ตัวเลขใหม่ว่าด้วยวิกฤตโลกร้อน น่ากลัวกว่าที่คิด

อนาคตของมนุษยชาติขึ้นอยู่กับคณิตศาสตร์ และจำนวนตัวเลขในงานวิจัยใหม่ที่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นอะไรที่น่ากลัวมากๆ

ตัวเลขเหล่านี้อธิบายง่ายๆ กล่าวคือ มีเชื้อเพลิงฟอสซิล(ในเหมืองถ่านหินและในบ่อน้ำมัน)เหลืออยู่เท่าไรในโลกที่เราสามารถขุดขึ้นมาใช้ได้โดยที่เราต้องการหลีกเลี่ยงหายนะภัยจากโลกร้อน หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าเราต้องมุ่งหมายที่จะป้องกันมิให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นมากไปกว่า 2 องศาเซลเซียส(เทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม) ซึ่งเป็นข้อตกลงโดยประชาคมนานาชาติ จะมีถ่านหินที่เราขุดขึ้นมาเผา หรือน้ำมันที่เราขุดเจาะขึ้นมาใช้ได้เท่าไร

คำตอบคือ “ศูนย์”

เอาล่ะ ถ้าเราจริงจังกับการหลีกเลี่ยงหายนะภัยจากโลกร้อน การวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เราไม่อาจเปิดเหมืองถ่านหินแห่งใหม่ ไม่สามารถเจาะบ่อน้ำมันใหม่ หรือสร้างท่อขนส่งได้อีกแล้ว ไม่ได้แม้แต่อย่างเดียว เราได้ขยายพรมแดนเชื้อเพลิงฟอสซิลออกไปหมดแล้ว ความหวังเดียวของเราคือการลดลงที่มีการจัดการอย่างดีในการผลิตพลังงานที่มีคาร์บอนเข้มข้นจากแหล่งต่างๆ ที่มีการผลิตแล้ว

ตัวเลขใหม่มันดูน่าตกใจ เมื่อสี่ปีก่อน ผมเขียนบทความ “Global Warming’s Terrifying New Math.” โดยใช้งานวิจัยจากกลุ่ม Carbon Tracker Initiative ซึ่งเปิดเผยว่าแหล่งสำรองถ่านหิน น้ำมันและก๊าซตามรายงานของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลของโลกนั้นมีคาร์บอนมากกว่าห้าเท่ากว่าที่เราสามารถจะนำมาเผาได้ หากเราต้องการรักษาระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกินไปกว่า 2 องศาเซลเซียส หากท้ายที่สุดแล้ว ถ้าอุตสาหกรรมพลังงานขุดเอาเชื้อเพลิงจากแหล่งสำรองขึ้นมาใช้ทั้งหมดตามปริมาณที่อ้างเอาไว้ โลกของเราก็จะร้อนจากเดิมขึ้นเป็นอีก 5 เท่า ตัวเลขดังกล่าวนี้นำไปสู่การรณรงค์ “การตัดทอนการลงทุน(divestment)” จากเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยมหาวิทยาลัย กลุ่มองค์กรต่างๆ อย่างแพร่หลายไปทั่ว ตั้งแต่นั้น ได้กลายเป็นแนวคิดทั่วไป ธนาคารกลางต่างๆ และผู้นำโลกเห็นพ้องต้องกันว่าเราต้องเก็บแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลไว้ใต้ดิน

แต่ตัวเลขใหม่นั้นยิ่งดูแย่กว่า มันมาจากรายงานของ Oil Change International โดยใช้ข้อมูลจาก Rystad ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานของนอร์เวย์ ข้อมูลนี้มีค่าใช้จ่าย 54,000 ดอลล่าร์ Rystad จะขายข้อมูลแหล่งสำรองเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีอยู่ให้ใครก็ได้ ลูกค้าส่วนใหญ่ของ Rystad นั้นเป็นบริษัทน้ำมัน ธนาคารเพื่อการลงทุน และหน่วยงานรัฐบาล แต่ Oil Change International ซื้อข้อมูลด้วยเหตุผลอื่น เพื่อหาว่าเรากำลังเข้าใกล้หายนะมากน้อยแค่ไหน

