นักวิชาการ 5 สถาบัน แนะรัฐเปิดเสรีโซลาร์รูฟให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เอง ชี้คืนทุนไม่ถึง 10 ปี

งานสัมมนา Distributed Solar Photovoltaics Policy Analysis Review for Thailand โดย USAID Clean Power Asia ร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 มีการจัดงานสัมมนา Distributed Solar Photovoltaics Policy Analysis Review for Thailand โดย USAID Clean Power Asia ร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุชัดระบบโซลาร์รูฟเป็นแหล่งไฟฟ้าที่ถูก สะอาด และช่วยลดค่าไฟฟ้าโดยรวมสำหรับประชาชนเนื่องด้วยราคาแผงโซลาร์เซลล์ได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ถึงจุดที่บ้าน อาคาร และโรงงาน สามารถผลิตไฟฟ้าเองใช้เองด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้า งานวิจัยของสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้ศึกษาให้กับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน แสดงให้เห็นว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากระบบโซลาร์รูฟในทุกขนาดมีความจูงใจต่อเจ้าของบ้านและอาคาร ช่วยประหยัดรายจ่ายค่าไฟฟ้าและเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าด้วยระยะคืนทุนที่น้อยกว่า 10 ปีในกรณีส่วนใหญ่

ดร.โสภิตสุดา ทองโสภิต จากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ กล่าวว่า ยุคของโซลาร์ราคาแพงได้ผ่านไปแล้ว และประเทศไทยได้เข้าสู่ยุคที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แข่งขันได้กับแหล่งไฟฟ้าอื่นๆ ในทุกขนาด หากส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าเองใช้เองจากระบบโซลาร์รูฟ จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประหยัดรายจ่ายรวมถึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

นอกจากนี้หากเปิดเสรีโซลาร์รูฟ ด้วยมาตรการ net billing (คือให้มีการผลิตเองใช้เองก่อน หากมีไฟฟ้าเหลือ การไฟฟ้าจึงรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินด้วย) และหากราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินน้อยกว่าราคาขายส่งในช่วงพีค ก็จะทำให้การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้แหล่งไฟฟ้าราคาถูก ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงในระยะยาว เป็น win-win สำหรับทั้งผู้ขายและผู้รับซื้อ

อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลหลักข้อหนึ่งของการไฟฟ้าทั้งสามแห่ง คือเรื่องการสูญเสียรายได้ จากการที่บ้านเรือน อาคาร และโรงงาน จะหันไปผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟเพื่อใช้เองมากขึ้น ทำให้ซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าน้อยลงไป จึงจำเป็นต้องมีการพิจารณาให้รอบด้านถึงการสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ด้วย ซึ่งงานวิจัยของ National Renewable Energy Lab และ Lawrence Berkeley National Lab ได้วิเคราะห์ผลกระทบต่อการสูญเสียรายได้ของทั้ง กฟน. และ กฟภ. จากการเพิ่มขึ้นของระบบโซลาร์รูฟในปริมาณ 3,000 เมกะวัตต์ พบว่าการเพิ่มขึ้นของระบบโซลาร์รูฟดังกล่าวทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มเพียงเล็กน้อยเพียง 1 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเมื่อเทียบกับการเพิ่มของค่าไฟฟ้าจากความผันผวนของราคาก๊าซธรรมชาติ หรือการลงทุนระบบผลิต ส่ง และจำหน่ายแล้ว ถือว่าเป็นผลกระทบที่ต่ำกว่ามาก

ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (disruptive technology) ที่ทำให้ทุกภาคส่วนต้องเริ่มปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไฟฟ้า ซึ่งในประเด็นนี้ ผ.ศ. ดร.พัฒนะ รักความสุข อาจารย์คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หนึ่งในผู้เข้าร่วมงานสัมมนา ได้ให้ความเห็นว่าโดยส่วนตัว มองว่าองค์ประกอบต่างๆ พร้อมแล้วที่จะขับเคลื่อนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้เต็มที่หากการไฟฟ้าพร้อมที่จะปรับตัว โดยในการที่จะชดเชยไฟฟ้าส่วนเกินจากการผลิตเองใช้เองนั้น ควรให้ผลตอบแทนต่อชาวบ้าน หรือผู้ที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เองในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม และมองว่าในอนาคต หากมีการวางแผนที่ดี โอกาสที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของภาคที่อยู่อาศัยที่สร้างใหม่แต่ละปีจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 70-80% เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาถูกลงมาก สามารถประกอบเป็นส่วนหนึ่งของบ้านและอาคารสร้างใหม่ให้เป็น Net Zero Energy Building (อาคารที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสุทธิเป็นศูนย์)

