ศักยภาพการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการใช้เทคโนโลยี ECOARC ในอุตสาหกรรมเหล็กขั้นกลางในประเทศไทย

วารสารพลังงาน (2556)

ขนิษฐา เกิดพร, วีรินทร์ หวังจิรนิรันดร์, อัจฉริยา สุริยะวงค์

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลกระทบของการใช้เทคโนโลยีการผลิตเหล็กในด้านการใช้พลังงานของกระบวนการผลิตเหล็กขั้นกลางของประเทศไทย โดยประเมินภาพเหตุการณ์ในอนาคต พ.ศ. 2554-2573 แบ่งกรณีศึกษาเป็น 2 กรณี คือ 1) กรณีอ้างอิงอยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ได้แก่ เทคโนโลยีการหลอมด้วยเตาหลอมไฟฟ้า (EAF) 2) กรณีเปลี่ยนเทคโนโลยี นำเทคโนโลยี Ecological and Economical New Generation Arc Furnace (ECOARC) มาใช้แทนเทคโนโลยีในปัจจุบัน ผลการศึกษาสรุปได้ว่า 1) กรณีอ้างอิง พบว่า มีการใช้เชื้อเพลิงรวมทุกชนิดเชื้อเพลิง เท่ากับ 259.6 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) ในปี พ.ศ. 2553 และเพิ่มขึ้นเป็น 558.4 ktoe ในปี พ.ศ. 2573 โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ต่อปี และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 1,770 พันตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี พ.ศ. 2573 2) กรณีเปลี่ยนเทคโนโลยี พบว่า เทคโนโลยี ECOARC มีการใช้พลังงานเชื้อเพลิงรวมเท่ากับ 407.8 ktoe ในปี พ.ศ. 2573 สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในเตาหลอมได้ 150.6 ktoe และปล่อยก๊าซเรือนกระจก เท่ากับ 1,287 พันตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งลดลงคิดเป็นร้อยละ 27.28 ในปี พ.ศ. 2573  เมื่อพิจารณาต้นทุนในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) พบว่า เทคโนโลยี ECOARC มีค่าใช้จ่ายต่อการปล่อย CO2 ลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีค่าใช้จ่ายรายปีต่ำกว่าเมื่อเทียบกับภาพเหตุการณ์อ้างอิง ดังนั้นเทคโนโลยี ECOARC สามารถลดการปล่อย CO2 ได้มากกว่าเทคโนโลยีในปัจจุบัน ส่งผลให้เมื่อราคาคาร์บอนเครดิตสูงขึ้น สามารถลดต้นทุนการลดการปล่อย CO2 ได้มากขึ้น

คำสำคัญ

อุตสาหกรรมเหล็กขั้นกลาง; การปล่อยก๊าซเรือนกระจก; การวิเคราะห์ภาพอนาคต; แบบจำลองบัญชีพลังงาน; Intermediate Steel Industries; Greenhouse Gas Emission; Scenario Analysis; Energy Accounting Model

เอกสารอ้างอิง

1.       ขนิษฐา.เกิดพร, วีรินทร์.หวังจิรนิรันดร์, and อัจฉริยา.สุริยะวงค์, 2556, “Rt3 – ศักยภาพการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการใช้เทคโนโลยี Ecoarc ในอุตสาหกรรมเหล็กขั้นกลางในประเทศไทย”, วารสารวิจัยพลังงาน, Vol. 10, No. 2.

Write a comment

20 + 1 =