จุดที่ไม่สามารถย้อนกลับไปได้ ยุติการคุกคามต่อสภาพภูมิอากาศ

บทสรุป

หากโครงการทั้ง 14 โครงการที่จะกล่าวถึงในรายงานฉบับนี้ยังคงดำเนินต่อไปในปี พ.ศ. 2563 ทั่วโลกจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลมากถึง 20% ส่งผลให้โลกร้อนขึ้น 5-6 องศาเซลเซียส หากต้องการให้เกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด เราต้องควบคุมให้โลกร้อนขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส หากยังไม่มีการกำหนดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่ลดลง ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าสภาพภูมิอากาศจะอยู่ในจุดที่ไม่สามารถย้อนกลับไปได้แล้ว ซึ่งก็แปลว่าโลกจะตกอยู่ในสภาพภูมิอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรง และเมื่อเวลานั้นมาถึงเราจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อีก

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่สามารถสามารถควบคุมได้อีกต่อไปแล้ว องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ระบุว่า ในปีพ.ศ. 2553 ทั่วโลกปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น 5% ซึ่งถ้าเทียบค่าในระยะยาวที่เคยมีการบันทึกไว้ ค่าดังกล่าวถือเป็นค่าที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ ขึ้นอีกถึงร้อยละ 3 ในปีพ.ศ. 2554 ซึ่งปริมาณดังกล่าวจะมีค่ามากเกินกว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คาดการณ์ว่ารุนแรงที่สุดจนทำให้โลกร้อนขึ้น 5-6 องศาเซลเซียสในระยะยาว หากเราไม่ต้องการให้เหตุการณ์เลวร้ายนี้เกิดขึ้น เราต้องหยุดการสร้างโครงการพลังงานที่อาศัยเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานภายใน 5 ปี โดยชี้ให้เห็นว่าโครงการที่เกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในโลกที่เราอาศัยอยู่

โครงการพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้ง 14 โครงการนี้ รวมไปถึงการขยายตัวอย่างมหาศาลของเหมืองถ่านหินในจีน ถ่านหินถูกส่งออกปริมาณมากขึ้นจากประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซีย มีการพัฒนาแหล่งน้ำมันจากทรายน้ำมันในแคนาดา อาร์กติก มหาสมุทรนอกชายฝั่งบราซิล อิรัก อ่าวเม็กซิโก และคาซัคสถาน รวมทั้งการผลิตก๊าซในแอฟริกาและทะเลแคสเปียน  โครงการเหล่านี้ล้วนเป็นโครงการพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุดในทศวรรษที่กำลังจะเกิดขึ้น

กว่าสองทศวรรษแล้วที่นักภูมิอากาศวิทยาเตือนเราว่า การละเลยที่จะควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ส่งผลที่ร้ายแรงซึ่งก็คือ ภาวะโลกร้อนจะเกิดขึ้นตามมา ดังนั้นหากไม่ต้องการให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เราต้องควบคุมอุณหภูมิของโลกให้เพิ่มไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ดีตัวเลขนี้ก็ยังถือว่าเป็นอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มขึ้นในอดีต ในเดือนพฤศจิกายนพ.ศ. 2555 ทั้งองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และธนาคารโลกเตือนว่า อุณหภูมิของโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 3.6 ถึง 4 องศาเซลเซียส และหากมีคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นมาอีกจากโครงการ 14 โครงการที่กล่าวมานี้ อาจเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดจะเกิดขึ้นคือ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้นเกิน 4 องศาเซลเซียสและอาจจะเกินถึง 6 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

