 2015 ผู้ชนะการประมูลโซลาร์เซลล์ขนาด 55 MW ได้เสนอราคา 6.5 เซนต์สหรัฐต่อหน่วย หรือ 2.25 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ผู้ผลิตจากถ่านหินในราคา 8.5 เซนต์สหรัฐต่อหน่วย และจากกังหันลมในราคา 7.9 เซนต์ (ซึ่งต่ำกว่าจากถ่านหิน)

        และเมื่อย้อนไปที่การประมูลเมื่อ 7 ปีก่อน คือในปี 2008 ซึ่งยังไม่มีพลังงานลมและแสงแดด พบว่า ผู้ชนะการประมูลคือโรงไฟฟ้าจากถ่านหินในราคา 1.04 เซนต์สหรัฐต่อหน่วย หรือ 3.60 บาท (ข้อมูลจาก http://www.bloomberg.com/news/articles/2016-01-28/green-energy-boom-helps-chile-contain-surging-power-prices)

        จากการเปิดเผยของรัฐมนตรีพลังงานของประเทศชิลี (คุณMáximo Pacheco) ผ่านทาง The Wall Streel Journal พอสรุปได้ว่า จากการประมูลหลายๆ รอบในปี 2015 จะมีผลในการส่งไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2021 จำนวนปีละ 12,430 ล้านหน่วย (ดังแผ่นภาพ) จะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงประมาณ 20% มันไม่ได้แพงดังที่ท่านผู้เกษียณราชการมาหลายๆ ปีเข้าใจเลยครับ

แผนที่พลังงานแสงอาทิตย์และการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในประเทศชิลี
        เพื่อให้เห็นภาพรวม เรามาดูแผนที่พลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศชิลีเปรียบเทียบกับส่วนต่างๆ ของโลกรวมทั้งของประเทศไทยด้วย 

        จากข้อมูลของวิกิพีเดีย พบว่า ประเทศชิลีซึ่งมีประชากรประมาณ 18 ล้านคน เพิ่งเริ่มติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 1 เมกะวัตต์เมื่อปี 2011 หรือเมื่อ 5 ปีก่อนนี่เอง แต่ได้เพิ่มขนาดขึ้นอย่างรวดเร็วจนในปี 2015 มีการติดตั้งสะสมแล้ว 750 เมกะวัตต์และกำลังติดตั้งอีก 2,380 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบ 100%

        ในเดือนตุลาคม 2015 กระทรวงพลังงานของประเทศชิลีได้ประกาศเป้าหมาย ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ชื่อว่า “Roadmap to 2050: A Sustainable and Inclusive Strategy” ว่า จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 19%, จากลม 23% และจากพลังน้ำ 29% (ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ) รวม 71% (ที่เหลือ 29% ไม่ทราบครับ) ในขณะที่ในปี 2012 กำลังผลิตติดตั้งประกอบด้วยพลังน้ำขนาดใหญ่ 30%, ก๊าซ 24%, ถ่านหิน 22% น้ำมัน 17% และพลังงานหมุนเวียน 7% (ประกอบด้วย ลม 1% ชีวมวล 2% และพลังน้ำขนาดเล็ก4%)

        อนึ่ง การผลิตไฟฟ้าของรัฐแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีประชากร 5.2 แสนคน สามารถผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม แสงแดด และพลังงานน้ำ 100% บางเวลาใช้พลังงานลมถึงกว่า 60% ไม่เห็นเขาบ่นว่า “พลังงานลมไม่เสถียร” เลยครับ

        กิจการผลิตไฟฟ้าในประเทศชิลีได้มีการแปรรูปในปี 1980 ทั้งการผลิต การส่งและการกระจาย ดำเนินการโดย 26 บริษัท

        เท่าที่ผมได้ศึกษาในเบื้องต้น พบว่าประเทศชิลียังมีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องพลังงานอย่างน้อยอีก 3 เรื่องครับ คือ

        หนึ่ง เป็นประเทศแรกในกลุ่มละตินอเมริกา คือมีการเก็บภาษีคาร์บอนในอัตรา $5 สหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ จากข้อมูลพบว่า ถ้าใช้ถ่านผลิตไฟฟ้าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 0.98 กิโลกรัม ดังนั้น ผู้ผลิตจากถ่านหินจะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนประมาณ 0.17 บาทต่อหน่วย

        สอง มีระบบ Net Metering ให้กับผู้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาดไม่เกิน 100 กิโลวัตต์ ซึ่งประเทศไทยเรายังไม่ยอมให้มีขึ้นทั้งๆ ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติได้มีมติไปแล้วใครใหญ่กว่าใครก็ดูจากเรื่องนี้

        สาม ในเวทีประชุมผู้นำโลกขององค์การสหประชาชาติที่เรียก COP21 ประธานาธิบดีประเทศชิลี (Michelle Bachelet ซึ่งเป็นผู้หญิง) ได้แสดงเจตจำนง ว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Intended Nationally Determined Contributions, INDCs) ลง 30% จากระดับที่เคยปล่อยในปี 2007 ทั้งนี้ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นคำประกาศที่ชัดเจนและตรงไปตรงมามาก

        ในขณะที่คำประกาศของประเทศไทยโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคลุมเครือมาก เพราะไปอิงกับระดับที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง คือไปอิงกับระดับที่ยังไม่ได้มีมาตรการลดใดๆ เลย หรือที่เรียกว่า Business as usual

        ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้น หลังจากคำประกาศของท่านนายกฯ ว่าจะลดลง 20-25% ได้เพียง 4 เดือน แต่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทยกลับเพิ่มข้น 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขออย่าให้เสียเกียรติภูมิของประเทศไทยนะครับท่าน

ประสาท มีแต้ม

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.            ประสาท.มีแต้ม, 2559, At5 – เมื่อประเทศชิลีเปิดประมูลไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ต่ำที่สุดในโลก และต่ำกว่าจากถ่านหิน, [online], Available: http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000088655 [4 กันยายน 2559].

Write a comment

4 × 3 =