สภาวะโลกร้อนกับเศรษฐกิจเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

“สภาวะโลกร้อน” เป็นคำพูดที่เราได้ยินกันบ่อย มักใช้แทนภาษาทางการที่ว่า “สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงแค่อุณหภูมิที่สูงขึ้น แต่จะรวมผลต่อเนื่องไปถึงความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอื่นๆ ที่อาจจะมีความรุนแรงมากขึ้น เช่นฝนตกไม่สม่ำเสมอ ฝนตกผิดฤดูกาล น้ำท่วม ไฟป่า ตลอดจนภาวะฝนแล้งต่อเนื่องยาวนาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นนั้น บางคนอาจจะมองว่าไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ อากาศก็ร้อนอยู่แล้วเป็นไปตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในภาคเกษตรที่ต้องพึ่งพิงปัจจัยการผลิตจากธรรมชาติ ก็สังเกตุเห็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และหลายๆครั้งก็ได้สร้างความเสียหายอย่างมากต่อผลผลิตเกษตร ซึ่งภาครัฐได้ให้การช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุที่เรื่องสภาวะโลกร้อนได้กลายเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาตินั้น เนื่องจากหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์จาก IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ที่ได้เผยแพร่มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2533 ได้รับการยอมรับแล้วว่าโลกร้อนขึ้นจริง และมีสาเหตุมาจากก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ที่สะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความร้อนถูกกักเก็บไว้ในโลกไม่สะท้อนกลับไปสู่บรรยากาศ และต้นเหตุสำคัญที่สุดคือมนุษย์ที่ทำให้ก๊าซเหล่านี้สะสมเพิ่มขึ้น ทั้งจากการเผาเชื้อเพลิง การทำลายป่าไม้ การทำเกษตรกรรม และปศุสัตว์ จึงได้มีการรณรงค์กันอย่างกว้างขวางให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น ในประเทศไทยได้มีการทำวิจัยกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนมากขึ้น ทั้งการทำแบบจำลองคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ การประมาณการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการผลิตต่างๆ ผลกระทบที่มีภาคเศรษฐกิจ ตลอดจนแนวทางในการลดผลกระทบ บทความนี้จะวิเคราะห์ประเด็นวิจัยที่น่าสนใจในเรื่องผลกระทบของสภาวะโลกร้อนที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจเกษตร โดยเบื้องต้นจะสรุปผลของสภาวะโลกร้อนที่มีต่อพืชที่นักวิชาการพืชได้นำเสนอในการประชุมระดมความคิดเห็นต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพของทิศทางการวิเคราะห์ชัดเจนขึ้น หลังจากนั้นจะวิเคราะห์ประเด็นวิจัยในบริบทของผลกระทบที่มีต่อรายได้ภาคเกษตร

สภาวะโลกร้อนในประเทศไทย

ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิสูงสุดของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประมาณ 0.07 องศาเซลเซียสต่อทศวรรษ สำหรับประเทศไทยเพิ่มขึ้นน้อยกว่าค่าเฉลี่ย คือ อุณหภูมิสูงสุดเพิ่มขึ้นเพียง 0.026 เซลเซียสต่อทศวรรษ ส่วนอุณหภูมิเฉลี่ยลดลง 0.008 เซลเซียสต่อทศวรรษ[2] นอกจากนี้ยังพบว่าในรอบ 15 ปีที่ผ่านมาทั้งจำนวนและเปอร์เซ็นการเกิดพายุเฮอริเคนในระดับ 4 และ 5 ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรง ในเขตลุ่มมหาสมุทรต่างๆ ของโลกได้เพิ่มขึ้น ผลการทำนายด้วยแบบจำลองภูมิอากาศ อุณหภูมิพื้นผิวโลกนับจากนี้ไปจนถึงปี 2583 จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ภัยธรรมชาติจะเกิดบ่อยขึ้นและมีระดับความรุนแรงขึ้น ในประเทศไทย สภาพภูมิอากาศได้รับอิทธิพลมาจากตัวแปรท้องถิ่นหลายตัว เช่นลมมรสุม ซึ่งมีความผันผวนค่อนข้างสูง การคาดการณ์สภาพภูมิอากาศจึงยากกว่าการคาดการณ์ในประเทศเขตหนาว แต่ได้มีการคาดการณ์ภายใต้ข้อสมมติต่างๆ ไว้ว่า อุณหภูมิสูงสุดในช่วง 20 ปีนี้จะไม่เพิ่มขึ้นจากเดิมนัก คืออุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 34-35 องศาเซลเซียส แต่ในอีก 90 ปีข้างหน้าอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยจะเพิ่มจากปัจจุบันประมาณ 3-4 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย (อุณหภูมิกลางคืน) มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น พื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำจะลดลงโดยเฉพาะในเขตภาคเหนือ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น แต่จะมีความผันผวนและมีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมฉับพลันมากขึ้น

