รายงาน United in Science 2021 กระตุ้นสู่การประกาศพันธสัญญาการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564 องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้รายงานผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภูมิอากาศ (Climate Science) ฉบับล่าสุด โดยแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า นับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชี้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) โลกไม่ได้กลับมาเติบโตในแนวทางสีเขียวแต่อย่างใด แม้จะมีการลดลงชั่วคราวของการปล่อย CO2 แต่ปัจจุบันการปล่อย CO2 ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศกลายเป็นสถิติสูงสุดครั้งใหม่ อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยทั่วโลกในช่วงปี พ.ศ. 2560-2564 นับเป็นช่วงที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์โดยเฉลี่ยประมาณ 1.06 ถึง 1.26 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม มนุษย์กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของระบบสภาพภูมิอากาศที่ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดหลายศตวรรษถึงหลายพันปีที่ผ่านมา เรากำลังเผชิญกับภาวะอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดของโลกในรอบ 5 ปี และในช่วง 5 ปี ต่อจากนี้ โอกาสที่อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม มีสูงถึง 40% ซึ่งส่งผลให้ภัยพิบัติต่างๆ ประกอบด้วย ความร้อนสูง ความแห้งแล้ง ฝนตกหนัก และน้ำท่วม มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกไปอีกกว่าร้อยปี
หลักฐานเพิ่มเติมของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติในปัจจุบัน ได้แก่ น้ำท่วมใน สาธารณรัฐบุรุนดี ที่ประชาชนกว่า 100,000 คน ต้องอพยพออกจากบ้านของตน และน้ำท่วมใน เซาท์ยอร์กเชียร์ สหราชอาณาจักร ได้สร้างความเสียหายแก่อาคารกว่า 190 หลัง ตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกาถูกถล่มด้วยพายุ 2 ลูก ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ ประกอบด้วย เฮอริเคน ไอด้า ในรัฐลุยเซียนา ซึ่งทำให้เกิดการเสียชีวิตหลายสิบรายและประชาชนนับล้านขาดไฟฟ้าใช้ และพายุโซนร้อน นิโคลาส ในรัฐเท็กซัส และลุยเซียนา ทำให้ประชาชนกว่า 500,000 คน ขาดไฟฟ้าใช้ คลื่นความร้อนในเมืองลิตตัน ประเทศแคนาดา ก่อให้เกิดไฟป่า และสถิติอุณหภูมิสูงสุดของประเทศที่ 49.6 องศาเซลเซียส หรือ 121.3 ฟาเรนไฮต์
ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากความตกลงปารีสบังคับใช้ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ประชาคมโลกมีความจำเป็นที่จะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำกว่าเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศทั่วโลกถึง 15 GtCO2e หากต้องการจะบรรลุเป้าหมาย 2 องศาเซลเซียส และ 32 GtCO2e เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส
เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส ได้กล่าวว่า โลกยังอยู่ห่างจากเป้าหมายของข้อตกลงปารีส หากปราศจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงอย่างรวดเร็วในทันที การจำกัดอุณหภูมิของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะไม่มีความเป็นไปได้และเราจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติต่างๆ จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นนี้ การประกาศความมุ่งมั่นการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ถือเป็นสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จและสะท้อนออกสู่ระดับนโยบาย
ที่มา / แหล่งข้อมูล
- https://unfccc.int/news/un-agencies-present-latest-climate-science
- https://www.bbc.com/news/world-us-canada-58549880
- https://www.bbc.com/news/world-us-canada-58555227
- https://www.bbc.com/news/uk-england-south-yorkshire-58616549
- https://www.bbc.com/news/world-africa-58614677
Writers:Issara Poljungreed and Apaphatch Hunsiritrakun
Capacity Building and Outreach Office
Thailand Greenhouse Gas Management Organization (Public Organization)
Ministry of Natural Resources and Environment