เมื่อคาร์บอนเครดิตจากโครงการภาคป่าไม้ คือคำตอบสู่ Net Zero GHG Emissions
ประเทศไทยมีองค์กรที่แสดงความเป็นผู้นำในการประกาศเจตนารมณ์ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในระดับองค์กร จำนวนทั้งสิ้น 77 องค์กร โดยแนวทางในการบรรลุเป้าหมายคือ การเพิ่มพูนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมหรือโครงการที่สามารถกักเก็บคาร์บอนไว้ได้ในระยะยาว เช่น การปลูกป่า การดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) เป็นต้น เพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 หรือ Net-Zero GHG Emissions ภายในปี ค.ศ. 2065
.
ในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ มีนาคม 2566) มีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ภาคป่าไม้ที่ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตทั้งหมดเพียง 6 โครงการ ปริมาณคาร์บอนเครดิตเท่ากับ 118,915 tCO2eq ในจำนวนนี้มีการขายคาร์บอนเครดิตไปแล้วปริมาณ 1,254 tCO2eq จาก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการการปลูกป่าอย่างยั่งยืน ณ วัดหนองจระเข้ ตําบลบ้านนา อําเภอแกลง จังหวัดระยอง และโครงการป่านิเวศระยองวนารมย์ กลุ่ม ปตท.
.
เมื่อ Demand มากกว่า Supply หรือความต้องการคาร์บอนเครดิตปลูกป่ามีมากกว่าปริมาณที่รับรองฯ นั่นจึงเป็นโอกาสของชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทเอกชน มูลนิธิ องค์กรอิสระ ที่มีพื้นที่ปลูกต้นไม้มากกว่า 10 ไร่ขึ้นไป มีเอกสารแสดงสิทธิที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเอกสารที่ยืนยันได้ว่าเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่นั้นๆ ยินยอมให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็สามารถที่จะทำโครงการ T-VER เพื่อขายคาร์บอนเครดิตได้
.
ปัจจัยความสำเร็จของการดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิต
.
1. ต้องเข้าใจในกระบวนการดำเนินงานของโครงการ T-VER และวิธีการคำนวณคำนวณคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานที่ อบก. กำหนด
2. ต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่เพียงพอที่จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของคาร์บอนเครดิตมีความเป็นไปได้ในการซื้อขายเชิงการค้า
3. ต้องมีงบประมาณเพียงพอสำหรับการว่าจ้างผู้ประเมินภายนอกเพื่อตรวจสอบความใช้ได้ และทวนสอบปริมาณคาร์บอนเครดิต