ผลกระทบที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืช[3]

ผลกระทบที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืชมีสองส่วนหลัก คือผลกระทบโดยตรงจากการที่อุณหภูมิมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งสามารถวัดผลกระทบในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ค่อนข้างชัดเจน และผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศซึ่งวัดและคาดการณ์ได้ยากกว่าทั้งเรื่องเวลาและระดับความรุนแรงที่จะเกิดขื้น แต่เมื่อเกิดขึ้นความเสียหายจะรุนแรงกว่ากรณีแรก ศ.ดร.เบญจวรรณ ฤกษ์เกษม นักวิชาการด้านพืชได้ให้ความเห็นว่าแม้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีจะไม่ได้สูงขึ้นมาก แต่สำหรับพืชนั้นความผันผวนของอุณหภูมิเพียงไม่กี่นาที ที่เกิดขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งของการเจริญเติบโตจะทำให้ผลผลิตลดลงได้ เช่น ข้าว ถ้าอุณหภูมิสูงเกินไปในช่วง (1) ดอกบาน แม้ในเวลาสั้นๆ ภายใน 10 นาที ทำให้การผสมเกสรล้มเหลว (2) ในระหว่างฤดูปลูก โดยเฉพาะอุณหภูมิกลางคืน ทำให้ระบบสังเคราะห์แสงรวน มีรวงน้อย จำนวนดอก/รวงต่ำ และข้าวลีบ และ (3) ในช่วงสร้างเมล็ด 30 วันก่อนเก็บเกี่ยว จะมีผลต่อคุณภาพของเมล็ด

ดังนั้น อุณหภูมิที่สูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นกลางวัน หรือกลางคืน  ล้วนมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช อุณหภูมิสูงในเวลากลางวันมีผลต่อการผสมเกสร ทำให้ผสมเกสรไม่ติด อุณหภูมิสูงในเวลากลางคืนมีผลต่อจำนวนดอก จำนวนเมล็ดที่ลีบหลังผสมเกสรเนื่องจากผสมแล้วแท้งผล ในข้าวพันธุ์ IR72 หากอุณหภูมิกลางคืน (วัดจากอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย) เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส (จาก 22 องศาเซลเซียส) จะทำให้ผลผลิตข้าว ลดลง 10% [4] งานวิจัยจากศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ปี 2543 พบว่าอุณหภูมิในช่วงเดือนมีนาคมที่สูงกว่าปกติ 1-3 องศาเซลเซียส ในช่วงผสมเกสรของข้าวนาปรัง ทำให้ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 เกิดเมล็ดลีบมากกว่า 40 % ในขณะที่พันธุ์สุพรรณบุรี 1 ไม่ได้รับความเสียหาย               

ความเสียหายในภาคการเกษตรที่เกิดจากอุณหภูมิผันผวนนั้น ไม่ได้เกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นเท่านั้น แต่อุณหภูมิกลางคืนที่เย็นมากขึ้นก็จะสร้างความเสียหายได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ข้าวมีโอกาสเป็นหมันสูงถ้าอากาศหนาวเย็น งานวิจัยต่างประเทศพบว่าอุณหภูมิวิกฤติที่ทำให้เกิดการเป็นหมันจะต่างกันขึ้นอยู่กับพันธุ์ อุณหภูมิวิกฤติของข้าวที่ทนหนาวอยู่ระหว่าง 15-17 องศาเซลเซียส ส่วนข้าวที่ไม่ทนหนาวอยู่ระหว่าง17-19 องศาเซลเซียส โดยความเป็นหมันจะรุนแรงขึ้นเมื่ออุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่จะไม่แสดงอาการเมื่ออุณหภูมิกลางวันค่อนข้างอุ่นแต่กลางคืนเย็นจัด การศึกษาผลกระทบของอากาศเย็นต่อผลผลิตข้าวที่ศูนย์วิจัยพิษณุโลกในปี 2549/2550 ทำการศึกษาข้าวพันธุ์สุพรรณบุรี 3 ในช่วงที่อากาศหนาวเย็นกว่าปกติ คือ อุณหภูมิในระยะ young microspore ซึ่งเป็นช่วงการเจริญเติบโตที่อ่อนแอต่ออากาศเย็นจัดมากที่สุด อยู่ระหว่าง 16.3-21.3 องศาเซลเซียส และอากาศเย็นนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากออกรวงแล้วถึง 28 วัน โดยมีอุณหภูมิต่ำสุดต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ข้าวสุพรรณบุรี 3 ได้แสดงอาการเหลืองในระยะแตกกอ เมล็ดเป็นหมัน 67% บางรวงมีปลายฝ่อ อายุการเก็บเกี่ยวยืดออกไป 13 วันและผลผลิตลดลง 54 %[5]

