‘ฉลากลดโลกร้อน’ ลดก๊าซฯ จริง ส.อ.ท. สรุป 4 ปี ปล่อยเรือนกระจกน้อยลง 1.66%

ตัวแทนสภาอุตฯ เผยปี 56-60 ฉลาก “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” ลดก๊าซได้ 1.6% ระบุ ยังพบปัญหาการเข้าถึงข้อมูล ขาดแรงจูงใจการผลิต-บริโภคสินค้าเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

นายนำพล ลิ้มประเสริฐ รองประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในเวทีเสวนา “มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวด้วยการบริโภคที่ยั่งยืน” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตอนหนึ่งว่า การดำเนินการของฉลากลดโลกร้อน หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ในปี 2556–2560 สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1.66 % ของปริมาณการปล่อยทั้งหมด ส่วนแผนส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระยะที่ 3 ปี 2560–2564 ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำร่าง

ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี 2558 พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจำนวน 9,686 รายการ แต่ปัญหาที่พบจากการดำเนินการคือ ช่องทางการเข้าถึงข้อมูลของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังไม่เพียงพอ ประกอบกับความต้องการสินค้าในตลาดดังกล่าวที่ยังมีไม่มากนัก ทำให้ขาดแรงจูงใจทั้งในแง่ของการผลิตและการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายนำพล กล่าวอีกว่า ในส่วนของโรงงานที่ได้รับการรับรอง Eco Factory หรือมาตรฐานการรับรองโรงงานที่มีการดำเนินการประกอบกิจการที่สอดคล้องกับระบบเชิงนิเวศโดย ส.อ.ท. ปัจจุบันมีทั้งหมด 70 บริษัทประกอบด้วยโรงงานไฟฟ้า ผลิตน้ำ ก๊าซ อุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.ระยอง 67 บริษัท จ.สมุทรสาคร 2 บริษัท และ จ.สระบุรี 1 บริษัท

น.ส.พรพิมล วราทร ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ส่งเสริมทั้งในส่วนของภาคการผลิต การบริการ และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีกระแสของการทำกรีนโปรดักชั่น ไม่ว่าจะเป็น กรีนโฮเทล กรีนคอนโด กรีนออฟฟิศ เป็นต้น ซึ่งในส่วนของสถานประกอบการขนาดเล็ก ปัจจุบันได้รับตราสัญลักษณ์กรีนโปรดักส์แล้ว จำนวน 351 แห่ง จากที่เข้าร่วมโครงการ 878 แห่ง

“จากข้อมูลทางสถิติพบว่าการดำเนินชีวิตของมนุษย์ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสิ่งก่อสร้าง 35% ยานพาหนะ 25% อาหารและเครื่องดื่ม 17% จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ลดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือสารอันตราย เช่นเดียวกับลดการปลดปล่อยของเสียและมลพิษ ตลอดวัฏจักรชีวิตของการบริการและการผลิตนั้น ไม่ให้ส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อความต้องการของคนรุ่นต่อไป” น.ส.พรพิมล กล่าว

นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า การจะผลักดันโครงการเมืองเกษตรสีเขียวให้เกิดขึ้น จะต้องพัฒนาใน 3 ด้านคือ พื้นที่ สินค้า และคน โดยการพัฒนาพื้นที่ จะต้องมุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ปลอดมลพิษ มีสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัย มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตร สามารถพัฒนาเป็นแหล่งศึกษาดูงาน และท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้

นายภูมิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในด้านการพัฒนาสินค้า จะต้องพัฒนาในระดับต้นน้ำให้มีการผลิตสินค้าตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ลดการปล่อยของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพ และลดต้นทุนจากการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ ตามแนวคิด 3R คือ Reduce Reuse และ Recycle ขณะที่ด้านการพัฒนาคน จะต้องให้ความรู้ในการผลิตสินค้าที่ปลอดภัยจากสารเคมีได้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.       TV, G.N., 2560, Nt2 – ‘ฉลากลดโลกร้อน’ ลดก๊าซฯ จริง ส.อ.ท. สรุป 4 ปี ปล่อยเรือนกระจกน้อยลง 1.66%, [online], Available: http://www.greennewstv.com/%E0%B8%89%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B9%8A%E0%B8%B2%E0%B8%8B%E0%B8%AF/ [7 กุมภาพันธ์ 2560].

Write a comment

three × 4 =