อย่างไรก็ตาม ในงานสัมมนาดังกล่าวได้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับผลกระทบของโซลาร์รูฟต่อระบบไฟฟ้า ผศ. ดร. สุรชัย ชัยทัศนีย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในวิทยากรได้ให้ความเห็นว่าข้อกังวลของการไฟฟ้าที่เกี่ยวกับผลกระทบของระบบโซลาร์รูฟต่อความมั่นคงและคุณภาพของระบบไฟฟ้านั้น เป็นประเด็นสำคัญที่ควรจะวิเคราะห์ให้รอบด้าน ซึ่งระบบโซลาร์รูฟอาจมีผลกระทบในเรื่องของแรงดันไฟฟ้า และกำลังไฟฟ้าสูญเสีย ขึ้นอยู่กับพื้นที่ โดยผลกระทบต่อกำลังไฟฟ้าสูญเสียจะกระทบต่อต้นทุนการจัดหาไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายซึ่งหน่วยงานนโยบายและกำกับดูแลควรร่วมพิจารณาให้ภาระต้นทุนดังกล่าวมีค่าต่ำ หรือได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสม โดยเชื่อว่าหากดำเนินการได้ระบบโซลาร์รูฟจะสามารถเชื่อมต่อเข้าระบบจำหน่ายไฟฟ้าได้มากกว่า 2,100 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นค่าประมาณการตามข้อกำหนดการเชื่อมต่อที่มีอยู่ในปัจจุบันของการไฟฟ้า

ด้วยเหตุผลด้านเศรษฐศาสตร์และเทคนิคที่บ่งชี้ว่าการเปิดเสรีโซลาร์รูฟสามารถทำได้ในเวลาอันใกล้นี้ ทาง ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ จากทีดีอาร์ไอกล่าวว่า มี 2 ประเด็นหลักที่ภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเปิดเสรี คือ ลดขั้นตอนและเวลาที่ใช้ในกระบวนการออกใบอนุญาตและการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่สนใจจะติดตั้งโซลาร์รูฟ โดยจากผลการศึกษาความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมโครงการนำร่องสำหรับโซลาร์รูฟเสรี พบว่าอุปสรรคหลักที่ผู้เข้าร่วมโครงการประสบได้แก่ ขั้นตอนและเอกสารที่ต้องใช้มีมาก กระบวนการสมัครและขออนุญาตไม่ชัดเจนและไม่เป็นมาตรฐาน รวมไปถึงการขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ต้นทุนในการติดตั้งโซลาร์รูฟเพิ่มสูงขึ้นทั้งในแง่ต้นทุนด้านเวลาและต้นทุนทางการเงิน

ดังนั้นรัฐจะต้องสามารถลดขั้นตอนตรงนี้และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่สนใจติดตั้งโซลาร์รูฟ เช่นการจัดตั้ง One-stop service เพื่อเป็นศูนย์บริการข้อมูล และศูนย์ประสานงานระหว่างผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกใบอนุญาตต่าง ๆ

ในการสัมมนายังมองว่าเมื่อประชาชนพร้อม ธุรกิจพร้อม และอุตสาหกรรมก็พร้อม และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเองก็เริ่มปรับตัวด้วยการประกาศเริ่มธุรกิจโซลาร์รูฟแล้ว เพราะเหตุใด ภาครัฐจึงยังไม่เปิดเสรีโซลาร์รูฟ ในประเด็นนี้ ดร. โสภิตสุดา กล่าวว่าการผลิตไฟฟ้าเองใช้เองโดยผู้ใช้ไฟฟ้านั้น เป็นปรากฏการณ์ค่อนข้างใหม่ ที่ทำให้การไฟฟ้าต้องปรับตัวทั้งด้านการวางแผน การบริหารจัดการทางเทคนิค และทางการเงิน ซึ่งในแง่เทคนิค ระดับการเพิ่มของโซลาร์รูฟในปริมาณที่ไม่สูงนัก เช่น 3,000 เมกะวัตต์ จะยังไม่มีความจำเป็นจะต้องลงทุนระบบสายส่งสายจำหน่ายเพิ่ม และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายควรศึกษาผลประโยชน์ของระบบโซลาร์รูฟต่อการลดการลงทุนด้วย

ขณะที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทยอย่างธรรมศาสตร์ ได้ริเริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการตั้งเป้าลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงานของมหาวิทยาลัย โดย ผ.ศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มธ.ให้ข้อมูลว่า ธรรมศาสตร์ได้ทยอยติดตั้งโซลาร์รูฟเนื่องจากเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าคาร์บอนต่ำและตั้งเป้าติดตั้งให้ได้ 15 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะช่วยทำให้ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในมหาวิทยาลัยได้ถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งยังมีการวางแผนขยายผลการลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ไฟฟ้าผ่านการเปลี่ยนอุปกรณ์และปรับพฤติกรรม รวมถึงมีการทดลองติดกังหันลมขนาดเล็ก การทำไบโอแกสจากขยะเศษอาหารของโรงอาหาร และมองว่าในอนาคตผู้ใช้ไฟฟ้าจะพึ่งตนเองได้มากขึ้นจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งแม้จะผลิตไฟฟ้าได้ไม่ตลอดทั้งวัน ก็สามารถนำเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานมาช่วยด้วย ในภาพรวมจึงมองว่าภาครัฐควรจะทำให้การผลิตไฟฟ้าเองใช้เองสำหรับบ้านเรือนและอาคาร ง่ายขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และบรรเทาผลกระทบของการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน(อ่านรายละเอียดทั้งหมด ที่นี่)

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.       สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า, 2560, Nt6 – นักวิชาการ 5 สถาบัน แนะรัฐเปิดเสรีโซลาร์รูฟให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เอง ชี้คืนทุนไม่ถึง 10 ปี, [online], Available: https://thaipublica.org/2017/06/rooftop-solar15-6-2560/ [21 มิถุนายน 2560].

Write a comment

twelve + ten =