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เพิ่มข้อจำกัดในการผลิตภาคเกษตรมากขึ้น ทั้งในเรื่องของ ความแห้งแล้ง น้ำท่วม โรคและแมลง ปัญหาเรื่องดินและวัชพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแปรปรวนของน้ำฝนและการกระจายของฝนที่ไม่สม่ำเสมอและสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตร เช่น ในปี 2534 ที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน มีฝนหลงฤดูประกอบกับอากาศร้อนและความชื้นสัมพัทธ์สูงติดต่อกันยาวนานทำให้เกิดการระบาดของโรคไหม้ระยะคอรวงในข้าวพันธ์ กข6 ในปี 2543 มีฝนหลงฤดู เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ในระยะที่ข้าวอยู่ในระยะพลับพลึง ทำให้ข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 และสุพรรณบุรี 1 หักล้ม เสียหาย 100% แต่พันธุ์พิษณุโลก 2 ซึ่งต้านทานการหักล้ม ไม่ได้รับความเสียหาย ในปี 2546 มีฝนหลงฤดูในภาคเหนือ ขณะที่เกษตรกรกำลังเกี่ยวข้าว และบางรายตากฟ่อนข้าวในนา ทำให้ข้าวเปียกน้ำ และข้าวพันธุ์สันป่าตอง 1 ซึ่งไม่มีระยะพักตัว เมล็ดข้าวงอกคารวง เสียหาย 100%

ผลกระทบของสภาวะโลกร้อนที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืช เห็นได้ชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าความเสียหายอาจจะเกิดจากหลายองค์ประกอบ แต่ความแปรปรวนของอุณหภูมิและสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต และท้ายที่สุดเกิดลบต่อรายได้เกษตรกร งานวิจัยจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งที่เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และกำหนดมาตรการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถวางแผนการผลิตและการตลาดภายใต้ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประเด็นวิเคราะห์วิจัยสภาวะโลกร้อนกับเศรษฐกิจเกษตร

ปัจจุบันงานวิจัยในเรื่องผลกระทบในเชิงเศรษฐศาสตร์ของสภาวะโลกร้อนต่อภาคการเกษตรไทยมีค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานวิจัยต่อยอดจากแบบจำลองสภาพภูมิกาศที่พยากรณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแบบจำลองพืชที่พยากรณ์ผลกระทบต่อผลผลิตพืช ทั้งนี้เนื่องจากงานวิจัยเหล่านี้เป็นการพยากรณ์ในระยะยาวและยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน การเพิ่มมิติในการวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจและสังคมทำให้ไม่สามารถประมาณความเสียหายเชิงปริมาณในระยะร้อยปีหรือแม้แต่ในระยะสิบปีได้อย่างแม่นยำ ทำให้เป็นการยากที่จะนำผลที่ได้จากการวิเคราะห์ไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจเกษตรที่เกิดขึ้นในระยะสั้นได้ อย่างไรก็ดี ข้อมูลพยากรณ์เหล่านี้จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนเตรียมพร้อมการพัฒนาการเกษตรในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นข้อมูลสำคัญที่จุดประกายให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหาสภาวะโลกร้อนที่กำลังเกิดขึ้น งานวิจัยอีกกระแสหนึ่งที่ได้มีการทำควบคู่กันไปเป็นการวิจัยเชิงพัฒนาที่มีแรงขับเคลื่อนจากการเจรจาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่างๆ คืองานวิจัยในสามประเด็นหลักคือ การวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมการผลิตด้านการเกษตร (Inventory) ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Impact) แนวทางการลดการปล่อยเรือนกระจก (Mitigation) และ ผลกระทบจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวของเกษตรกร (Adaptation) ซึ่งการวิเคราะห์วิจัยจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและการแก้ปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ประเด็นวิเคราะห์วิจัยที่น่าสนใจมีอยู่หลายประเด็น บทความนี้จะตั้งต้นวิเคราะห์ผลกระทบต่อรายได้จากภาคเกษตรเพื่อเสนอแนวทางในการพิจารณาประเด็นวิจัยเชิงลึกให้สอดคล้องกับกระแสหลัก ทั้งนี้เนื่องจากรายได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร รายได้สุทธิจากภาคเกษตรหลักๆ คือรายรับจากการขายผลผลิตหักด้วยต้นทุนการผลิต ตัวแปรที่สำคัญที่จะวิเคราะห์คือ ปริมาณผลผลิต ราคาที่เกษตรกรขาย และต้นทุน การวิเคราะห์จะอาศัยข้อสมมติต่างๆที่นักวิชาการด้านสภาพภูมิอากาศและพืชได้เริ่มต้นวิเคราะห์มาให้บางส่วน นอกจากนี้การวิเคราะห์จะเป็นแบบดุลภาพบางส่วนคือวิเคราะห์ทีละตัวแปร โดยสมมติให้ตัวแปรอื่นทุกตัวคงที่ยกเว้นตัวแปรที่กำลังวิเคราะห์อยู่ ตัวแปรที่สำคัญได้แก่

