เจจู: เกาะฟ้าใสไร้คาร์บอน

  1. บทนำ

ปัจจุบันในประเทศไทย มีการพูดถึงการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในวงกว้าง แต่อย่างไรก็ตาม ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งใหม่ ทั้งในด้านการใช้งานและการผลิต แม้กระทั่งการนิยามยานยนต์ไฟฟ้า ที่ยังเป็นที่เข้าใจไม่ตรงกัน ในทางทฤษฎี “ยานยนต์ไฟฟ้า” เป็นคำพูดโดยรวมของยานยนต์ที่ใช้พลังงานจากไฟฟ้าเพื่อทำให้มอเตอร์ขับเคลื่อน (Motor driven) ตัวรถ ซึ่งแบ่งเป็นประเภทย่อยได้อีก 4 ประเภท ได้แก่ รถพลังงานผสม (Hybrid Electric Vehicle: HEV) รถพลังงานผสมแบบเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) รถพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) และรถเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle) แต่อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป การกล่าวถึงยานยนต์ไฟฟ้ามักจะหมายถึง รถพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) มากกว่ารถประเภทอื่น ๆ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน การกล่าวถึงยานยนต์ไฟฟ้าในบทความนี้ จะหมายถึง รถพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) เท่านั้น

รูปที่ 1 ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ

ในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ได้ผลิตและใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามาไม่น้อยกว่า 10 ปี แต่สำหรับประเทศไทยยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการศึกษา (เริ่มในปี ค.ศ. 2010) โดยการศึกษาในด้านการใช้งาน พบว่า มีหน่วยงานในประเทศไทยที่นำยานยนต์ไฟฟ้ามาทดลองวิ่ง อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แต่เป็นเพียงการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในระบบจำหน่ายไฟฟ้า ในขณะที่การศึกษาด้านการผลิตยานยนต์ จะเป็นหน่วยงานทางการศึกษาหรือสถาบันวิจัย อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยสุรนารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สำหรับบทความนี้ จะนำตัวอย่างกรณีศึกษาการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้โครงการไร้คาร์บอนของเกาะเจจู ซึ่งเป็นเมืองนำร่องของประเทศเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับการปรับใช้กับประเทศไทยต่อไป 

  • การผลิตยานยนต์ของประเทศเกาหลีใต้

แม้ว่าเกาหลีใต้จะเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของโลก แต่เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากรน้ำมันเป็นของตนเอง และภาคขนส่งของเกาหลีใช้น้ำมันร้อยละ 20 ของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงาน ในปี ค.ศ. 2009 ประธานาธิบดีลี เมียง บัก ได้ประกาศนโยบาย “Low Carbon-Green Growth” โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ นอกจากนี้ในนโยบายดังกล่าว ยังได้บรรจุแผนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อการใช้งานในเชิงพาณิชย์ไว้อีกด้วย รวมทั้งคาดหวังว่าจะให้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นปัจจัยช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New growth engine) ของเกาหลีใต้ต่อไป

เกาหลีใต้ตั้งเป้าหมายจะเป็นตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ของโลก และมีเป้าหมายผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 1 ล้านคันภายในปี ค.ศ. 2020 รวมทั้งได้เลือกเมืองต้นแบบสำหรับทดลองใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า 10 แห่ง เพื่อขยายสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ต่อไป ได้แก่ Seoul Chuncheon Ansan Danglin Daejeon Pohang Yeong-gwang Changwon Gwangju และ Jeju โดย Jeju เป็นเมืองที่มีเป้าหมายการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุด 72,000 คัน ภายในปี ค.ศ. 2020

รูปที่ 2 เมืองต้นแบบสำหรับทดลองใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า

ที่มา: Jeju Development Institute, The latest activities on smart community and EV in Korea and Jeju (2013)

  • โครงการเกาะเจจูไร้คาร์บอน ปี 2030 (Jeju Carbon Free Island Project 2030) 

