ประเทศไทยเตรียมพร้อมสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการทำลายป่าด้วยการสนับสนุนจากธนาคารโลก

กรุงเทพฯ 14 กันยายน 2559 – พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยลดลงอย่างมาก อันเนื่องมาจากการตัดไม้ทำลายป่าและการขาดการอนุรักษ์ดูแลที่ดี เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในภูมิภาคที่ประสบกับปัญหานี้ ทั้งนี้ เพื่อช่วยรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประเทศไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจำนวน 3.6 ล้านเหรียญสหรัฐจากกองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ของธนาคารโลกเพื่อช่วยพัฒนายุทธศาสตร์และเสริมสร้างศักยภาพเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นอันตรายอันเกิดจากการทำลายป่าและการเสื่อมโทรมของป่า

ประเทศไทยมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในเวทีการเจรจาระดับโลกว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป็นผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าว เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ได้เล็งเห็นถึงความพยายามของเราและได้มอบเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่จะช่วยปกป้องผืนป่าและชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย”

เมื่อปีพ.ศ. 2554 ประเทศไทยได้รับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าเบื้องต้นเป็นจำนวน 200,000 เหรียญสหรัฐเพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการเตรียมความพร้อมต่อกลไกเรดด์พลัส (REDD+)  เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าที่ได้รับเพิ่มเติมในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนการพัฒนายุทธศาสตร์เรดด์พลัสของประเทศไทยโดยมีจุดประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ที่มีอยู่และการบริหารจัดการในระยะยาว ควบคู่ไปกับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่น โครงการนี้จะช่วยเหลือประเทศไทยในการพัฒนาระบบติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  นอกจากนี้ยังจะติดตามการปกป้องทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างใกล้ชิด โดยจะมีการจัดประชุมปรึกษาหารือร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ร่วมกัน

รายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติพบว่า ในระหว่างปีพ.ศ. 2553 ถึงพ.ศ. 2558 พื้นที่ป่าไม้ตามธรรมชาติทั่วโลกลดลงประมาณ 6.5 ล้านเฮกตาร์ต่อปี ซึ่งได้ลดทอนศักยภาพของป่าไม้

ในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  การบุกรุกทำลายป่าและการเสื่อมโทรมของป่าเป็นสาเหตุสำคัญลำดับสองที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนโดยมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ประมาณร้อยละ 15 จากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยทั่วโลก

ในประเทศไทย พื้นที่ป่าไม้ลดลงจากร้อยละ 53.5 เมื่อปีพ.ศ. 2504 เหลือเพียงร้อยละ 31.6 ในปีพ.ศ. 2557 เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาด้านสาธารณูปโภค การขยายตัวของภาคการเกษตร การตัดไม้ผิดกฎหมาย และไฟป่าที่ไม่สามารถควบคุมได้ นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2516 ถึงพ.ศ. 2557 อัตราการตัดไม้ทำลายป่าไม้โดยเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.6 หรือ 140,000เฮกตาร์ต่อปี

ปัจจุบัน กองทุนหุ้นส่วนคาร์บอนป่าไม้ของธนาคารโลกได้ให้ความช่วยเหลือ 47 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยในการพัฒนายุทธศาสตร์เรดด์พลัสเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่ท้าทายระดับโลกนี้

เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่านี้จะเปิดโอกาสให้ประเทศไทยบริหารจัดการและปกป้องผืนป่าได้เป็นเวลานาน เมื่อใดก็ตามที่ผืนป่าได้รับการฟื้นฟูและต้นไม้ได้รับการดูแล คนไทยก็จะได้รับประโยชน์ไม่เพียงแค่จากอากาศบริสุทธิ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการป้องกันเหตุจากดินถล่มและน้ำท่วมอีกด้วย นอกจากนี้ชุมชนที่อยู่ใกล้และรอบๆ ผืนป่าก็จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งยังช่วยให้ชุมชนยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์อีกด้วย” นายอูริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้ กล่าว

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.       The.World.Bank, 2559, Nt5 – ประเทศไทยเตรียมพร้อมสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการทำลายป่าด้วยการสนับสนุนจากธนาคารโลก, [online], Available: http://www.worldbank.org/th/news/press-release/2016/09/14/thailand-to-reduce-harmful-emissions-from-deforestation [14 กันยายน 2559].

Write a comment

three × four =