การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน…ภารกิจกู้โลก

ท่ามกลางปัญหาที่รุมเร้ามากมายในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะในทะเล การตัดไม้ทำลายป่า ตลอดจนการค้ามนุษย์และความไม่เป็นธรรมในการจ้างงาน เหล่านี้เป็นตัวอย่างของปัญหาที่ปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นภัยคุกคามที่หลายภาคส่วนถามหาความรับผิดชอบจากภาคธุรกิจในฐานะผู้ก่อปัญหาแล้ว ประเด็นเหล่านี้ยังเป็นความท้าทายที่ภาคเอกชนจำเป็นต้องก้าวผ่านเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจอีกด้วย

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals ขององค์การสหประชาชาติที่ทั่วโลกยึดถือเป็นหลักการร่วมกันคือเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production) ซึ่งสะท้อนว่าเราไม่สามารถให้ผู้ผลิตเป็นจำเลยต่อปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้เพียงฝ่ายเดียว การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องเดินหน้าควบคู่กันไป เราจึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนพลวัตรทั้งสองเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน

การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน เป้าหมายลำดับที่ 12 ของ Sustainable Development Goals ขององค์การสหประชาชาติ

ที่มา: http://www.unep.org/resourceefficiency/Home/WhatisSCP/tabid/105574/Default.aspxและ http://eu-refresh.org/sites/default/files/globalgoals.jpg

การปรับตัวของภาคธุรกิจ

แน่นอนว่าบริษัทเอกชนตกเป็นจำเลยของผลกระทบที่เกิดขึ้นแทบจะทุกกรณี เช่น การโจมตีบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์ยักษ์ใหญ่ที่เป็นปลายทางของข้าวโพดจากการบุกรุกป่าต้นน้ำและปัญหาหมอกควันในภาคเหนือของไทย หรือแบรนด์ชุดกีฬาชั้นนำที่ถูกเรียกร้องให้ตรวจสอบเรื่องแรงงานที่ไม่เป็นธรรมในห่วงโซ่การผลิตแม้จะอยู่ไกลออกไปอีกซีกโลก ด้วยเหตุนี้เองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเราจึงเห็นการปรับตัวด้านการผลิตของภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการจำกัดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หากจะกล่าวถึงบริษัทชั้นนำที่ปรับตัวเรื่องความยั่งยืนในการผลิตแล้ว คงยากที่จะไม่กล่าวถึง Interface บริษัทผู้ผลิตพรมแบบแผ่นที่ได้รับการยกย่องด้านความยั่งยืนในอันอับต้นๆของโลก Interface ไม่ได้ลุกขึ้นมาปฏิวัติเพียงแค่กระบวนการผลิตแต่เป็นระบบคิด หรือ mindset ของทั้งองค์กร และมุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยตั้งเป้าหมาย Mission Zero (ไม่สร้างของเสียจากกระบวนการผลิตเลย) ภายในปี 2020

นอกจากบริษัทจะประสบความสำเร็จในการปรับปรุงการใช้ไนลอน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจัดการนำพรมหมดอายุกลับมาผลิตใหม่ได้ทั้งหมดแล้ว บริษัทยังนำแนวคิดชีวลอกเลียน (biomimicry) มาออกแบบนวัตกรรมใหม่ ที่เรียกว่า Tac Tiles ที่เลียนแบบเท้าของจิ้งจกที่ใช้ขนเล็กๆนับล้านในการปีนผนัง เกิดเป็นวิธีการติดตั้งพรมแบบใหม่ที่เชื่อมพรมแต่ละแผ่นด้วยพลาสติกใสขนาดเล็กแทนการยึดพรมติดกับพื้น ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนลงถึงร้อยละ 90 และลดการใช้สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายจากกาวในการติดตั้งอีกด้วย ผลิตผลอีกสิ่งหนึ่งจากชีวลอกเลียนคือ Random Design ที่เลียนแบบความสวยงามของธรรมชาติ เช่น กองใบไม้ที่ร่วงปกคลุมดิน ก้อนกรวดบริเวณชายหาด เกิดเป็นพรมที่สามารถวางเชื่อมต่อกันได้ทุกทางโดยไม่ต้องจัดเรียงตามทิศทางหรือสี ซึ่งช่วยลดเศษพรมจากการปูพื้นห้องลงจากร้อยละ 12 เหลือเพียง ร้อยละ 1-2 เท่านั้น