แม้ว่าเราจะได้รับสัญญาณเตือน แต่รัฐบาลกับบริษัทจำนวนหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลกลับผลักดันโครงการเหล่านี้โดยไม่ได้ใส่ใจถึงผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่จะตามมาแม้แต่น้อย ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 IEA กล่าวในงานทิศทางพลังงานโลก (World Energy Outlook) ว่า หากต้องการทำให้อุณหภูมิทั่วโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ภายใน พ.ศ. 2593 เราลดการปล่อยคาร์บอนออกไปสู่บรรยากาศไม่เกินเกินหนึ่งในสามของคาร์บอนที่มีอยู่ในปริมาณสำรองเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างไรก็ตามการพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ด้านถ่านหิน น้ำมันและก๊าซเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้น

นักภูมิอากาศวิทยาแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวนที่น่าหวาดกลัวกับภาวะโลกร้อน ซึ่งปรากฏการณ์สภาพอากาศแปรปรวนนี้รวมไปถึงพายุเฮอริเคนแซนดี้ พ.ศ. 2555 ภัยแล้งในสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2555 และ พ.ศ. 2554 คลื่นความร้อนและไฟป่าในรัสเซียพ.ศ. 2553 และคลื่นความร้อนในยุโรป พ.ศ. 2546 ซึ่งคร่าชีวิตประชากรไปหลายหมื่นคน ปรากฏการณ์ที่โลกกำลังเผชิญเหล่านี้เกิดขึ้นในขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นมาเพียง 0.8 องศาเซลเซียสเท่านั้น นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เราจะต้องเผชิญในอนาคตถ้าเรายังปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบต่อมนุษย์เป็นที่น่าหวาดกลัวมากถ้าเรายิ่งเร่งให้เกิดหายนะจากภาวะโลกร้อน เดือนกันยายน พ.ศ. 2555 รัฐบาลจาก 20 ประเทศร่วมกันจัดทำรายงานหนึ่งฉบับ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับภัยพิบัติที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างละเอียด รายงานฉบับนี้ประมาณการณ์ว่า ในแต่ละปีมีประชากรเสียชีวิตไปกว่า 5 ล้านคนเนื่องจากภาวะโลกร้อน และภายในพ.ศ. 2573 จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดอาจจะมีถึง 100 ล้านคนทีเดียว องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเอโคฟิสเปิดเผยผลการวิจัยที่แสดงถึงการกระทำของมนุษย์อันเป็นผลทำให้เกิดภัยพิบัติจากสภาพอากาศแปรปรวนและวิธีที่จะช่วยไม่ให้เกิดหายนะ วิธีการที่น่าสนใจที่สุดในงานวิจัยของเอโคฟิส จะช่วยให้เรามีโอกาสควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสถึงร้อยละ 75  และทั้งหมดเป็นจริงได้หากเราเริ่มลดการปล่อยคาร์บอนอย่างจริงจัง แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากแต่ก็เป็นไปได้ และหนทางสำคัญที่สามารถทำได้ตอนนี้ก็คือ งดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโครงการ 14 โครงการ รัฐบาลเองก็เป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก วิธีการของเอโคฟิสซึ่งใช้ควบคุมอุณหภูมิโลกจะต้องควบคุมค่าก๊าซคาร์บอนออกไซด์ที่ปล่อยออกมาสูงสุดในปี 2558 และทำให้ลดลงเรื่อย ๆ ในแต่ละปีในปริมาณร้อยละ 5 และการยกเลิกโครงการพลังงานเหล่านี้จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึงหนึ่งในสามของก๊าซคาร์คาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่ต้องทำให้ลดลงเพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการทั้ง 14 โครงการนี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลรับปากว่าจะปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดภาวะโลกร้อนไม่ได้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลสัญญาไว้

รัฐบาลที่อนุมัติให้โครงการเหล่านี้เคยตกลงร่วมกันว่า จะควบคุมให้อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ถ้ารัฐบาลเหล่านี้ละเลยต่อสิ่งที่ได้ตกลงไว้แล้วทำให้ภูมิอากาศโลกแปรปรวนจนแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว รัฐบาลจะถูกประนามว่า การแปรปรวนของสภาพอากาศสามารถป้องกันได้ก่อนหน้านี้ แต่รัฐบาลกลับไม่ทำ ทั้ง ๆ ที่ในเวลานี้เรามีเทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทั่วโลก

