สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ตอน ถ่านหิน คุ้มค่าจริงหรือ?

“ประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลกทยอยยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ไทยกลับพยายามเพิ่ม”

แคนาดา สหรัฐอเมริกา เยอรมันนีต่างพากันทยอยยอเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินกันแล้วทั้งสิ้น แต่รัฐวิสาหกิจของไทยกลับพยายามรณรงค์การตั้งโรงงานไฟฟ้าถ่านหินอย่างหนัก ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชุมชนและภาคประชาสังคม โดยอ้างว่าเป็นแหล่งพลังงานที่ถูกที่สุด

รัฐออนทาริโอ ประเทศแคนาดาได้ทยอยยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินมาตั้งแต่ปี 2007 และได้ยุติโดยสิ้นเชิงแล้วในปี 2557 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ลงถึง 34 Mt หรือ 17% ซึ่ง Ontario Power Authority เห็นว่าเป็นโครงการที่มีการลด GHG ที่มากที่สุดของทวีปอเมริกาเหนือ ในขณะที่ Alliant Energy ผู้ผลิตพลังงานหลักในรัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา ก็ได้ประกาศทยอยยกเลิก 6 โรงงานไฟฟ้าถ่านหินของตน ทำให้ยอดการปิดโรงงานถ่านหินในสหรัฐอเมริกา ณ กรกฎาคม 2558 เพิ่มเป็น 200 โรง ส่วนเยอรมันประกาศเป้าหมายการทยอยปิดโรงงานพลังงานถ่านหินร้อยละ13 ภายในปี 2564 และปัจจุบันสหราชอาณาจักรลดการพึ่งพิงถ่านหินลงเหลือเพียง 30% รวมทั้งกำลังพิจารณาว่าจะปิดโรงงานทั้งหมดภายในปี 2023 หรือไม่ ในทางตรงกันข้าม ตามแผน PDP 2015 ไทยกลับต้องการที่จะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินสะอาดอีก 7,365 เมกกะวัตต์ ในช่วงปี 2558 – 2579 ซึ่งจะทำให้สัดส่วนของพลังงานจากถ่านหินสะอาด (รวมลิกไนต์) เพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 20–25% ซึ่งเหตุผลหลักที่ทางการมักจะใช้ในการสนับสนุนการใช้ถ่านหินก็คือเป็นแหล่งพลังงานที่มีต้นทุนถูกที่สุด ที่ 2.88 – 2.91 บาท/หน่วย (หากไม่นับพลังงานน้ำและนิวเคลียร์) เทียบกับพลังงานทางเลือก เช่น ชีวมวล 3.00 – 3.50 บาท/หน่วย พลังงานลม 5.00 – 6.00 บาท/หน่วย และพลังงานแสงอาทิตย์ที่ 10.00 – 13.00 บาท/หน่วย

ถ่านหินเป็นพลังงานที่ถูกที่สุด จริงหรือ?

ในปี 2005 การใช้พลังงานของโลกร้อยละ 25% ถูกผลิตจากถ่านหิน แต่ถ่านหินมีสัดส่วนในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถึง 41% ทั้งนี้เนื่องจาก ถ่านหินปล่อย CO2 ถึง 1.5 เท่าของน้ำมัน และถึง 2 เท่า ของก๊าซธรรมชาติ เมื่อคิดบนฐานการผลิตพลังงานความร้อนที่เท่ากัน เพื่อลดการปล่อย CO2 ดังกล่าว ได้มีการเสนอเทคโนโลยีในการดูดคาร์บอนไดออกไซด์ไว้แล้วนำไปเก็บกักไว้ใต้ดิน หรือที่เรียกว่า CCS ขึ้น แต่ CCS จะทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 25–40% จากต้นทุนโรงงานและพลังงานที่ต้องใช้เพิ่มขึ้นในกระบวนการดูดและเก็บกักเพื่อผลิตพลังงานที่เท่ากัน ซึ่งจะส่งผลให้ต้องเพิ่มการทำเหมืองถ่านหิน การขนส่ง การผลิต การเผา และการปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้น