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เพื่อให้มีโอกาสสองในสามของการหลีกเลี่ยงมิให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2 องศาเซลเซียส เราสามารถปล่อยคาร์บอนออกสู่บรรยากาศได้อีก 800 กิกะตัน แต่ข้อมูลของ Rystad ชี้ให้เห็นว่า เหมืองถ่านหิน บ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่มีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนั้นเทียบเท่ากับคาร์บอนไดออกไซด์ 942 กิกะตัน ดังนั้นโจทย์เลขนี้ง่าย มันจะเป็นแบบนี้

Stephen Kretzmann ผู้อำนวยการบริหารของ Oil Change International บอกว่า “เราพบว่าถ้าเราใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดที่มีอยู่ในเหมืองถ่านหิน หลุมก๊าซและบ่อน้ำมันที่ดำเนินการอยู่ อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกก็จะเพิ่มมากเกินไปกว่าสององศาแล้ว มันไม่ได้เป็นเรื่องที่ว่าถ้าเรายังกินต่อไปแบบนี้อีกสิบยี่สิบปี แล้วเราจะเป็นโรคอ้วนเรื้อรัง แต่เป็นเรื่องที่ว่าถ้าเรากินของที่มีอยู่ในตู้เย็น เราจะเป็นโรคอ้วนเรื้อรัง”

ที่แย่กว่านั้น นิยามของ “ภาวะเรื้อรัง” ได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สององศาเซลเซียสเคยเป็นขีดจำกัด แต่ขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าขีดจำกัดมันน้อยกว่านั้น มาถึงตอนนี้ เราได้ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นราว 1 องศา ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้เกิดการละลายทะเลนำ้แข็งที่อาร์กติกเกือบครึ่งหนึ่งทำให้ระบบนิเวศปะการังของโลกพังทลายลง และปลดปล่อยพลังหายนะของอุทกภัยและภัยแล้ง เดือนกรกฎาคมและสิงหาคมเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดของปี 2559 เท่าที่เคยบันทึกมา นักวิทยาศาสตร์คิดว่ามันแทบจะการร้อนที่สุดของประวัติศาสตร์อารยธรรมมนุษย์ สถานที่อย่าง Basra ในอิรักซึ่งเป็นสถานที่ที่นักวิชาการระบุว่าอยู่ชายขอบของสวนอีเดนตามคัมภีร์ไบเบิลนั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้นไปถึง 149 องศาฟาเรนไฮต์ในปี 2559 เป็นระดับอุณหภูมิที่มนุษย์ไม่อาจทนอยู่ได้ในที่โล่งแจ้ง ในปี 2558 ผู้นำโลกมาประชุมสุดยอด ณ กรุงปารีสและตกลงตัวเลขใหม่ พวกเขากล่าวว่า ต้องพยายามอย่างถึงที่สุดในทุกวิถีทางที่จะรักษาระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และการมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายเช่นนั้นแบบครึ่งต่อครึ่ง เราสามารถปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพียงราวๆ 353 กิกะตัน ดังนั้น ลองเทียบตัวเลขดูอีกครั้ง

ยิ่งต่างกันออกไปอีก ในการมีโอกาสเสมอกันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ที่ประชาคมโลกที่ได้ตกลงกันที่ปารีส เราจะต้องปิดเหมืองถ่านหินที่มีอยู่ทั้งหมดและหลุมก๊าซและน้ำมันเกือบทั้งหมดที่เราใช้อยู่ก่อนที่มันจะหมดลง

Kretzmann กล่าวว่า “มายาภาพของความสำเร็จในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ตัวเลขนี้บอกเราว่า การขยายตัวของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นหมดลงแล้ว สิ่งที่ตกลงกันที่ปารีสนั้นหมายถึง เราต้องจัดการกับภาวะขาลงในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยทันทีและจัดการให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

“การจัดการกับภาวะขาลง” นั้นหมายถึงจะต้องให้เทุกสิ่งทุกอย่างหยุดลงในวันพรุ่งนี้ เรายังสามารถนำเชื้อเพลิงจากบ่อน้ำมันและบ่อก๊าซธรรมชาติและเหมืองถ่านหินที่มีอยู่มาใช้ได้ แต่เราไม่อาจออกไปสำรวจแหล่งใหม่ของเชื้อเพลิงเหล่านี้ เราไม่อาจพัฒนาแหล่งน้ำมัน ก๊าซและถ่านหินที่เรารู้อยู่แล้ว แหล่งที่อยู่ใกล้กับโครงการปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่