Tac Tiles นวัตกรรมการติดตั้งพรมของ Interface ที่เลียนแบบเท้าของจิ้งจกในการปีนผนัง
ที่มา: http://www.interface.com/US/en-US/about/modular-carpet-tile/Biomimicry

Random Design พรมที่สามารถวางเชื่อมต่อกันได้ทุกทางโดยไม่ต้องจัดเรียงตามทิศทางหรือสี นวัตกรรมเลียนแบบความงานตามธรรมชาติ

ที่มา: http://www.interface.com/US/en-US/about/modular-carpet-tile/Biomimicry และ http://blog.interface.com/biomimicry-a-trend-of-the-last-250000-years

ขณะที่ Unilever ก็เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในวงการสินค้าอุปโภคบริโภค มีประวัติการดำเนินการด้านความยั่งยืนมาอย่างยาวนาน ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งด้านความยั่งยืน 5 ปีติดต่อกันจากรายงาน Sustainability Leaders Report เป็นผู้ร่วมจัดตั้งมาตรฐานความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งมาตรฐานการประมงอย่างยั่งยืน (Marine Stewardship Council – MSC) และมาตรฐานปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO) บริษัทได้ควบรวมแนวคิดเรื่องความยั่งยืนเข้าไปในทุกภาคส่วนขององค์กร และได้พัฒนา Sustainable Living Plan เป็นแผนในการดำเนินธุรกิจที่ไม่เพียงให้ความสำคัญกับผลประกอบการเท่านั้น แต่มุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้บริโภคทั่วโลกผ่านผลิตภัณฑ์ที่ช่วยยกระดับสุขอนามัยและโภชนาการ ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงผลิตภัณฑ์เพื่อความสะอาดของประชากรกว่า 400 ล้านคน การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพที่ลดขยะสู่การฝังกลบเหลือศูนย์ และการจัดหาวัตถุดิบอย่างรับผิดชอบ

นอกจากนี้เรายังเห็นการเข้ามาของผู้ผลิตหน้าใหม่เพื่อนำเสนอทางเลือกของผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนมากขึ้น อย่างเช่น Fairphone โทรศัพท์ที่เป็นธรรมจากเนเธอร์แลนด์ ที่ลุกขึ้นมาปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานของส่วนประกอบโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะส่วนประกอบจาก conflict minerals (แร่ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งประกอบด้วยทองคำ ดีบุก ทังสเตน และโคลแทน) ซึ่งมักพัวพันกับความขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากร กองกำลังติดอาวุธ และการทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ (เช่น ประเทศคองโกซึ่งเป็นแหล่งโคลแทนที่ใหญ่ที่สุดในโลก) บริษัทพัฒนาระบบติดตามตรวจสอบชิ้นส่วนว่าได้มาอย่างรับผิดชอบและปลอดจากภัยคุกคามและความขัดแย้งในพื้นที่ต้นทาง Fairphone รุ่นแรกวางจำหน่ายในปี 2013 รับรองการได้มาของดีบุกและแทนทาเลียม (ผลิตมาจากโคลแทน) ว่าไม่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามหรือความขัดแย้งที่คองโก ต่อมาในปี 2016 บริษัทประสบความสำเร็จในการจัดการแร่หายากอีกสองชนิดที่เหลือ (ทองคำและทังสเตน) และ Fairphone 2 ถือเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นแรกที่ปราศจากส่วนประกอบจากแร่หายากที่มีปัญหา โดยที่แร่หายากทั้ง 4 ชนิด ได้รับการตรวจสอบและรับรองว่าไม่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามที่ประเทศแหล่งผลิต

Fairphone 1 วางจำหน่ายในปี 2013 ใช้ดีบุกและแทนทาเลียมที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน

ที่มา: https://www.oneclickroot.com/android-smartphones/pre-rooted-fairphone-the-phone-that-puts-social-values-first-now-available-to-order/

ทำไมภาคธุรกิจจึงต้องสนใจเรื่องความยั่งยืน

ในการงานสัมมนาเรื่องธุรกิจยึดจริยธรรมและธุรกิจที่ยั่งยืน (Thailand’s Ethical and Sustainable Business Forum) โดยองค์การอ็อกแฟม ร่วมกับ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และ Change Fusion เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 เดวิด คิว (David Kiu) รองประธานฝ่ายสื่อสารและธุรกิจยั่งยืนของ Unilever Global Markets แสดงทัศนะต่อวิธีปฏิบัติที่ยั่งยืนของ Unilever ไว้อย่างคมคายว่า “ธุรกิจไม่สามารถอยู่รอดได้ในโลกที่กำลังล่มสลาย” ความตั้งใจในการการปรับปรุงสุขภาพและความอยู่ดีมีสุขของคนทั่วโลกทำให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าเข้าสู่ตลาดผู้มีรายได้น้อย ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของบริษัท ดังนั้นสำหรับ Unilever แล้ว ความยั่งยืนไม่ใช่ต้นทุน แต่เป็นการลงทุนที่วันหนึ่งก็จะย้อนกลับมาเพิ่มผลกำไรให้กับบริษัท

เช่นเดียวกับบริษัทอย่าง Starbucks ที่เล็งเห็นว่าภัยคุกคามทางสังคมและสิ่งแวดล้อมสามารถสร้างความเสี่ยงให้กับธุรกิจได้อย่างมหาศาล ความผันผวนด้านผลผลิตกาแฟผลักดันให้ Starbucks พัฒนาห่วงโซ่การผลิตกาแฟอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่ (shade-grown-coffee) โดยไม่ต้องถางเปิดพื้นที่เหมือนแปลงปลูกพืชเชิงเดี่ยวแบบเดิม จนพัฒนามาเป็นมาตรฐาน C.A.F.E (the Coffee and Farmer Equity Practices) ในการคัดเลือกคู่ค้าและรับซื้อเมล็ดกาแฟในราคาสูงกว่าทั่วไป ปัจจุบันนอกจากบริษัทจะสามารถจำกัดความเสี่ยงด้านอุปทานได้แล้ว ยังมีส่วนส่งเสริมการอนุรักษ์ระบบนิเวศอีกด้วย บริษัทรายใหญ่ของไทยก็ได้รับความกดดันจากการตื่นตัวต่อความยั่งยืนในการผลิตเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหมอกควันในภาคเหนือที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี การบุกรุกป่าต้นน้ำเพื่อเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่ที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลกคงไม่พ้นการตีแผ่ปัญหาแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงไทยโดยสำนักข่าว The Guardian เมื่อปี 2557 ที่ทำให้ภาครัฐและภาคเอกชนไทยต้องพิจารณาแก้ไขปัญหา IUU Fishing (ประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม) อย่างจริงจัง เนื่องจากผู้ซื้อในต่างประเทศ เช่น Walmart Tesco และ Costco แสดงจุดยืนว่าไม่ต้องการรับซื้อสินค้าจากประเทศไทย สำหรับบริษัทจากประเทศอังกฤษ การเกี่ยวข้องกับแรงงานทาสถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายแม้การละเมิดสิทธิ์จะเกิดขึ้นกับคู่ค้านอกประเทศก็ตาม ซึ่งเป็นผลมาจากการประกาศใช้กฎหมายการค้าแรงงานทาสสมัยใหม่เมื่อปี 2558 (Modern Slavery Act 2015) ว่าธุรกิจขนาดใหญ่ (รายได้มากกว่า 36 ล้านปอนด์ต่อปี) ต้องเปิดเผยกระบวนการรับรองว่าไม่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานทาสและการค้ามนุษย์ทั้งในบริษัทเองและรวมถึงในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทด้วย

ปัญหาแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงไทยยังอยู่ในความสนใจของทั่วโลก แม้จะผ่านมา 2 ปี นับตั้งแต่การรายงานของ The Guardian ในปี 2557
ที่มา: เว็บไซต์ The Guardian วันที่ 21 ม.ค.