งานวิจัยของ Epstein, et al. (2011) ได้ทำการประเมินต้นทุนของถ่านหินโดยคำนึงถึงผลกระทบภายนอก (External costs) ทั้งต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate change) และต่อสุขภาพ โดยคิดต้นทุนของ CO2 ที่ $10 $30 $100/เมตริกตันเทียบเท่า (Metric tonCO2e) ตามลำดับ และต้นทุนผลกระทบต่อสุขภาพด้วยแนวคิด มูลค่าชีวิตเชิงสถิติ (Value of statistical life: VSL) ที่ $7.5 ล้าน ณ ปี 2008 ผลการคำนวณพบว่าต้นทุนผลกระทบภายนอกของการใช้ถ่านหินในสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าเฉลี่ย ณ ปี ค.ศ. 2008 ประมาณ 3.453 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีค่าประมาณการระดับต่ำที่ 1.752 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนระดับสูงที่ 5.233 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นต้นทุนต่อหน่วยเท่ากับ 17.84 เซ็นต์/kWh และมีค่าระดับต่ำที่ 9.42 เซ็นต์/kWh ค่าสูงอยู่ที่ 26.89 เซ็นต์/kWh (ดูภาพที่ 1 ประกอบ) ซึ่งถ้าคำนวณเป็นเงินบาทที่ 36 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐฯ ค่ากลางก็จะมีค่าประมาณ 6.24 บาท/kWh (และค่าต่ำสุดถึงสูงสุดระหว่าง 3.30/kWh – 9.34/kWh)

ภาพที่ 1: ต้นทุนตลอดวัฏจักรชีวิตของถ่านหิน

ที่มา: Epstein, et al. (2011) Full cost accounting for the life cycle of coal,  Annals  of  the  New  York  Academy of  Sciences, 1219 (1), 73-­‐98.

 นอกจากนี้งานวิจัยของ Daniel M. Kammen, Maryam Mozafari and Daniel Prull (2012) พบว่าเมื่อพิจารณาต้นทุนผลกระทบภายนอกต่างๆ เช่น มีเทนจากการทำเหมือง สุขภาพ มลพิษจากการเผาไหม้ ผลกระทบจากสารปรอท ผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินจะมีต้นทุนอยู่ในช่วง 8.66 – 26.11 เซ็นต์/kWh หรือประมาณ 3.12 – 9.40 บาท/kWh (ดูภาพที่ 2 ประกอบ)

ภาพที่ 2: ต้นทุนผลกระทบภายนอกของถ่านหิน (มูลค่า ณ ปี 2008 US Cents/KWh)

ที่มา: Kammen D.M., M. Mozafari and D. Prull (2012), Figure 25, p. 43.

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าต้นทุนของพลังงานถ่านหินไม่ได้ถูกอย่างที่เข้าใจกันเลย เพราะราคาที่มักอ้างถึงกันนั้น ยังไม่ได้รวมต้นทุนผลกระทบภายนอกต่อสิ่งแวดล้อมและต่อสุขภาพนั่นเอง และนี่คือเหตุผลหลักที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งต้องการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่างเริ่มทยอยปิดโรงงานไฟฟ้าถ่านหินลง  ข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีแก่ผู้วางนโยบายพลังงานของไทยว่า สมควรหรือไม่ที่จะสนับสนุนให้มีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานจากถ่านหินมากขึ้นในอนาคต

โดย รศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.    ชยันต์.ตันติวัสดาการ, 2560, At1 – สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ตอน ถ่านหิน คุ้มค่าจริงหรือ?, [online], Available: https://progreencenter.org/2016/02/25/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B3-low-carbon-society-%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%96/ [25 กุมภาพันธ์ 2560].

Write a comment

eighteen + twelve =