พลังงานหมุนเวียนที่ปลอดภัยร่วมกับการเพิ่มประสิทธิภาพของพลังงานที่ใช้ จะช่วยให้เรามีพลังงานที่เพียงพอใช้และลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะโลกร้อนที่รุนแรง ตัวอย่างเห็นได้จากความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในพ.ศ. 2554 มีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากกว่าร้อยละ 30 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ในขณะที่พ.ศ. 2548 มีการใช้พลังงานหมุนเวียนไม่ถึงร้อยละ 5 ของสัดส่วนทั้งหมด ดังนั้น เมื่อพลังงานหมุนเวียนสามารถนำมาใช้ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว เราก็มีความหวังที่จะรอดพ้นจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน

สถานการณ์พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกที่กรีนพีซคาดไว้ว่าจะเกิดขึ้น หรือเรียกว่าการปฏิวัติพลังงาน (Energy [R]evolution) แสดงให้เห็นถึงวิธีการนำพลังงานหมุนเวียนไปใช้และวิธีจัดการกับโครงการพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลไม่ให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเกินไป ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ทั้งจัดการได้เร็วขึ้นและทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง สำหรับการคาดการณ์สถานการณ์พลังงานหมุนเวียนระบุว่าภายในพ.ศ. 2578 จะต้องมีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นไปจนถึงร้อยละ 65 ในการผลิตไฟฟ้าและจะต้องเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและไม่ให้เกิดภัยพิบัติจากการที่อุณหภูมิทั่วโลกเพิ่มขึ้น 4 ถึง 6 องศาเซลเซียส

โลกของเราไม่สามารถรับมือได้กับโครงการใหม่ที่ใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าที่ดำเนินมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษได้อีกแล้ว หรือแม้แต่การใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงต่อไปเรื่อย ๆ แทนที่จะเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงที่ยังยืนกว่าในระบบขนส่ง กรีนพีซคาดการณ์ไว้ว่า ภายในพ.ศ. 2563 แหล่งพลังงานหมุนเวียนจะให้พลังงานได้ถึงสองเท่าของพลังงานถ่านหินทั้งหมดที่ได้จากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4 โครงการรวมกัน นอกจากนี้การใช้รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพดีร่วมกับการใช้พลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดในการผลิตไฟฟ้า ในอาคารและในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะช่วยลดปริมาณน้ำมันที่ใช้ลงได้มากกว่าปริมาณน้ำมันทั้งหมดที่ได้จากโครงการน้ำมัน 7 โครงการผลิตรวมกัน

หากเราใช้พลังงานหมุนเวียนในอนาคต เราก็ไม่จำเป็นต้องชุดเจาะก๊าซและน้ำมันจากอาร์กติกมาใช้ อนาคตสีเขียวที่มีพลังงานจากการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจะเป็นจริงได้ถ้ารัฐบาลควบคุมโครงการพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลและสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน โลกของเรากำลังอยู่ในจุดที่ไม่สามารถย้อนกลับไปได้แล้ว เราต้องเลือกระหว่างการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้แทนถ่านหิน น้ำมันและก๊าซ หรือเลือกที่จะเผชิญหน้ากับอนาคตที่มีหายนะจากภาวะโลกร้อนรออยู่

แปลและเรียบเรียงโดย วรานุช ทนุบำรุงสุข 
อาสาสมัครกรีนพีซในโครงการแปลเปลี่ยนโลก

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.       วรานุช.ทนุบำรุงสุข, 2559, At4 – จุดที่ไม่สามารถย้อนกลับไปได้ ยุติการคุกคามต่อสภาพภูมิอากาศ, [online], Available: http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/Point-of-No-Return/ [29 กุมภาพันธ์ 2559].

Write a comment

10 − five =