ความสนใจต่อผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ที่โรงงานผลิตเท่านั้น แต่ยังขยายความครอบคลุมถึงการได้มาซึ่งวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งสามารถสืบย้อนไปได้ถึงภาคเกษตรกรรม ประมง และเหมืองแร่ เป็นต้น ว่าการจัดหาวัตถุดิบเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการทำลายสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน และความไม่เป็นธรรมในการกระจายผลประโยชน์อย่างไร การปรับปรุงวิธีปฏิบัติของภาคธุรกิจสะท้อนว่าด้านการผลิตได้ตื่นตัวต่อความยั่งยืนและการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว น่าสนใจว่าในฝั่งของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร

ผู้บริโภคกับผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

เราไม่สามารถให้ผู้ผลิตเป็นจำเลยต่อปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้เพียงฝ่ายเดียว การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องเดินหน้าไปควบคู่กัน แต่การจะสร้างการบริโภคอย่างยั่งยืนได้นั้นจำเป็นต้องเริ่มจากการรับรู้ว่าการบริโภคเกี่ยวข้องกับปัญหาต่างๆอย่างไร

ต้องไม่ลืมว่าผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นนั้นถูกผลิตมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ตั้งแต่ตื่นนอนผู้บริโภคอย่างเราต่างเกี่ยวข้องกับปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งในหลายกรณีพฤติกรรมการบริโภคของเราอาจส่งผลกระทบไปไกลยังอีกซีกโลกหนึ่งเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นยาสีฟัน ยาสระผมและสบู่ที่เราใช้ ตลอดจนขนมขบเคี้ยวที่เราชอบอาจมีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มที่ได้มาจากการถางและเผาป่าในอินโดนีเซียที่ทำลายป่าเขตร้อนผืนใหญ่และทำลายที่อยู่อาศัยของอุรังอุตังและเสือโคร่งสุมาตรา เสื้อผ้าที่เราสวมใส่อาจผลิตด้วยแรงงานที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมที่กัมพูชาหรือบังคลาเทศ ส่วนฝ้ายที่เป็นวัตถุดิบอาจมาจากไร่ที่นอกจากจะใช้แรงงานเด็กแล้ว ยังใช้สารเคมีปนเปื้อนจำนวนมากในการเพาะปลูกด้วย หากมีไก่เป็นอาหารเช้าหรืออาหารกลางวัน มีความเป็นไปได้สูงว่าไก่เหล่านั้นถูกเลี้ยงโดยข้าวโพดที่ปลูกบนเขาสูงที่ต้องถางป่าจนกลายเป็นเขาหัวโล้นในจังหวัดน่าน ปลาที่เราชื่นชอบก็อาจจับโดยแรงงานทาสบนเรือประมง ทุกอย่างบรรจุอยู่ในภาชนะพลาสติกที่ใช้เวลาร่วมร้อยปีในการย่อยสลายและสุดท้ายกลายเป็นกองสวะลอยล่องขนาดมหึมาในมหาสมุทร สุดท้ายอุปกรณ์ที่แทบจะเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตของเราอย่างโทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ก็ใช้แร่โคลแทนจากเหมืองแร่ในประเทศคองโก อันเป็นแหล่งรวมความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับกองกำลังติดอาวุธ การทำลายป่า และการล่าลิงกอริลล่าใกล้สูญพันธุ์ ทุกครั้งที่เราเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเราจึงอาจเป็นตัวกระตุ้นให้ปัญหาต่างๆ รุนแรงขึ้น

ป่าเขตร้อนผืนใหญ่ถูกเปลี่ยนสภาพเป็นสวนปาล์มน้ำมันที่อินโดนีเซีย

ที่มา: http://sacredseedlings.com/carbon-capture-reforestation/

ซากวาฬสเปิร์มที่ประเทศเยอรมนี ท้องเต็มไปด้วยขยะพลาสติกและชิ้นส่วนรถยนต์

ที่มา: http://www.trueactivist.com/sperm-whales-found-dead-in-germany-stomachs-full-of-plastic-and-car-parts/

