ความเสี่ยงและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของชุมชนพื้นเมืองในบริบทป่าและทะเลในประเทศไทย

วารสารวิจัยสังคม (2558)

นฤมล อรุโณทัย

บทคัดย่อ

ชุมชนพื้นเมืองส่วนใหญ่ในโลกมีการดำรงชีพที่พึ่งพิงกับธรรมชาติโดยตรง และมีความรู้ซึ่งสั่งสมบ่มเพาะเป็นวิถีที่ทำให้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติรวมทั้งตอบรับความเสี่ยงและความผันผวนของสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติได้ แต่ในปัจจุบัน สิ่งแวดล้อมเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น วิถีชีวิตเช่นนี้จึงประสบกับความเสี่ยงทั้งด้านกายภาพ สังคม วัฒนธรรม และจิตวิญญาณ ชุมชนพื้นเมืองในหลายพื้นที่สังเกตถึงผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ บ้างก็ได้รับผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอย่างชัดเจน สภาพการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในป่าฝนเขตร้อนหลายแห่งเผชิญปัญหาการเพิ่มขึ้นของโรคระบาดและภาวะภัยแล้งที่ยาวนานขึ้น ส่วนชนพื้นเมืองในบริเวณอาร์กติกก็เผชิญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจากพายุและคลื่นลมที่รุนแรงขึ้นหรือการทำมาหากินยากลำ บากขึ้นเพราะฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป ธารน้ำแข็งและพื้นที่ทุ่งน้ำแข็งละลายมากขึ้น แบบแผนการย้ายถิ่นของสัตว์เปลี่ยนแปลงไป ฯลฯ ชุมชนพื้นเมืองหลายแห่งมีวิถีที่ยืดหยุ่นและสามารถจะปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ ในขณะที่บางชุมชนก็ต้องสูญสลายอพยพโยกย้ายไปที่อื่น ซึ่งการอพยพโยกย้ายส่งผลกระทบต่อด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของชุมชนเดิมและชุมชนในพื้นที่ใหม่ที่อพยพเข้าไปอยู่อาศัย บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของความรู้ที่ได้มาจากงานศึกษารวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ความเสี่ยงและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ ทั้งจากการทบทวนเอกสารเกี่ยวกับชุมชนพื้นเมืองในประเทศอื่นๆ และจากการวิจัยภาคสนามในประเทศไทยโดยเปรียบเทียบระหว่างชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่า (ชุมชนกะเหรี่ยงในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดเชียงใหม่) และชุมชนชาวเลบริเวณชายฝั่งทะเลและเกาะ (ชุมชนมอแกนและอูรักลาโว้ยในจังหวัดพังงา ภูเก็ต และกระบี่)

คำสำคัญ

การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, ชนพื้นเมือง, ความเสี่ยงจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง, ชาวเล, กะเหรี่ยง

เอกสารอ้างอิง

1.       นฤมล.อรุโณทัย, 2558, “Rt4 – ความเสี่ยงและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของชุมชนพื้นเมืองในบริบทป่าและทะเลในประเทศไทย”, วารสารวิจัยสังคม, Vol. 38, No. 1, pp. 1-33.

Write a comment

two + nineteen =