ปัจจุบันแหล่งพลังงานหลักของเจจูมาจากการเชื่อมต่อโครงข่ายระบบไฟฟ้าจากแผ่นดินใหญ่ลำเลียงผ่านระบบใยแก้วนำแสงใต้ทะเล แต่ด้วยสภาพภูมิประเทศของเจจูที่มีลมพัดผ่านตลอด ทำให้เจจูมีแนวคิดใช้พลังงงานจากลม เพื่อทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยในปี ค.ศ. 2012 เจจูตั้งเป้าหมายเลิกพึ่งพาพลังงานจากแผ่นดินใหญ่ และเลิกใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลให้ได้ทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2030 (Carbon-free island by 2030) และจะเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน ได้แก่ พลังงานลม พลังงานแสงแดด และพลังงานน้ำ รวมทั้งระบบการจัดเก็บพลังงาน (Power storage systems) หรือ ระบบโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart grid)[1] ซึ่งแผนดังกล่าวส่งผลให้นำยานยนต์ไฟฟ้า ระบบการจัดการพลังงานในครัวเรือน (House energy management system: HEMS) มาใช้ในเกาะเจจู

รูปที่ 3 ที่ตั้งของเกาะเจจู

มีเป้าหมายจัดทำ Smart grid ให้ครบทั้งเมืองภายในปี ค.ศ. 2020 และร้อยละ 50 ของพลังงานที่ใช้ (1 กิโลวัตต์) จะมาจากพลังงานลม สำหรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ได้ตั้งเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2020 จะมียานยนต์ไฟฟ้าใช้งานร้อยละ 40 หรือจำนวน 135,000 คัน โดยมุ่งเน้นที่รถโดยสารสาธารณะและรถเช่าสำหรับนักท่องเที่ยว

การดำเนินการระยะที่ 3 Realization of 100% Carbon Free Island ภายในปี ค.ศ. 2030

ภายในปี ค.ศ. 2030 เกาะเจจูจะไม่ใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอีกต่อไป โดยพลังงานที่ใช้ทั้งหมด (2.35 กิโลวัตต์) มาจากพลังงานลม รวมทั้งยานยนต์ที่ใช้งานบนเกาะจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด (377,000 คัน)

รูปที่ 4 เป้าหมายปริมาณการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีประจุไฟฟ้าในเกาะเจจู

ที่มา: The 3rd International Electric Vehicle Expo (2016)

3.3 การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าบนเกาะเจจู

รัฐบาลกลางเกาหลีใต้มีเป้าหมายให้เจจูเป็นหนึ่งในเมืองต้นแบบสำหรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อขยายผลสู่การใช้งานในเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยเจจูเป็นเมืองที่มีเป้าหมายการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุด 72,000 คัน ภายในปี ค.ศ. 2020 ทั้งนี้สืบเนื่องจากปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกาะเจจูเหมาะสมกับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ดังนี้

ประการแรก เจจูมีภูมิประเทศที่เหมาะสมกับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า กล่าวคือ เนื่องจากเจจูมีระยะทางรอบเกาะ 176 กิโลเมตร ระยะทางเหนือจรดใต้ 51 กิโลเมตร และระยะทางตะวันออกจรดตะวันตก 73 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถวิ่งรอบเมืองได้ โดยการประจุไฟ 1 ครั้ง รวมทั้งระยะทางที่แน่ชัดในเกาะ ทำให้สามารถคาดเดาการเดินทางได้ ซึ่งทำให้การวางแผนก่อสร้างสถานีประจุไฟฟ้าเป็นไปโดยง่าย

ประการที่สอง เกาะเจจูมีพลังงานทางเลือกมากมาย โดยเฉพาะพลังงานลมและแสงแดด อีกทั้ง
เจจูได้จัดทำโครงการนำร่องระบบโครงข่ายพลังงานอัจฉริยะ (Smart grid test bed) แล้วเสร็จ และกำลังขยายผลให้ทั่วทั้งเกาะต่อไป

ประการสุดท้าย เจจูมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกปีละกว่า 12 ล้านคน รวมทั้งมีเมืองใหญ่  (9 เมืองในญี่ปุ่น และ 11 เมืองในจีน) ที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคนล้อมรอบ โดยใช้เวลาเดินทางทางอากาศไม่เกิน 2 ชั่วโมง ทำให้สามารถสร้างการรับรู้ (Awareness) การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าได้ในวงกว้าง

แนวทางการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าของเจจู

ในปี ค.ศ. 2012 เจจูจัดทำแผนแม่บทในหัวข้อ เมืองนำร่องการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้โครงการเกาะเจจูไร้คาร์บอน (Carbon-free Jeju) และนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานในเชิงพาณิชย์ โดยภาครัฐใช้งาน 239 คัน ภาคธุรกิจประเภทเช่ารถ มี 3 บริษัท ใช้งาน 28 คัน รวมทั้งออกแบบให้เกาะ Gapa-do ซึ่งเป็นเกาะย่อยของเจจู เป็นหมู่บ้านทดลองการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ที่ประกอบด้วยรถยนต์ไฟฟ้า 4 คัน และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 5 คัน

ข้อมูลล่าสุดในปี ค.ศ. 2015 เกาะเจจูใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า 2,930 คัน (ร้อยละ 44 ของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดในเกาหลีใต้) และมีสถานีประจุไฟฟ้า 2,936 แห่ง (ร้อยละ 47 ของสถานีประจุไฟฟ้าทั้งหมดในเกาหลีใต้)

ในเดือนมีนาคม 2016 เจจูจะเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมยานยนต์ไฟฟ้านานาชาติ เป็นครั้งที่ 3 (The 3rd International Electric Vehicle Expo: IEVE)[2] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมและสร้างมาตรฐานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และสร้างเครือข่ายทางอุตสาหกรรม รวมถึงสร้างการรับรู้การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีหัวข้อหลักของงานคือ Carbon-Free Island & Smart Green City ภายในงานประกอบไปด้วยกิจกรรมหลัก 3 ด้าน ได้แก่ การแสดงนิทรรศการ (Exhibition) การสัมมนา (Conference) และการทดลองขับ (Test drive) รถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในประเทศเกาหลีใต้

อุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า

ในช่วงการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าของเจจูที่ผ่านมา ได้พบอุปสรรคการดำเนินการหลายประการ ซึ่งภาครัฐได้รวบรวมและดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคเอกชน โดยมีรายละเอียดการดำเนินการ ดังนี้

อุปสรรคประการแรก คือ ราคารถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์ถึงสองเท่า รวมทั้งค่าใช้จ่ายการเปลี่ยนแบตเตอรี่มีต้นทุนสูง ในขณะที่ประสิทธิภาพรถยนต์ไฟฟ้ายังด้อยกว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์ ซึ่งรัฐมีแนวทางการแก้ปัญหา โดยการปรับปรุงกฎระเบียบ และให้สิทธิพิเศษต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รวมทั้งจัดฝึกอบรมบุคลากรเพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ การซ่อมบำรุง ระบบประกันภัย นอกจากนี้ทั้งรัฐและเอกชนได้ดำเนินการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ควบคู่กันไปด้วย

อุปสรรคประการที่สอง คือ สถานีประจุไฟฟ้ามีจำนวนน้อยมาก เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ และความยากสำหรับการก่อสร้างในอาคารสูง ซึ่งรัฐมีแนวทางการแก้ปัญหา โดยร่วมมือกับภาคเอกชนเพิ่มสถานีประจุไฟฟ้าในสถานที่ที่เข้าถึงได้โดยสะดวก เช่น แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร

อุปสรรคประการต่อมา คือ ระบบการชำระค่าไฟเมื่อประจุไฟฟ้าจากที่พักอาศัยมีราคาสูง ทำให้รัฐต้องปรับปรุงกฎระเบียบการคิดราคาพลังงานสำหรับการประจุไฟจากที่พักอาศัย และในขณะที่กำลังปรับปรุงกฎระเบียบ ภาคอุตสาหกรรมจะคงราคาแบตเตอรี่และราคาอุปกรณ์การประจุไฟฟ้าไว้ไม่ให้มีราคาสูง

อุปสรรคประการสุดท้าย คือ ยังไม่มีการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในภาคธุรกิจขนส่ง อาทิ รถโดยสารสาธารณะ รถแท็กซี่ และรถเช่า ซึ่งภาครัฐได้แก้ไขโดยจัดทำกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานแท็กซี่ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งชักจูงให้ภาคเอกชนรวมกลุ่มกันซื้อรถคราวละมาก ๆ เพื่อต่อรองราคาให้ต่ำลง