ด้วยเหตุนี้ การบรรลุเป้าหมายลำดับที่ 12 การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืนได้นั้น จำเป็นต้องพิจารณาลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตลอดช่วงอายุ ตั้งแต่การจัดการห่วงโซ่อุปทานของการผลิตไปจนถึงพฤติกรรมการบริโภคและการจัดการของเสียหลังการบริโภคอีกด้วย

การส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืน

หากทราบความเกี่ยวโยงตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ผู้บริโภคคงปฏิเสธความรับผิดชอบของผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ได้ เรามีส่วนแสดงความรับผิดชอบ และสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อยได้ด้วยการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ สิ่งที่ผู้บริโภคทำได้จึงเริ่มจากการยอมรับว่าตัวเองคือส่วนหนึ่งของปัญหา เลิกโยนความผิดให้ผู้ผลิตเพียงฝ่ายเดียว การตระหนักว่าผู้บริโภคมีส่วนในการสร้างผลกระทบและมีส่วนในการกำหนดทิศทางของตลาดได้คือจุดเริ้มต้นสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง เมื่อทราบข้อมูลแล้วเราสามารถแบ่งปันข้อมูลนั้นให้กับคนรอบข้าง เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของตัวเอง และพิจารณาทางเลือกที่รับผิดชอบมากกว่า ทิ้งรอยเท้าไว้น้อยกว่า

การบริโภคอย่างยั่งยืน การบริโภคที่ยึดจริยธรรม การบริโภคอย่างรับผิดชอบ (และคำอื่นๆที่มีความหมายคาบเกี่ยวกัน เช่น การบริโภคสีเขียว การบริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นต้น) เริ่มได้รับการกล่าวถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามระดับของปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ปรากฏชัดเจนขึ้น คำที่กล่าวไปข้างต้นนี้แม้จะต่างกันอยู่บ้างในรายละเอียดแต่ความหมายโดยรวมไม่ต่างกัน โดยหมายถึงพฤติกรรมการเลือกซื้อเลือกใช้สินค้าที่ไม่ได้พิจารณาความพึงพอใจส่วนตัวเท่านั้น แต่คำนึงถึงประเด็นทางศีลธรรม ได้แก่ การปฏิบัติต่อแรงงานและสิทธิมนุษยชน สุขภาพและความเป็นอยู่ สวัสดิภาพของสัตว์ และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม

‘การบริโภคอย่างยั่งยืน’ มีคำนิยามเพิ่มเติมที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนคือ “การบริโภคที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่มีผลกระทบในทางลบต่อความต้องการของคนรุ่นต่อไปในอนาคต” ปัจจัยอื่นๆที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคมีอะไรบ้าง ?

มีงานศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคมากมายที่บ่งชี้ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อุปสรรคของการเปลี่ยนแปลงนี้ประกอบด้วยการขาดความตระหนักรู้ ข้อจำกัดด้านราคา ขาดข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ข้อจำกัดในการเข้าถึงสินค้า การตลาดที่เป็นรองสินค้าที่ไม่รับผิดชอบ เป็นต้น การบริโภคเป็นกระบวนการที่ได้รับอิทธิพลจากระบบที่มีปัจจัยมากมาย การส่งเสริมให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมประกอบด้วยส่วนผสมที่จำเป็นอย่างน้อย 3 ด้าน อันเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน ได้แก่ 1) ทัศนคติ 2) ผู้อำนวยความสะดวก และ 3) โครงสร้างที่เกื้อหนุน ถ้าปัจจัยทั้งสามประสานงานกันอย่างดี จะทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิต (lifestyle) แบบยั่งยืนเป็นทางเลือกที่ง่ายและสะดวกสบายที่สุดสำหรับผู้บริโภค

