อนาคตทะเลสาบสงขลาภายใต้ภาวะโลกร้อน

กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2559

“ทะเลสาบสงขลา” ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช เป็นทะเลสาบ

ที่มีลักษณะเฉพาะแห่งเดียวของประเทศไทยที่มีลักษณะเป็นระบบทะเลสาบแบบลากูน (Lagoon) ขนาดใหญ่ โดยมีน้ำจืดจากลำคลองหลายสายและน้ำจากแผ่นดินไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ตัวทะเลสาบจึงทำหน้าที่เป็นแหล่งรับน้ำจืดจากแผ่นดินก่อนที่จะไหลออกสู่อ่าวไทยและมีน้ำเค็มจากทะเลไหลเข้ามาผสมผสาน ทำให้น้ำในทะเลสาบสงขลานี้มีระดับความเค็มแตกต่างกัน โดยมีความเค็มมากในตอนล่างที่ต่อเชื่อมกับทะเลอ่าวไทย และมีความเค็มน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อไล่ระดับขึ้นมาในตอนกลางของทะเลสาบ จนเป็นพื้นที่น้ำจืดในตอนบนสุดของทะเลสาบ อย่างไรก็ดีพบว่าในบางปีที่อากาศร้อนจัดและแล้งจัดนั้น ระดับความเค็มของน้ำในทะเลสาบสงขลามีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีการรุกตัวของน้ำเค็มขึ้นสู่ตอนบนของทะเลสาบ และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจสังคมที่ต้องพึ่งพาน้ำจากทะเลสาบสงขลา ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ทุ่งระโนด ซึ่งใช้น้ำจากทะเลสาบสงขลาในการทำนานั้นไม่สามารถใช้น้ำจากทะเลสาบเพื่อทำการเกษตรได้เนื่องจากมีค่าระดับความเค็มสูงเกินไปในบางปี

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ระบบเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ ที่พึ่งพิงน้ำในทะเลสาบสงขลาซึ่งมีความเชื่อมโยงกับระดับความเค็มของน้ำในทะเลสาบนั้น จะตกอยู่ภายใต้สถานการณ์อย่างไรภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตระยะยาวซึ่งอาจทำให้น้ำในทะเลสาบสงขลามีความเค็มมากขึ้น ข้อสรุปจากการคาดการณ์ภูมิอากาศอนาคตบ่งชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิในพื้นที่ทะเลสาบสงขลามีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น และระยะเวลาที่มีอากาศร้อนก็จะเพิ่มนานมากขึ้นด้วย การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเช่นนี้จะทำให้เกิดการระเหยน้ำมากขึ้น และส่งผลต่อระดับความเค็มของน้ำในทะเลสาบ ประกอบกับระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตจากอิทธิพลของภาวะโลกร้อน และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่อาจมีกำลังรุนแรงมากขึ้น ก็จะทำให้ระดับน้ำทะเลที่ปากทะเลสาบสงขลาสูงขึ้น ทำให้เกิดการรุกตัวของน้ำเค็มเข้าสู่ทะเลสาบมากขึ้น และส่งผลต่อระดับความเค็มในทะเลสาบสงขลาด้วยเช่นกัน นอกจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติเหล่านี้แล้ว แนวโน้มที่จะมีการใช้น้ำจืดบนแผ่นดินมากขึ้นก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาก็จะทำให้ปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงทะเลสาบสงขลาลดลง ปัจจัยเหล่านี้น่าจะส่งผลให้น้ำในทะเลสาบสงขลามีความเค็มมากขึ้นใน

การศึกษาโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงปี 2558 โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ศึกษาในเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ ทำการคำนวณระดับความเค็มของทะเลสาบสงขลาในอนาคต โดยการใช้แบบจำลองทางคณิตศาตร์ก็ได้ยืนยันถึงแนวโน้มที่ทะเลสาบสงขลาจะมีความเค็มมากขึ้นในอนาคต และนำมาซึ่งข้อเสนอแนะในการปรับตัวของระบบเกษตรในทุ่งระโนดเพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตในกรณีที่หากไม่สามารถใช้น้ำในทะเลสาบสงขลาเพื่อการเกษตรได้ แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการศึกษาถึงผลของการเปลี่ยนแปลงระดับความเค็มนี้ต่อระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ในพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา

ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำแผนแม่บทพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระยะยาว และแผนการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบขึ้นในปี 2557 โดยได้จับประเด็นการเปลี่ยนแปลงปริมาณฝนในอนาคตและพิจารณาถึงการปรับตัวของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ต่างๆ ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและความรุนแรงของน้ำท่วมในหลายพื้นที่ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นการวางแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในแง่มุมหนึ่ง อย่างไรก็ดี แผนการปรับตัวนี้ ยังไม่ครอบคลุมถึงประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงของระดับความเค็มของน้ำในทะเลสาบสงขลา ดังนั้น หน่วยงานภาคนโยบายทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น จึงน่าจะพิจารณาถึงการประเมินถึงความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ ในพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลาจากการเปลี่ยนแปลงระดับความเค็มของน้ำในทะเลสาบสงขลา โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ตลอดจนภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในพื้นที่ในการทำความเข้าใจถึงอนาคตของทะเลสาบสงขลาภายใต้ภาวะโลกร้อนที่รอบด้านมากขึ้น เพื่อให้เกิดการวางแผนระยะยาวที่จะสร้างความมั่นคงยั่งยืนให้กับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่นี้ต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต

โดย ศุภกร ชินวรรโณ

ผู้ประสานงานชุดโครงการวิจัย การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.        ศุภกร.ชินวรรโณ, 2559, At4 – อนาคตทะเลสาบสงขลาภายใต้ภาวะโลกร้อน, [online], Available: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639973 [16 พฤศจิกายน 2559].

Write a comment

4 × 2 =