ติดตามก๊าซเรือนกระจกในนาข้าว สศก.เผยผลเปรียบเทียบระบบเกษตรอินทรีย์กับระบบดั้งเดิม

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยผลศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในจากนาข้าวที่ใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์และเกษตรที่ดีเหมาะสมเทียบกับระบบเกษตรดั้งเดิม จากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในจังหวัดศรีสะเกษ หวังหาแนวทางและปัจจัยที่เหมาะสมต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นายเลอศักดิ์  ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากว่าภาวะโลกร้อน (Global Warming) เป็นภาวะที่อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นโดยสาเหตุหลักเกิดจากมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศมากเกินไปอันเป็นเหตุให้อุณหภูมิสูงขึ้นถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์โดยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) และ ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) สำหรับประเทศไทย
ภาคพลังงานและขนส่งมีสัดส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด ส่วนภาคเกษตรมีสัดส่วนในการปล่อยฯ รองลงมาเป็นอันดับที่ 2 โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 52 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (TgCO2e) หรือประมาณ 23% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของไทย ทั้งนี้ แหล่งปล่อยที่สำคัญของภาคเกษตรไทยคือ การปลูกข้าว (ซึ่งเกิดจากการขังน้ำระหว่างปลูกข้าวโดยจะปล่อยก๊าซมีเทนเป็นหลัก) ซึ่งมีปริมาณการปล่อยฯ ประมาณ 30 TgCO2e หรือ ประมาณ 60% ของปริมาณการปล่อยทั้งหมดจากภาคเกษตร

แนวทางเกษตรอินทรีย์และเกษตรที่ดีเหมาะสม (Good Agricultural Practice : GAP) ได้ถูกใช้เป็นแนวทางหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรของไทย นอกจากนี้แนวทางทั้งสองยังช่วยให้เกษตรกรมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแนวทางนี้ยังต้องการปัจจัยเสริมบางประการที่จะทำให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรมีประสิทธิผล

สศก. จึงได้ดำเนินงานวิจัยศึกษาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในจากนาข้าวที่ใช้แนวทางเกษตรอินทรีย์และเกษตรที่ดีเหมาะสมเทียบกับระบบเกษตรดั้งเดิม เพื่อหาแนวทางและปัจจัยเสริมที่เหมาะสมต่อแนวทางการลดการปล่อยกาซเรือนกระจกของไทย ซึ่งการศึกษาได้ลงเก็บข้อมูลจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 279 ราย โดยทั้งหมดเป็นเกษตรกรที่อยู่ในเขตนาน้ำฝน ผลการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการนาข้าวตามแนวทางที่ต่างกัน พบว่า

ข้าวเปลือกที่ผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด เท่ากับ 632.45 kg CO2e ต่อไร่ หรือ 2.01 kg CO2e ต่อข้าวเปลือก 1 kg  ขณะที่ระบบเกษตรดีที่เหมาะสมและระบบเกษตรดั้งเดิมมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตข้าวเปลือกเท่ากับ 503.19 และ 315.11 kg CO2e ต่อไร่ หรือ 1.31และ 0.86  kg CO2e ต่อข้าวเปลือก 1 kg ตามลำดับ โดยสาเหตุสำคัญที่ระบบเกษตรอินทรีย์มีปริมาณการปล่อยฯ สูงที่สุดเนื่องจากระบบนี้จะใช้อินทรีย์วัตถุ (เช่น      ปุ๋ยอินทรีย์ และ ปุ๋ยพืชสด)  เป็นจำนวนมากเพื่อทดแทนการใส่ปุ๋ยเคมีซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ที่สำคัญ ทำให้ก๊าซมีเทน (CH4) ที่ถูกปล่อยมากขึ้นจากอินทรีย์วัตถุและการขังน้ำมีปริมาณสูงขึ้นมากโดยเปรียบเทียบกับการลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) 

ดังนั้น แนวทางเกษตรอินทรีย์และเกษตรที่ดีเหมาะสมนั้น หากพิจารณาให้ครบถ้วนแล้วยังต้องพิจารณาถึงประโยชน์ในด้านสุขภาพและความปลอดภัยทางอาหาร พร้อมทั้งประเด็นสิ่งแวดล้อมอื่นนอกเหนือไปจากก๊าซเรือนกระจก โดยแนวทางเสริมที่สามารถดำเนินการได้คือ การส่งเสริมการปลูกข้าวแบบนาเปียกสลับแห้ง (Alternate Wet and Dry practice : AWD) ซึ่งเป็นแนวทางเสริมที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำในนาข้าวโดยจะส่งผลให้ระยะเวลาการขังน้ำในนาข้าวน้อยลง ทั้งนี้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน (CH4) ลงไปได้มากกว่าครึ่ง อย่างไรก็ตาม AWD สามารถใช้ได้ผลกับนาข้าวที่อยู่ในเขตชลประทาน เนื่องจากเกษตรกรไม่ต้องเสี่ยงต่อการขาดน้ำหากปล่อยน้ำออกจากนาในช่วงที่ไม่จำเป็นต้องขังน้ำ ดังนั้น การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทานจึงจำเป็นปัจจัยเสริมที่สำคัญยิ่งต่อแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับนาน้ำฝนและการเพิ่มภูมิคุ้มกันสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ข่าว  :  ฝ่ายประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.       สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2558, At2 – ติดตามก๊าซเรือนกระจกในนาข้าว สศก.เผยผลเปรียบเทียบระบบเกษตรอินทรีย์กับระบบดั้งเดิม, [online], Available: http://www.oae.go.th/ewt_news.php?nid=19515&filename=index [12 มีนาคม 2558].

Write a comment

two × three =