ปริมาณผลผลิต

ผลการศึกษาแบบจำลองสภาพภูมิอากาศพบว่าในระยะ 20 ปี ต่อจากนี้ไปอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดและต่ำสุดจะไม่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับในปัจจุบันมากนัก แต่ในระยะ 90 ปีจะเพิ่มขึ้น งานวิจัยด้านพืชพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิกับผลผลิตนั้นไม่เป็นเส้นตรง บางพืชอาจจะเจริญเติบโตได้ดีขึ้นในระยะแรกแต่ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลผลิตจะลดลง ดังนั้นผลกระทบของอุณหภูมิต่อการเจริญเติบโตของพืชขึ้นอยู่กับว่าอุณหภูมิเริ่มต้นเป็นเท่าไรและพืชชนิดใด การสรุปทิศทางการเปลี่ยนแปลงของปริมาณผลผลิตในภาพรวมค่อนข้างยาก วิเชียร เกิดสุข และคณะ (2547 ) ได้เทียบผลผลิตข้าวพันธุ์ดอกมะลิ 105 ที่ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ต่างๆ พบว่าในอีก 50 ปี ผลผลิตข้าวพันธุ์ดังกล่าว จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5-6 อย่างไรก็ดี นักวิชาการด้านพืชได้ให้ความเห็นว่าความผิดปกติของอุณหภูมิแม้จะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาที อาจจะส่งผลเสียหายต่อผลผลิตเกษตรได้ ถ้าความผิดปกติของอุณหภูมิเกิดถี่ขึ้น จะทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงได้ รายได้ของเกษตรกรที่ปลูกพืชที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอาจจะลดลง ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับข้อมูลและการวิจัยเชิงพื้นที่ การสื่อสารระหว่างภาครัฐกับเกษตรกรเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พันธุ์พืชใหม่ และการจัดการเกษตรในแต่ละพื้นที่เพาะปลูก

ปริมาณผลผลิตนอกจากจะขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ทางเทคนิคซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศและการใช้ปัจจัยการผลิตอื่นแล้ว ยังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเกษตรกรตั้งแต่ต้นฤดูว่าจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร เนื่องจากการผลิตสินค้าเกษตรนั้นต้องใช้ช่วงระยะเวลาหนึ่งจึงมีความเสี่ยงตามธรรมชาติเกิดขึ้นอยู่แล้ว สภาวะโลกร้อนจะทำให้ความเสี่ยงในการผลิตเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ความเสี่ยงเหล่านี้มีผลต่อการตัดสินใจผลิตของเกษตรกร เกษตรกรที่กลัวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากและมียืดหยุ่นสูงในการเพาะปลูกก็อาจเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น แต่ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นได้อาจจะตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งถ้ามองในแง่เศรษฐศาสตร์การตัดสินใจดังกล่าวก็อาจจะเป็นการตัดสินใจของเกษตรกรแต่ละคนที่อาจจะสมเหตุสมผล เพราะถ้ารายรับที่เกษตรกรคาดการณ์ไว้ไม่คุ้มกับต้นทุนจะที่เกิดขึ้นก็จะเลือกผลิตหรือประกอบอาชีพอย่างอื่น ดังนั้นปริมาณผลผลิตพืชที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอาจจะลดลง แม้ว่าในปีนั้นๆ สภาพภูมิอากาศไม่ได้แปรปรวนอย่างที่คาดไว้ ประเด็นที่สำคัญคือ การตัดสินใจนี้จะเป็นการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ ถ้าเป็นไปอย่างไม่มีประสิทฺธิภาพ เกษตรกรจะเสียโอกาสรายได้ที่ควรจะได้ ประเทศก็อาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องความมั่นคงทางอาหารได้ถ้าไม่มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรในเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง

การตัดสินใจการผลิตภายใต้ความเสี่ยงนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัว ข้อมูลที่เกษตรกรรับรู้ และการตอบสนองต่อความเสี่ยงของตัวเกษตรกรเองว่า ชอบความเสี่ยงหรือเกลียดความเสี่ยง ในอดีตมีงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องทัศนคติของเกษตรกรในเรื่องความเสี่ยงในการผลิตและการจัดสรรทรัพยากรพบว่า ชาวนาไทยยิ่งมีระดับการศึกษาสูงจะยิ่งกลัวความเสี่ยง ในเรื่องของการการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากเจ้าหน้าที่รัฐนั้นพบว่าการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอาจจะทำให้เกษตรกรกลัวความเสี่ยงน้อยลงหรือเพิ่มขึ้นก็ได้ นอกจากนี้ยังพบว่าเกษตรกรที่ถือครองที่ดินขนาดเล็กจะกลัวความเสี่ยงมากกว่า อย่างไรก็ดี การศึกษาพบว่าเกษตรกรที่กลัวความเสี่ยงมากจะมีแนวโน้มที่พลาดในการจัดสรรทรัพยากรน้อยกว่าเกษตรกรที่กลัวความเสี่ยงน้อย เนื่องจากจะพยายามเลือกปลูกพืชที่ตนเองถนัดมากที่สุด

ในประเทศไทยนั้น มีชาวนาที่ทำนาในเชิงพาณิชย์อยู่ 4 แสนครัวเรือน พื้นที่นาเฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 24 ไร่ และผลผลิตต่อไร่ประมาณ 686 กิโลกรัม ในขณะที่ชาวนาที่ทำนาแบบพอกินมี 3.3 ล้านครัวเรือน พื้นที่นาเฉลี่ยต่อครัวเรือนเพียง 14 ไร่ และผลผลิตต่อไร่เพียง 360 กิโลกรัม หากมองในแง่การถือครองที่ดิน จำนวนชาวนาไทยที่กลัวความเสี่ยงมากจะมีมากกว่า ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นที่ต้องกระจายข้อมูล ความรู้ต่างๆ ในแก่เกษตรกร งานวิจัยที่เกี่ยวกับการสื่อสารข้อมูลระหว่างภาครัฐกับเกษตรกร การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลง การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการสร้างกลไกตลาดที่จะช่วยให้เกษตรกรบริหารจัดการความเสี่ยงด้วยตนเองซึ่งจะสนุนสนับให้การตัดสินใจของเกษตรกรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ราคาผลผลิต

ราคาเป็นตัวแปรที่คาดการณ์ได้ยากมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสภาพภูมิอากาศเข้ามาเกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ผลกระทบสภาวะโลกร้อนต่อผลผลิตเกษตรมีบริบทในเรื่องของสถานที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าผลผลิตเกษตรของไทยลดในขณะที่ผลผลิตของโลกก็ลดด้วย สภาวะโลกร้อนก็อาจจะไม่กระทบต่อรายรับของเกษตรกรไทยมากเพราะราคาสินค้าเกษตรจะสูงขึ้น แต่รัฐบาลอาจจะเผชิญปัญหาอื่นคือปัญหาความมั่นคงทางอาหาร จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าในอนาคตทั้งอีนเดีย จีน และมาเลเซีย สามารถผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 20  (Mathew et al, 1995 อ้างใน สมพร อิศวิลานนท์ และคณะ, 2551) บังคลาเทศก็จะสามารถผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 10-20 ขึ้นอยู่กับว่าอุณหภูมิสูงขึ้นเท่าไร อุณหภูมิยิ่งสูงยิ่งทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น การศึกษาผลกระทบสภาวะโลกร้อนต่อประเทศในเขตอบอุ่นเช่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ยังพบว่าจะมีผลผลิตธัญพืชจะเพิ่มขึ้น สำหรับไทย ถ้าผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่าประเทศอื่นหรือในกรณีที่แย่กว่านั้นคือผลผลิตข้าวไทยลดลงแต่ประเทศอื่นเพิ่มขึ้นมาก ราคาข้าวจะลดลงตามกลไกตลาด และรายได้เกษตรกรก็จะยิ่งลดลงไปด้วย ดังนั้นการวิเคราะห์ผลกระทบรายพืชหลักทั้งของไทยและคู่แข่งก็มีความสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการส่งเสริมการเพาะปลูกพืช

