คาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการบริโภคในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาด ในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

วารสารวิชาการ Veridian E-Journal, Silpakorn University (2560)

พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์

บทคัดย่อ

ปัจจุบันการพัฒนาการท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ได้ให้ความสำคัญกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากพฤติกรรมการบริโภคของนักท่องเที่ยวและจากธุรกิจท่องเที่ยวที่ส่งผลในวงกว้าง โดยมิได้จำกัดอยู่เฉพาะขอบเขตของแหล่งท่องเที่ยวนั้นแห่งเดียว หากแต่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งเป็นปัญหาที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นปัจจัยลบตัวใหม่ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวการวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคำนวณปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวมทั้งลักษณะการบริโภค พฤติกรรมและการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเกาะสมุยโดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจำนวน 600 ตัวอย่างและทำการเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของสถิติการบริโภค ผลการศึกษาผลการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์พบว่าแหล่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดคือพาหนะในการเดินทางระหว่างประเทศ ร้อยละ 61.15 ในขณะที่คาร์บอนฟุตพริ้นท์ภายในประเทศ ส่วนใหญ่เกิดจากธุรกิจที่พัก ร้อยละ 37.10 รองลงมาคือการขนส่งภายในแหล่งท่องเที่ยว และการกำจัดขยะ ตามลำดับ โดยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวมทั้งหมด 1,163.37 กิโลตันต่อปี เฉลี่ย 616.74 กิโลกรัมต่อนักท่องเที่ยว 1 คนต่อปี ซึ่งต้องใช้เงินจำนวน 1,430.29 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 946.26 บาทต่อคนในการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปี 2556 โดยปีดังกล่าวเกาะสมุยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ 15,811.09  บาทต่อคน ทั้งนี้การลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์จากการท่องเที่ยวนั้นสามารถลดในส่วนของธุรกิจที่พัก ขยะ และการลงทุนด้านการขนส่งมวลชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้มาตรการจูงใจด้านภาษี เพื่อลดปริมาณขยะและส่งเสริมการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ อีกทั้งการพัฒนาระบบการสื่อความหมายสิ่งแวดล้อมการส่งเสริมและการสร้างกิจกรรมทางเลือกที่เน้นการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น

คำสำคัญ

คาร์บอนฟุตพริ้นท์;พฤติกรรมการบริโภค;ท่องเที่ยว; เกาะสมุย / Carbon Footprint; Tourism Consumption; Tourism Impacts; Koh Samui; Thailand

เอกสารอ้างอิง

1.       พิมพ์ลภัส.พงศกรรังศิลป์, 2560, “Rt2 – คาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการบริโภคในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและชายหาด ในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี”, วารสารวิชาการ Veridian E-Journal, Silpakorn University, Vol. 10, No. 1.

Write a comment

8 − four =