องค์การ ICAO บรรลุข้อตกลงการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์: ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559 ที่ประชุมสมัชชาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ International Civil Aviation Organization (ICAO) ครั้งที่ 39 ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ได้บรรลุข้อตกลงการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งถือเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่กำหนดมาตรฐานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมการบิน

ข้อตกลงฉบับนี้ได้กำหนดให้มีการใช้มาตรการ Global Market-Based Measure (GMBM) ซึ่งเป็นมาตรการที่กำหนดให้สายการบินจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป ผ่านการซื้อหน่วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (emission units) จากโครงการพลังงานสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียน เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

มาตรการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ 1. ระยะทดลองและระยะที่หนึ่ง ระหว่างปี 2021 ถึง 2026 เป็นการเข้าร่วมโดยสมัครใจ (voluntary) ประกอบด้วย 65 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยทั้ง 65 ประเทศเป็นแหล่งกำเนิดของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 80% ของอุตสาหกรรมการบินทั้งหมด และ 2. ระยะที่สอง ตั้งแต่ปี 2027 เป็นการบังคับเข้าร่วม (mandatory) โดยมีข้อยกเว้นสำหรับบางประเทศ ได้แก่ ประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และประเทศที่มีอุตสาหกรรมการบินขนาดเล็ก

ปัจจุบัน กฎระเบียบเกี่ยวกับการซื้อขายหน่วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ EU หรือระเบียบ EU Emission Trading System (ETS) อยู่ในแผนระยะที่สาม ระหว่างปี 2013-2020 (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://news.thaieurope.net/content/view/3790/170/) อย่างไรก็ดี ระเบียบ EU ETS ยังมีความแตกต่างจากมาตรการ GMBM ขององค์การ ICAO คือ ระเบียบ EU ETS เป็นระบบ Cap And Trade Scheme ซึ่งเป็นการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำส่วนเกินไปขายให้กับประเทศที่ไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามที่กำหนดได้ ขณะที่มาตรการ GMBM เป็นระบบ Offsetting Scheme หรือระบบชดเชยผ่านการซื้อหน่วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยที่ไม่มีการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

หลังจากนี้ EU จะหารือเพื่อเสนอร่างกฎระเบียบเพื่อแก้ไขขอบเขตของระเบียบ EU ETS ซึ่งเป็นระบบในการจัดสรรปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่จำกัดเพียงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมการบิน ตามเป้าหมาย EU 2030 Climate Objectives And Policy ที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% เทียบกับปี 1990 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งต่อไป จะมีผลกระทบต่อสายการบินของไทยที่บินเข้า-ออก EU ด้วย

อนึ่ง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 EU ได้ประกาศรายชื่อประเทศสมาชิก EU ที่จะเป็นผู้ควบคุมการดำเนินการตามระเบียบ EU ETS ของสายการบินต่างๆ ของไทยที่อยู่ในความรับผิดชอบ (Administering Member State) ดังนี้ 

ประเทศสมาชิก EU ที่เป็น

CRCO Identification No.รายชื่อสายการบินAdministering Member State
2681Thai Airways International Public Company Limitedเยอรมนี
25475THAI FLYING SERVICEกรีซ
12083BANGKOK AIRWAYSฝรั่งเศส
38218HAPPY AIR TRAVELLERSไอซ์แลนด์
37279BUSINESS A.CENTRE COไอร์แลนด์
24788ORIENT THAI AIRLINESไซปรัส
33473NOK AIRสหราชอาณาจักร

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.       ไทยยุโรป.เน็ต, 2559, Nt3 – องค์การ Icao บรรลุข้อตกลงการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์: ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน, [online], Available: http://www2.thaieurope.net/icao-emission-scheme/ [27 ตุลาคม 2559].

Write a comment

5 × 2 =