แนวทางในการปฏิบัติตามนโยบายพลังงานสีเขียวในประเทศไทย

วารสารวิจัยรำไพพรรณี (2556)

ปวีนา หีมโหด, วิสาขา ภู่จินดา และ สมพร แสงชัย

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่องแนวทางในการปฏิบัติตามนโยบายพลังงานสีเขียวในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสำคัญของพลังงานสีเขียวและการวิเคราะห์ด้านนโยบายพลังงานสีเขียวในประเทศไทย ศึกษาประสิทธิผลของการนำนโยบายพลังงานสีเขียวมาใช้เพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย รวมทั้งแนวทางและข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินการตามนโยบายพลังงานสีเขียวในประเทศไทยงานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาข้อมูลจากเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และใช้การสัมภาษณ์ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายพลังงานสีเขียวในประเทศไทย จากหน่วยงานภาครัฐจำนวน 10 ท่าน และจากองค์กรที่ไม่ใช่องค์กรของรัฐจำนวน 2 ท่าน โดยการนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาทำการวิเคราะห์โดยใช้ SWOT Analysis เพื่อหาแนวทางในการปฏิบัติตามนโยบายพลังงานสีเขียวในประเทศไทย

ผลการศึกษาพบว่า นโยบายพลังงานสีเขียวของประเทศไทยเป็นนโยบายที่ส่งเสริมการพัฒนาพลังงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และชีวมวล ซึ่งประเทศไทยมีแหล่งพลังงานสีเขียวที่มีศักยภาพเหมาะแก่การนำมาใช้งาน และยังเป็นการเพิ่มทางเลือกด้านพลังงานให้กับประเทศ พลังงานสีเขียวมีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงกลุ่มพลังงานฟอสซิล ผลิตผลทางการเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นการลดมลพิษต่างๆ ที่เกิดจากการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ด้านสังคม เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนหรือเอกชนสามารถใช้พลังงานสีเขียว อำนวยความสะดวกด้านสาธารณูปโภคได้ ทางด้านความคุ้มค่าของงบประมาณที่นำมาใช้ในการดำเนินการด้านพลังงานสีเขียวนั้น พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่จากการศึกษาพบว่า ปัจจุบันยังไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุนสำหรับประเทศไทย เนื่องจากปริมาณพลังงานที่ผลิตได้กับมูลค่าของการลงทุนยังไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากมีการลงทุนในมูลค่าที่สูงทางด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยีในการดำเนินการ

แนวทางในการปฏิบัติตามนโยบายพลังงานสีเขียวในประเทศไทยนั้น จากการศึกษามี 8 แนวทางด้วยกัน คือ 1) การสนับสนุนหรือเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการตามนโยบายพลังงานสีเขียวของประเทศในทุกขั้นตอน 2) การสนับสนุนและส่งเสริมด้านองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสีเขียว รวมทั้งเผยพี่ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล 3) การส่งเสริมและสนับสนุนด้านการวิจัยในโครงการที่มีความเป็นไปได้ในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสีเขียวอย่างจริงจัง 4) การสนับสนุนโครงการที่มีการใช้พื้นที่ในการดำเนินการน้อย แต่ให้ผลประโยชน์มาก และไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และความเป็นอยู่ของประชาชน 5) การเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาด้านกระบวนการในการบริหารจัดการ และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายพลังงานสีเขียว ให้มีความสอดคล้องกันในทุกภาคส่วน 6) ส่งเสริมการวิจัยด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสีเขียว เพื่อลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ 7) การกำหนดมาตรการในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนโดยภาครัฐ และ 8) การนำกฎหมายมาบังคับใช้ในการดำเนินการด้านพลังงานสีเขียวอย่างจริงจัง เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตามนโยบายพลังงานสีเขียวในประเทศไทย เพื่อลดภาวะมลพิษที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ลดมูลค่าการนำเข้าพลังงาน และเพื่อความยั่งยืนด้านพลังงานต่อไปในอนาคต

คำสำคัญ

พลังงานสีเขียว พลังงานหมุนเวียน นโยบายพลังงานสีเขียว การนำนโยบายไปปฏิบัติใช้

เอกสารอ้างอิง

1.       ปวีนา.หีมโหด, วิสาขา.ภู่จินดา, and สมพร.แสงชัย, 2556, “Rt3 – แนวทางในการปฏิบัติตามนโยบายพลังงานสีเขียวในประเทศไทย”, วารสารวิจัยรำไพพรรณี, Vol. 8, No. 1, pp. 21-30.

Write a comment

four − 2 =