  • ทัศนคติที่ถูกต้อง หมายถึงการมีทัศนคติทางบวกต่อการเป็นผู้บริโภคที่รับผิดชอบ ตระหนักว่าทำไมจึงต้องบริโภคอย่างรับผิดชอบ และยอมรับทางเลือกที่จะนำไปสู่สังคมแห่งความยั่งยืน งานวิจัยหลายชิ้นพบว่าทัศนคติของบุคคลหนึ่งได้รับการบ่มเพาะตลอดช่วงชีวิตผ่านระบบความเชื่อ ค่านิยมส่วนตัว บรรทัดฐานทางสังคม ข้อมูลและความรู้ เป็นต้น ทัศนคติที่ดีสามารถส่งเสริมได้หลากหลายวิธีการและช่องทาง เช่น การสอนในสถาบันการศึกษา การรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ การฝึกอบรม และงานเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ จะเห็นว่าการสร้างหรือเปลี่ยนแปลงทัศนคตินั้นเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในระบบการผลิตและบริโภค (consumption and production system) ไม่ใช่เพียงแค่ผู้บริโภคเท่านั้น
  • ผู้อำนวยความสะดวก ทำหน้าที่สนับสนุนให้เกิดบรรยากาศที่จะส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคอย่างรับผิดชอบ ผ่านการสร้างแรงจูงใจให้เปลี่ยนพฤติกรรม ขณะเดียวกันก็สร้างอุปสรรคไปบั่นทอนพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ ผู้อำนวยความสะดวกอาจอยู่ในรูปของ กฎระเบียบ กฎหมาย หลักปฏิบัติของสังคม วัฒนธรรม และแรงจูงใจในตลาด

เมืองซานฟรานซิสโกห้ามจำหน่ายน้ำดื่มบรรจุขวดในเขตพื้นที่หรืองานของเทศบาลเมือง เป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” ในรูปของกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค

ที่มา: http://www.baycrossings.com/dispnews.php?id=3090

  • โครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ช่วยเกื้อหนุนให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืนโดยขจัดกับดักของพฤติกรรมการบริโภคแบบเดิมๆ (จากการที่ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า ไม่สามารถเข้าถึงทางเลือกที่ยั่งยืนกว่า เช่น ไม่มีสินค้าที่ยั่งยืนขายในร้านค้าใกล้บ้าน) โดยการติดตั้งเครื่องมือบางอย่างเช่นเครื่องกรองน้ำสาธารณะ ที่ทำให้การบริโภคอย่างรับผิดชอบเป็นเรื่องง่ายและสะดวกกว่าเดิม อาทิการเติมน้ำดื่มในภาชนะส่วนตัวโดยไม่ต้องซื้อน้ำบรรจุขวดพลาสติก

สุดท้ายนี้การให้ข้อมูลอย่างรอบด้านกับผู้บริโภคนอกจากจะสร้างความตระหนักรู้แล้ว ยังเป็นข้อมูลสำคัญต่อการตัดสินใจอีกด้วย อย่างไรก็ดี ในหลายกรณีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมถูกจำกัดโดยโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างรับผิดชอบเป็นไปไม่ได้ (หรืออาจจะเป็นไปได้แต่ยากมากหรือมีต้นทุนที่สูง) ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้ทางเลือกที่ยั่งยืนเป็นทางที่ง่ายและสะดวก ไม่ต้องใช้ความพยายามมากหรือแพงเกินไป สินค้าที่ยั่งยืนควรมีให้เลือกซื้ออย่างง่ายดาย ในทางกลับกันสินค้าที่สร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมควรถูกทำให้เป็นทางเลือกที่แพง ด้วยการบวกรวมต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นกลายเป็นสินค้าที่ไม่พึงประสงค์ในที่สุด

“การขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนจึงต้องอาศัยการปรับตัวของทั้งระบบการผลิตและความใส่ใจของผู้บริโภค ทุกๆสิ่งที่เราทำจึงล้วนมีส่วนในการสร้างความเปลี่ยนแปลง”

โดย กรณิศ ตันอังสนากุล
นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท ป่าสาละ จำกัด

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.    กรณิศ.ตันอังสนากุล, 2560, At1 – การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน…ภารกิจกู้โลก, [online], Available: https://progreencenter.org/2017/01/18/scp1/ [18 มกราคม 2560].

Write a comment

19 − eight =