ธุรกิจกับสังคมคาร์บอนต่ำ

ถึงแม้ว่า คำว่า “สังคมคาร์บอนต่ำ” ในความหมายทั่วไป จะหมายถึงสังคมโดยรวมที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมมีความตระหนักถึงการดำรงชีวิตปกติ

โดยคำนึงถึงการลดผลกระทบที่จะทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ซึ่งหมายถึงการมุ่งเน้นทำกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการสร้างระบบนิเวศที่สมดุลให้เกิดขึ้นในธรรมชาติ

ซึ่งทำให้คล้ายกับว่า การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ จะเป็นเรื่องที่สมาชิกในสังคมทุกคนจะต้องร่วมกันแสดงความรับผิดชอบ

แต่ผู้ที่จะมีบทบาทเป็นผู้นำสังคมสู่การสร้างสังคมคาร์บอนต่ำขึ้นมาได้ ก็คงจะหนีไม่พ้นภาคธุรกิจ ที่ถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่มักจะเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ก๊าซคาร์บอน”ออกสู่บรรยากาศ และเป็นแหล่งต้นเหตุที่สำคัญแหล่งหนึ่ง เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า ในกระบวนการผลิตของโรงงานหรือภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในทุกขนาด มักจะเกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในปริมาณไม่มากก็น้อย

โดยเฉพาะในส่วนที่เกิดจากการใช้พลังงานความร้อนที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือการใช้พลังงานไฟฟ้า

การใช้พลังงานไฟฟ้าในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม แม้ดูเหมือนว่าจะเป็นพลังงานที่ไม่ทำให้เกิดมลพิษหรือเป็นอันตรายต่อสภาวะอากาศ แต่แหล่งที่เป็นตัวการสำคัญขนาดใหญ่ ก็คือโรงผลิตไฟฟ้านั่นเอง ที่เป็นแหล่งที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ

ธุรกิจที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จึงถือได้ว่า เป็นผู้ที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาด้วย และจำเป็นที่จะต้องเป็นผู้นำในการอนุรักษ์การใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นตัวอย่างให้สังคมภาคประชาชนเห็นเป็นตัวอย่าง

รวมไปถึงการใช้เชื้อเพลิงในการคมนาคมขนส่ง เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเบนซิน หรือน้ำมันดีเซล ซึ่งถือได้ว่า ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นผู้ใช้รายใหญ่ของเชื้อเพลิงเพื่อการคมนาคมขนส่งเหล่านี้ และปล่อยก๊าซไอเสียที่เป็นก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศโดยตรง

การที่ธุรกิจหันมาให้ความสนใจกับการลงทุนในการใช้พลังงานทางเลือกที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ลดลง เช่น การใช้ก๊าซชีวภาพ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้พลังงานจากลม หรือการใช้เทคโนโลยีมาช่วยอนุรักษ์การใช้พลังงานของธุรกิจ ก็เป็นเรื่องที่จะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีแก่สังคมในความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะเป็นผู้นำสังคมโดยรวมไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

วิธีการเบื้องต้นที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจะนำมาใช้เพื่อแสดงความพยายามในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศอาจทำได้ดังนี้

จัดทำระบบบันทึกและติดตามกิจกรรมทางธุรกิจที่เป็นแหล่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการขนส่ง หรือแม้กระทั่งปริมาณการใช้หรือการรั่วไหลของก๊าซดับเพลิงที่มีส่วนผสมของก๊าซเรือนกระจกที่ใช้อยู่ในกิจการ

จัดทำสถิติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมเหล่านี้ ในหน่วยวัดพื้นฐาน นอกจากการบันทึกเป็นตัวเงินในระบบบัญชี เช่น พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ไปเป็นจำนวนหน่วยหรือกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้เพื่อการคมนาคมขนส่งหรือการติดต่องานทางธุรกิจ ทั้งประเภทของน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น เบนซิน หรือดีเซล เป็นจำนวนลิตรที่ใช้ไป เป็นต้น

ค่าปริมาณต่างๆ เหล่านี้ จะสามารถนำมาคำนวณเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปลดปล่อยออกสู่บรรยากาศจากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจได้ โดยใช้ค่าคงที่เฉพาะ ซึ่งสามารถสอบถามข้อมูลได้จาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบท. ซึ่งจะให้ข้อมูลที่เป็นมาตรฐานสำหรับใช้กับประเทศไทย

     3.เมื่อทราบสถิติเบื้องต้นของกิจกรรมและปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ธุรกิจปล่อยออกสู่บรรยากาศแล้ว ก็นำไปตั้งเป็นเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้บุคคลากรในองค์กรได้ตระหนักรู้และร่วมมือกันสร้างสรรค์กิจกรรมที่จะรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ได้ตามเป้าหมายที่ผู้บริหารธุรกิจได้กำหนดไว้

แนวทางเบื้องต้นง่ายๆ นี้ จะทำให้ธุรกิจหรืออุตสาหกรรม สามารถแสดงผลงานด้านการมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน จากการดำเนินธุรกิจ ให้เห็นเป็นตัวอย่างที่ดีแก่สังคมโดยทั่วไป

และถือได้ว่า ธุรกิจ จะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการนำสังคม ไปสู่การเป็น “สังคมคาร์บอนต่ำ” ที่จะนำประเทศชาติไปสู่ระบบ “เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” ได้ในที่สุด

โดย เรวัต ตันตยานนท์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.    เรวัต.ตันตยานนท์, 2560, At1 – ธุรกิจกับสังคมคาร์บอนต่ำ, [online], Available: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/640812 [5 เมษายน 2560].

Write a comment

14 − thirteen =