ต้นทุนการผลิต

ปัจจัยสุดท้ายคือเรื่องต้นทุนการผลิต สภาวะโลกร้อนอาจจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นได้ ประเด็นที่น่าสนใจมีอยู่สองประเด็นคือ หนึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นต้นทุนที่เกษตรกรสมัครใจที่จะจ่ายเพิ่มเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการผลิต เพื่อที่จะรักษาระดับการผลิตให้อยู่ในระดับที่ต้องการ เช่นอาจจะต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มขึ้น การให้น้ำบ่อยขึ้น สร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อให้กักเก็บน้ำได้มากขึ้นเพราะฝนตกไม่สม่ำเสมอ หรือสร้างคันกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วม ตลอดจนการผลิตในพื้นที่ควบคุมอุณหภูมิได้ ประเด็นที่สองคือต้นทุนการผลิตที่อาจจะเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากแรงผลักดันจากปัจจัยภายนอก เช่นข้อตกลงในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ในระยะหลังได้มีการถกกันถึงการมีส่วนร่วมของภาคเกษตรในการลดก๊าซแล้ว ภาคเกษตรนั้นแม้จะเป็นภาคที่อ่อนไหวและได้รับผลกระทบมากที่สุดจากสภาวะโลกร้อน แต่ก็มีส่วนในการเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซมีเทนและก๊าซไนตรัสออกไซด์ จากการทำนาข้าว การใส่ปุ๋ย ตลอดจนการเลี้ยงปศุสัตว์ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตรไทยคิดเป็นประมาณร้อยละ 25 ถึงแม้จะน้อยกว่าภาคพลังงานที่ปล่อยถึงร้อยละ 60 (ข้อมูลปี 2546 จาก กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน แต่ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องช่วยกันลด หรืออย่างน้อยแสดงเจตนารมณ์ที่จะมีส่วนร่วมในการลด เพื่อไม่ให้สภาวะโลกร้อนรุนแรงมากกว่าเดิม การลดการปล่อยก๊าซนั้นจะเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตไปสู่เทคโนโลยีที่สะอาด ซึ่งอาจจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

จากข้อมูลการปล่อยก๊าซมีเทนจากการผลิตข้าวของแต่ละประเทศแสดงให้เห็นว่าการปล่อยก๊าซต่อไร่นั้นไม่เท่ากัน ดังนั้นระดับการปรับเปลี่ยนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซของแต่ละประเทศก็จะไม่เท่ากัน สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรไทย ดังนั้นจึงควรที่จะมีการศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนในวิธีการผลิตแบบต่างๆ ว่ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างกันอย่างไร และต้นทุนการผลิตต่างกันหรือไม่ เพื่อจะได้ดูความคุ้มทุนในการปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่เทคโนโลยีที่ช่วยลดโลกร้อน โดยไม่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมากนัก ในขณะเดียวกันจะต้องมีการติดตามทิศทางการเจรจาในเวทีระหว่างประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอาจจะต้องมีการดำเนินมาตรการเชิงรุกมากขึ้นเพื่อไม่ให้ไทยเสียเปรียบในเวทีโลก

ภาคเกษตรเป็นทั้งภาคที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน และเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบโดยตรงการจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บทความนี้เป็นเพียงการวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกษตรที่อาจจะเกิดขึ้นในเบื้องต้นและมองภาพในแง่เดียวคือในเรื่องรายได้เกษตรกร ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาวิจัยทั้งในเชิงลึก เชิงปริมาณและการวิจัยในภาพกว้างระดับมหภาคถึงผลกระทบที่มีต่อผลผลิต การปรับตัว ต้นทุนในการปรับตัว ตลอดจนโอกาสทางตลาดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

จีราภา อินธิแสง

ส่วนวิจัยเศรษฐกิจเทคโนโลยีและปัจจัยการผลิต

สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.        จีราภา.อินธิแสง, At6 – สภาวะโลกร้อนกับเศรษฐกิจเกษตร[1], [online], Available: http://www.oae.go.th/ewtadmin/ewt/oae_baer/ewt_news.php?nid=380&filename=index [24 มิถุนายน 2560].

Write a comment

2 × 3 =