  • บทเรียนสำหรับประเทศไทย

เจจูมีการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีประจุไฟฟ้าจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีประจุในเกาหลีใต้ ทั้งนี้ปัจจัยที่ขับเคลื่อนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในเจจูให้ประสบความสำเร็จ แบ่งเป็น 3 ด้าน มีดังนี้

ด้านการดำเนินนโยบาย พบว่า ประเทศเกาหลีมีนโยบายส่งเสริมการผลิตและการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าอย่างชัดเจน อีกทั้งการดำเนินนโยบายยังกระจายไปภูมิภาคต่าง ๆ อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ เจจูยังเป็นจังหวัดที่มีการปกครองพิเศษ มีรัฐบาลท้องถิ่นที่สามารถจัดการเรื่องกฎระเบียบและจัดสรรงบประมาณได้ด้วยตนเอง ทำให้มีความคล่องตัวในการดำเนินนโยบาย หรือแก้ไขอุปสรรคการดำเนินการต่าง ๆ ได้โดยง่าย

ด้านการเลือกพื้นที่ เพื่อเป็นต้นแบบการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสามารถขยายผลในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป พบว่า ภูมิประเทศของเจจูเหมาะสมกับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากเกาะมีขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งเพียงพอต่อการขับขี่โดยการประจุไฟฟ้าในหนึ่งครั้ง อีกทั้งถนนบนเกาะที่มีแน่นอน ทำให้สามารถวางแผนการก่อสร้างสถานีประจุไฟฟ้าได้ง่าย ส่งผลให้เจจูมีสถานีประจุไฟฟ้าหนาแน่นที่สุด 3.5 กิโลเมตร ต่อ 1 เครื่อง (ข้อมูล ณ ปี ค.ศ. 2014) นอกจากนี้ เจจูยังมีพลังงานสะอาดจำนวนมาก ที่จะเป็นแหล่งพลังงานสำหรับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าต่อไป

ด้านการสร้างการรับรู้ (Awareness) พบว่า มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ปีละกว่า 12 ล้านคนมาเยือนเกาะเจจู  และภาครัฐสนับสนุนกิจกรรมทั้งในระดับท้องถิ่นและนานาชาติเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้เกิดการรับรู้การใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในวงกว้าง รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์เมืองแห่งยานยนต์ไฟฟ้าให้เจจูอีกด้วย

ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช่ในประเทศไทย อาจต้องเริ่มจากโครงการนำร่องสำหรับการใช้งานในพื้นที่ที่ควบคุมได้ เนื่องจากต้องก่อสร้างสถานีประจุไฟฟ้าควบคู่กัน อาทิ การทดลองวิ่งรถโดยสารไฟฟ้า (Electric Bus) เพื่อรับ-ส่งผู้โดยสารที่ใช้บริการจากระบบรางสายต่าง ๆ เนื่องจากมีระยะทางวิ่งที่แน่นอน และมีระยะทางไม่ยาวมากนัก (ไม่เกิน 50 กิโลเมตร) ทำให้สามารถจัดสถานีประจุไว้ที่ต้นทางและปลายทางการเดินทางซึ่งเพียงพอต่อการใช้งาน หรือการใช้งานรถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก ในเขตสถานที่ท่องเที่ยว ด้วยเหตุผลเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นเหตุผลในเรื่องการลดมลพิษและสร้างภาพลักษณ์อีกด้วย

[1] ระบบโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart grid) คือ โครงข่ายระบบไฟฟ้ากำลังซึ่งใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อติดตามการทำงานของส่วนต่าง ๆ ในโครงข่ายระบบไฟฟ้า เพื่อให้การจัดส่งไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าผ่านระบบส่งและระบบจำหน่ายไปถึงผู้ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ

[2] งานครั้งที่ 1 จัดขึ้นในปี ค.ศ. 2014 และครั้งที่ 2 จัดขึ้นในปี ค.ศ. 2015 ที่เมืองเจจู

โดย คุณฐิติภัทร ดอกไม้เทศ

ผู้ชำนาญการ วิจัยอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.    ฐิติภัทร.ดอกไม้เทศ, 2560, At1 – เจจู: เกาะฟ้าใสไร้คาร์บอน, [online], Available: https://progreencenter.org/2016/07/22/%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B9-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%AA%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%AD/ [22 มิถุนายน 2560].

Write a comment

three × five =