อนาคตของการปลูกข้าวในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของประเทศไทย โดยมีพื้นที่นามากกว่า 6 ล้านไร่

ซึ่งพื้นที่เกือบ 4 ล้านไร่ เป็นที่นาที่อยู่ภายใต้ระบบชลประทาน โดยเกษตรกรสามารถทำนาได้ถึงปีละ 3 ครั้ง หรือ 5 ครั้งใน 2 ปี อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าพื้นที่นาจำนวนมากจะอยู่ภายใต้ระบบชลประทาน ซึ่งเคยให้ผลผลิตที่สม่ำเสมอมาในอดีต แต่ในช่วงเวลาระยะหลังนี้ โดยเฉพาะในห้วงเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมานี้ เราจะเห็นได้ว่าสภาพอากาศแปรปรวนที่มีความรุนแรงและมีความถี่มากขึ้นนั้นได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการปลูกข้าวในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งในแง่ของความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมจากภาวะฝนตกหนัก และภาวะฝนน้อยในบางปีทำให้ระบบชลประทานไม่มีน้ำเพียงพอต่อการทำนาปรังอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยและประกาศลดพื้นที่นาปรังในบางปีอยู่เนืองๆ

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าอุณหภูมิในช่วงกลางศตวรรษนี้อาจจะเพิ่มสูงขึ้น 2-3°C โดยเฉพาะในหน้าร้อน และวันที่มีอากาศร้อนที่สุดในรอบปีก็อาจจะร้อนกว่าปัจจุบันมาก อีกทั้งระยะเวลาที่มีอากาศร้อนในรอบปีก็จะขยายยาวนานมากขึ้น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ส่งผลทางตรงต่อการผลิตข้าวคือ ผลผลิตจะมีแนวโน้มลดลงภายใต้ภาวะ heat stress 

นอกจากนั้น การปลูกข้าวนั้นเป็นการเกษตรที่ใช้น้ำมาก โดยมีการประมาณการว่าการปลูกข้าว 1 ไร่ นั้นใช้น้ำมากกว่า 1,000 ลบ.ม. ต่อ 1 ฤดูการปลูก ดังนั้น เมื่อคิดถึงพื้นที่นาปรังในระบบชลประทานประมาณ 4 ล้านไร่ ก็หมายถึงความต้องการน้ำมากกว่า 8,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งป็นปริมาณที่แม้ในปัจจุบันก็ประสบปัญหาอยู่เสมอๆ แล้ว และเมื่ออุณหภูมิในอนาคตเพิ่มสูงขึ้น การปลูกข้าวก็จะมีความต้องการน้ำมากขึ้นไปอีกเพื่อชดเชยการระเหยน้ำที่สูงขึ้น ทำให้การปลูกข้าวนาปรังในอนาคตอาจประสบข้อจำกัดในเรื่องทรัพยากรน้ำมากขึ้น 

ซึ่งปัญหานี้อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกจากความต้องการน้ำที่มากขึ้นของภาคส่วนอื่นๆ ภายใต้ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งความจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้น้ำจืดเพื่อผลักดันน้ำเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้ามาในบริเวณปากแม่น้ำซึ่งอาจรุนแรงมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลภายใต้ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้การทำนาปรังในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเข้มข้นในอนาคตไม่สามารถทำได้อีกต่อไป 

นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตซึ่งคาดหมายว่า ความแปรปรวนของสภาพอากาศและภาวะสภาพอากาศรุนแรงอาจจะมีความรุนแรงมากขึ้นและมีความถี่มากขึ้นอาจจะส่งผลต่อความเสียหายของการทำนาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น จนทำให้การแก้ปัญหาแบบปีต่อปีดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่สามารถทำได้อีกต่อไปในอนาคต และจำเป็นที่จะต้องคิดถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบระบบเกษตรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในอนาคต

การศึกษาด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ของการปลูกข้าวในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในระยะที่ผ่านมานั้น เน้นไปที่เรื่องของการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ทนทานต่อความร้อน และการจัดการแปลงนาเพื่อให้ใช้น้ำน้อยลง แต่เมื่อคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคตในภาพรวมโดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในแง่มุมที่หลากหลาย ตลอดจนแนวโน้มของระบบเศรษฐกิจและสังคม เช่น ราคาข้าวในตลาดโลก ราคาผลผลิตพืชชนิดอื่นๆ รวมทั้งนโยบายอื่นๆ ของภาครัฐ อีกทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานในภาคการเกษตร ฯลฯ 

การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของการปลูกข้าวในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอาจต้องคำนึงถึงการวางแผนเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบระบบเกษตรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในทิศทางที่จะลดพื้นที่การปลูกข้าวลงให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต โดยพิจารณาถึงระบบนิเวศเกษตรย่อยที่มีความแตกต่างกันในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และพัฒนาโครงสร้างตลาดเพื่อรองรับผลผลิตพืชอื่นที่อาจจะนำเข้ามาทดแทนการปลูกข้าวในอนาคต 

โดยการดำเนินการปรับตัวของการปลูกข้าวในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในแนวทางนี้ เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบและโครงสร้างการผลิต ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และจะต้องใช้เวลาดำเนินการที่นานพอสมควร อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องพิจารณาเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมมีความมั่นคงมากขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระยะยาว

โดย ศุภกร ชินวรรโณ

ผู้ประสานงานชุดโครงการวิจัย การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สกว.

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.       ศุภกร.ชินวรรโณ, 2560, At4 – อนาคตของการปลูกข้าวในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา, [online], Available: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639973 [11 มกราคม 2560].

Write a comment

two × 2 =