ในสหรัฐอเมริกา เหมืองถ่านหิน หลุมก๊าซและน้ำมันที่มีอยู่นั้นคิดเป็นการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 86,000 ล้านตัน หรือเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส แต่หากอุตสาหกรรมพลังงานของสหรัฐอเมริกาเดินหน้าต่อและพัฒนาบ่อน้ำมันและพื้นที่ขุดเจาะโดยใช้กระบวนการ fracking ทั้งหมดตามแผนการที่วางเอาไว้ ก็จะเป็นการเพิ่มปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อีก 51,000 ล้านตัน และหากเราปล่อยให้เกิดขึ้น สหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศเดียวที่มีสัดส่วนของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศเกือบร้อยละ 40 ของปริมาณทั้งหมด(ปริมาณมากที่สุดที่จะยังคงให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส)

คณิตศาสตร์ใหม่นี้เป็นข่าวร้ายของผู้เล่นที่ทรงอำนาจจำนวนมาก อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้นมีแบบจำลองทางธุรกิจอยู่บนความคิดที่ว่าสามารถขุดน้ำมันและก๊าซขึ้นมาใช้ในแต่ละปีอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ทีมนักธรณีวิทยาของพวกเขากำลังมุ่งค้นหาเพื่อขุดเจาะแหล่งทรัพยากรน้ำมันและก๊าซแห่งใหม่ ในเดือนกันยายน 2559 อะปาเช่ คอปอเรชัน(Apache Corporation) ประกาศว่าได้ระบุการค้นพบบ่อน้ำมันแห่งใหม่ในทางตะวันตกของรัฐเท็กซัสที่มีปริมาณสำรองถึง 3,000 ล้านบาเรลล์ เก็บน้ำมันไว้ใต้ดิน – ซึ่งคณิตศาสตร์ใหม่แสดงให้เราลงมือทำหากต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายที่ประชาคมโลกเห็นร่วมกัน ณ การประชุมสุดยอดโลกร้อนที่กรุงปารีส – จะทำให้อุตสาหกรรมต้องสูญเสียเม็ดเงินนับหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับเหตุผลที่พอเข้าใจได้ สหภาพแรงงานที่มีคนงานสร้างท่อส่งน้ำมันและก๊าซและขุดเจาะนั้นต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เมื่อพิจารณาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโครงการท่อส่งน้ำมันดาโกต้า (the Dakota Access oil pipeline) ในเดือนกันยายน 2559 แม้ว่าหลังจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยท่อส่งน้ำมันใช้สเปรย์พริกไทยและสุนัขเข้าโจมตีชาวพื้นเมืองอเมริกันอินเดียนที่ประท้วงอย่างสันติเพื่อปกป้องพื้นที่ฝังศพของบรรพบุรุษจากรถรถแทรกเตอร์เกลี่ยดิน นาย Richard Trumka ประธานสหพันธ์แรงงานและสภาองค์กรอุตสาหกรรมแห่งสหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้รัฐบาลโอบามาเปิดทางให้กับการก่อสร้างโครงการ นาย Trumka กล่าวว่า การก่อสร้างและการซ่อมบำรุงท่อขนส่งน้ำมันสร้างงานที่มีคุณภาพให้กับคนงานที่มีฝีมือหลายหมื่นคน หัวหน้าสหพันธ์แรงงานการก่อสร้างอาคารเห็นด้วยว่า “สมาชิกทั้งหลายต้องพึ่งพางานของชนชั้นกลางที่ช่วยสนับสนุนครอบครัวจากการประกันสุขภาพ เงินบำนาญและค่าตอบแทนที่ดี” เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานคนหนึ่งกล่าวอย่างชัดเจนว่า “อย่าให้ต้องล้มเลิกโครงการและควบคุมจนเกินไปหรือเพียงแต่บอกว่า ไม่เอา เก็บมันไว้ใต้ดิน มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น.

เธอพูดถูก มันจะง่ายกว่าสำหรับทุกคนถ้าหากมันไม่ง่ายขนาดนั้น คนงานต้องพึ่งพางานเหล่านั้นจริงๆ เพื่อสร้างวิถีชีวิตชนชั้นกลาง และเราทั้งหมดต่างก็เผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งวันและทุกวัน แต่ปัญหาคือมันง่ายเช่นนั้นหรือ เราต้องยุติมัน เราต้องเก็บมันไว้ใต้ดิน ตัวเลขก็คือตัวเลข เราไม่อาจทำอย่างที่เป็นอยู่ได้อีกต่อไปหากเราต้องการมีโลกอยู่

