เปลี่ยนโลกด้วยมือเรา

เยอรมนีกำลังริเริ่มการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญที่เรียกว่า เอแนร์จีเวนเดอ (energiewende) หรือการปฏิวัติพลังงานที่บรรดานักวิทยาศาสตร์เห็นว่า สักวันหนึ่งทุกประเทศจำเป็นต้องทำเพื่อป้องกันหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในบรรดาชาติอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้วยกัน เยอรมนีถือเป็นผู้นำในเรื่องนี้ เมื่อปีที่แล้ว การผลิตไฟฟ้าราวร้อยละ 27 ของเยอรมนีได้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น ลมและแสงอาทิตย์ เพิ่มขึ้นจากทศวรรษก่อนถึงสามเท่า การเปลี่ยนแปลงนี้ถูกเร่งให้เร็วขึ้นหลังภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะในญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 ซึ่งทำให้นายกรัฐมนตรีอันเกลา แมร์เคิล ประกาศจะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 17 แห่งภายในปี 2022 จนถึงขณะนี้ เยอรมนีปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปแล้วเก้าแห่ง และผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้สูงกว่าปริมาณที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งเก้าแห่งนั้นเคยผลิตได้เสียอีก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เยอรมนีมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อโลกคือคำถามที่ว่า เยอรมนีจะเป็นผู้นำการลด ละ เลิก การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้หรือไม่ นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า พอถึงปลายศตวรรษนี้ การปล่อยคาร์บอนที่ทำให้โลกร้อนขึ้นต้องลดลง จนแทบเหลือศูนย์ เยอรมนีซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลกให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนครั้งใหญ่ กล่าวคือลดลงจากปี 1990 ให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี 2020 และลดลงอย่างน้อยร้อยละ 80 ภายในปี 2050
ตอนนี้คำสัญญาเหล่านั้นจะเป็นจริงหรือไม่ยังไม่มีใครตอบได้ การปฏิวัติพลังงานของเยอรมนีเกิดจากรากหญ้า ได้แก่พลเมืองทั่วไปและกลุ่มองค์กรพลังงานภาคประชาชนที่ลงทุนในพลังงานหมุนเวียนคิดเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่ง แต่บริษัทผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ซึ่งคงไม่เห็นดีเห็นงามกับการปฏิวัติพลังงานนี้กดดันให้รัฐบาลของแมร์เคิลชะลอการดำเนินการต่างๆ เยอรมนียังคงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในปริมาณสูงกว่าพลังงานหมุนเวียนมากนัก และหนทางข้างหน้ายังยาวไกลกว่ามาก หากเอแนร์จีเวนเดอจะแทรกตัวเข้าสู่ภาคการขนส่งและการผลิตความร้อน ซึ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันมากกว่าโรงไฟฟ้าเสียอีก
ทุกคนพูดตรงกันว่า เยอรมนีต้องเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงฟอสซิลพร้อมๆกัน “คุณไม่มีทางกำจัดปีศาจตนหนึ่งด้วยการใช้ปีศาจอีกตนหนึ่งได้หรอกครับ เราต้องกำจัดทั้งคู่” ฮันส์-โยเซฟ เฟลล์ นักการเมืองคนสำคัญจากพรรคกรีน (Green Party) อธิบาย [ตอนที่พรรคกรีนเยอรมนีก่อตั้งขึ้นในปี 1980 สองนโยบายหลักของพรรคคือการชูสันติภาพและคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์] ส่วนฟอลเคอร์ ควัชนิง นักวิจัยด้านพลังงาน ให้ทรรศนะว่า “พลังงานนิวเคลียร์ส่งผลต่อตัวผมเอง ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลต่อลูกหลานของผม นั่นคือความแตกต่างครับ”
ในปี 1983 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคกรีนกลุ่มแรกตบเท้าเข้าสู่บุนเดสทาก หรือรัฐสภาแห่งชาติเยอรมนีได้สำเร็จ และเริ่มสอดแทรกแนวคิดสีเขียวเข้าสู่การเมืองกระแสหลัก เมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของโซเวียตที่เชียร์โนบิลระเบิดในปี 1986 พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือเอสพีดี (Social Democratic Party: SPD) หัวเอียงซ้าย หนึ่งในสองพรรคใหญ่ของเยอรมนี ก็กลับลำมาชูธงต่อต้านนิวเคลียร์ด้วย ถึงแม้เชียร์โนบิลจะเกิดขึ้นห่างออกไปกว่าหนึ่งพันกิโลเมตร แต่เมฆหรือฝุ่นกัมมันตรังสีก็ลอยมาไกลถึงเยอรมนี และบรรดาผู้ปกครองก็ได้รับคำเตือนให้กำชับบุตรหลานให้อยู่แต่ในบ้าน
แต่ต้องรอถึงภัยพิบัติที่ฟุกุชิมะในอีก 25 ปีต่อมา กว่าที่แมร์เคิลกับพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน หรือซีดียู (Christian Democratic Union: CDU) ของเธอจะเชื่อว่า ควรปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดภายในปี 2022 เมื่อถึงตอนนั้นพลังงานหมุนเวียนคงอยู่ในกระแสแล้ว

โดย โรเบิร์ต คุนซิก
ภาพถ่าย ลูกา โลกาเตลลี

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
1. โรเบิร์ต.คุนซิก, 2560, At1 – เปลี่ยนโลกด้วยมือเรา, [online], Available: http://www.ngthai.com/featured/292/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2/ [11 เมษายน 2560].

Write a comment

seven − two =