อินโดฯ พุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 26 ขีดเส้นตาย ปี 2020

โครงการพัฒนาความรู้และยุทธศาสตร์ความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (MEAs Think Tank)

วันที่  7 มีนาคม 2559

ที่มา:  www.energysavingmedia.com


อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีหมู่เกาะมากที่สุดในโลก ประกอบด้วย เกาะขนาดใหญ่ 5 เกาะ คือ สุมาตรา ชวา กะลิมันตัน ซูลาเวซี อิเรียนจายา และมีเกาะขนาดเล็กอีกราว 13,667 แห่ง อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียน ที่มีประชากรมากกว่า 220 ล้านคน โดยคิดเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองลงมาจากจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา เมื่อดูที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศอินโดนีเซีย พบว่า ในปี ค.ศ.2000 อินโดนีเซียปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ 1,377 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด จากสาขาการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน-ป่าไม้-ไฟป่า 821 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตามมาด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน 280 ล้านตันฯ ขยะของเสีย 157 ล้านตันฯ ภาคเกษตรกรรม 75 ล้านตันฯ และจากกระบวนการอุตสาหกรรมอีก 43 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ตามลำดับ (ที่มา Indonesia’s 2nd National Communication)

หากพิจารณา สาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอินโดนีเซีย พบว่า ปัญหาไฟป่าตลอดจนการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้ นับเป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากของอินโดนีเซีย ดังนั้น ในปีค.ศ.2011 ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้ประกาศแสดงเจตจำนงการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (Nationally Appropriate Mitigation Actions : NAMAs) ต่ออนุสัญญา UNFCCC ว่า อินโดนีเซียจะมุ่งมั่นลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 26 ในปี ค.ศ.2020 โดยพุ่งเป้าไปที่การดำเนินงานในภาคป่าไม้และที่ดินเป็นหลัก รวมถึงการจัดการในภาคพลังงาน คมนาคมขนส่ง เกษตรกรรม และการจัดการของเสีย อีกด้วย เมื่อนำมาสู่การกำหนดนโยบายและมาตรการภายในประเทศเพื่อนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้กำหนดระเบียบประธานาธิบดี ฉบับที่ 61/2011 เรื่อง แผนปฏิบัติการแห่งชาติ ว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก (RAN-GRK) ลงวันที่ 20 กันยายน 2011 และระเบียบประธานาธิบดี ฉบับที่ 71/2011 เรื่อง การบังคับใช้และจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกแห่งชาติ ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2011 เพื่อรองรับการดำเนินงานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจัดการข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนข้อมูลการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งมั่นให้เป็นไปตามที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ต่ออนุสัญญาสหประชาชาติ UNFCCC ซึ่งนโยบายและมาตรการดังกล่าวของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นำไปสู่การดำเนินงานเพื่อให้มีการรวบรวมข้อมูล เกี่ยวกับระดับ สถานะ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับเขตหรือเมือง รวมทั้งกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศอีกด้วย

โดยที่ ระเบียบประธานาธิบดี ฉบับที่ 71/2011 ดังกล่าว กำหนดให้ผู้ประกอบการหรือโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมีการใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก มีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก ส่งไปให้กับเทศบาล เพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกภายในเขตพื้นที่การดูแล และส่งต่อขึ้นไปยังระดับจังหวัด  นอกจากนี้แต่ละกระทรวงก็มีหน้าที่จะต้องรวบรวมข้อมูลและรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกภายในภารกิจที่รับผิดชอบ พร้อมทั้งส่งต่อข้อมูลให้กับศูนย์ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก หรือ System Greenhouse Gas Inventory National Center (SIGN) หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซีย ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการประสานและรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก ทั้งในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีของแต่ละเมือง ก็จะต้องมีหน้าที่จัดทำข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจกของแต่ละเมือง และประสานงานการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ และระดับภูมิภาค เพื่อเป็นข้อมูลในการติดตาม “การบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศ หรือ NAMA” ที่อินโดนีเซียได้ประกาศแสดงเจตจำนงไว้ และเมื่อกระทรวงสิ่งแวดล้อมรวบรวมข้อมูลและจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะนำเสนอต่อประธานาธิบดี ภายในเดือนตุลาคมของทุกปี และสามารถนำข้อมูลไปประกอบการจัดทำ “รายงานแห่งชาติ” เพื่อส่งไปยังสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญา UNFCCC ต่อไป

จะเห็นได้ว่า บัญชีก๊าซเรือนกระจกของอินโดนีเซีย จะมีทั้งแบบระดับชาติ (National Inventory) และระดับภูมิภาค (Local Inventory) ที่มีการประสานงาน ทั้งในรูปแบบ Top Down และ Bottom up โดยความร่วมมือจากหน่วยงานราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และผู้ประกอบการภาคเอกชน ในการรวบรวมข้อมูล จึงทำให้รัฐบาลสามารถกำหนดเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียยังคงเห็นปัญหาอยู่ว่า นโยบายเกี่ยวกับการรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของอินโดนีเซีย ยังไม่สามารถครอบคลุมไปถึงภาคเอกชนได้โดยตรง ปัจจุบันอินโดนีเซียจึงอยู่ระหว่างพัฒนากฎหมายขึ้น เพื่อที่จะกำหนดให้ผู้ประกอบการในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากมีการใช้บังคับกฎหมายดังกล่าวแล้ว ก็จะทำให้การรวบรวมข้อมูลการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุสู่เป้าหมาย และการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของอินโดนีเซียมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป

เมื่อพิจารณาแนวทางและความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจกของอินโดนีเซียแล้ว จึงพบว่า มีทั้งการออกนโยบายและการพิจารณาออกกฎหมาย เกี่ยวข้องกับการรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกขนานใหญ่ รวมทั้งมีข้อมูลที่ชัดเจนประกอบการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และติดตามการบรรลุเป้าหมายของประเทศนั่นเอง ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่าข้อมูลดังกล่าว น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการดำเนินงานของไทยและการสร้างความเข้าใจกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่า ในการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายของประเทศนั้น การจัดการด้านข้อมูล และสร้างระบบรายงานข้อมูล รวมทั้งนโยบายและกฎหมาย ถือเป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จของการดำเนินงาน ที่ไทยอาจพิจารณาเป็นข้อมูลประกอบการดำเนินงานต่อไป

เรียบเรียงบทความโดย Copyright: www.energysavingmedia.com

เขียนโดย Energy Saving

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.    Energy.Saving, 2559, At2 – อินโดฯ พุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 26 ขีดเส้นตาย ปี 2020, [online], Available: http://www.measwatch.org/writing/5710 [7 มีนาคม 2559].

Write a comment

10 + seven =