เก็บมันไว้ใต้ดินไม่ได้หมายความว่า เราต้องยุติการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลลงทั้งหมดในทันทีทันใด Kretzmann กล่าวว่า หากเราปล่อยให้แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในปัจจุบันเริ่มลดลงไปตามธรรมชาติ เราจะใช้น้ำมันน้อยลงร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ.2576 นั่นคือเรามีเวลา 17 ปี เมื่อบ่อน้ำมันที่เราขุดเจาะค่อยๆ หมดไป เพื่อแทนมันด้วยพลังงานหมุนเวียน นั่นก็เป็นเวลาที่พอจะแทนรถยนต์ผลาญเชื้อเพลิงด้วยรถไฟฟ้า การเปลี่ยนให้คนงานสร้างท่อลำเลียงน้ำมันและคนงานเหมืองถ่านหินไปเป็นการทำงานสร้างแผงเซลล์สุริยะและกังหันลม ในการที่จะทำตามเมืองที่เดินหน้าไปก่อนอย่างเมือง Portland ที่ห้ามโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิล และอย่างประเทศจีนที่ห้ามการทำเหมืองถ่านหินแห่งใหม่ เหล่านี้เป็นจังหวะก้าวเล็กๆ แต่มีความสำคัญ

แม้แต่สหภาพแรงงานขนาดใหญ่บางแห่งเริ่มรับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานหมุนเวียนจะสร้างงานนับล้านตำแหน่งที่มีผลตอบแทนที่ดีภายในปี พ.ศ.2573 ทุกๆ คนตั้งแต่พยาบาลไปถึงคนงานในภาคการขนส่งต่างคัดค้านท่อขนส่งน้ำมันดาโกต้า สหภาพแรงงานอีกหลายแห่งออกมาคัดค้านการส่งออกถ่านหินและการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติด้วยวิธีแฟรกกิ้ง(fracking) Sean Sweeney ผู้ประสานงานประเด็นแรงงานและการปกป้องสภาพภูมิอากาศกล่าวว่า “นี่ถือเป็นประวัติการณ์ การลุกขึ้นมาของสหภาพแรงงานว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นำเสนอทิศทางใหม่ของการเคลื่อนไหวแรงงาน”

แต่การโน้มน้าวผู้นำโลกให้เชื่อคณิตศาสตร์ เพื่อยุติเหมืองถ่านหิน บ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหรือท่อขนส่งน้ำมัน เราจำเป็นต้องขับเคลื่อนในแบบเดียวกับการคัดค้านโครงการท่อส่งน้ำมันคีย์สโตน (the Keystone pipeline) การทำแฟรกกิ้งในนิวยอร์กและการขุดเจาะปิโตรเลียมในอาร์กติก และเราจำเป็นต้องผ่านกฎหมาย “เก็บมันไว้ใต้ดิน” ที่จะการทำเหมืองถ่านหินและการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิลแห่งใหม่ในพื้นที่สาธารณะ ในสายตาของบริษัทเอ็กซอนโมบิลไปจนถึงรัฐมนตรีมหาดไทย นี่เป็นเรื่องไม่จริงหรือเป็นเรื่องที่ไร้เดียงสา แต่การที่คณิตศาสตร์ใหม่บอกชัดเจน การเก็บแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลไว้ใต้ดินเป็นแนวทางเดียวที่เป็นจริง เรื่องที่ไม่จริงคือการจินตนาการว่า เราสามารถหลีกหนีไปจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นหายนะ ดังที่รายงานของ Oil Change International ระบุ ส่วนสำคัญของนโยบายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทรงพลังมากที่สุดนั้นคือสิ่งที่เรียบง่ายที่สุด นั่นคือ หยุดขุดเจาะ

นี่คือการทดสอบคณิตศาสตร์อย่างแท้จริง และไม่ได้เป็นการจัดคะแนนตามเส้นโค้ง มันมีเพียงคำตอบเดียว และถ้าเราทำไม่ถูก แล้วเราทั้งหมด รวมถึงอารยธรรมมนุษย์กว่าหมื่นปีของเราก็จะล้มเหลว

โดย บิล แมคกิบเบน

เอกสารอ้างอิง

1.        บิล.แมคกิบเบน, 2559, At2 – ตัวเลขใหม่ว่าด้วยวิกฤตโลกร้อน น่ากลัวกว่าที่คิด, [online], Available: https://taragraphies.org/2017/02/15/%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%82%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%95/ [22 กันยายน 2559].

Write a comment

5 × one =