การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วน

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร วันที่ 5 มิถุนายน 2559

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำลายสินทรัพย์ทางการเงินมูลค่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อ้างอิงจากการประมาณการโดยแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์

ภายใต้สถานการณ์ที่แย่ที่สุด ซึ่งมักเป็นสถานการณ์ที่ผู้กำกับดูแลจะใช้เพื่อตรวจสอบสุขภาพทางการเงินของบริษัทและระบบเศรษฐกิจ ความสูญเสียจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจมีมูลค่าสูงถึง 24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของสินทรัพย์ทั่วโลกและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก

งานวิจัยชิ้นนี้ยังนำเสนอว่า การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีสเป็นเรื่องสมเหตุสมผลทางการเงิน โดยการดำเนินการตามแผนดังกล่าวจะทำให้โลกสูญเสียสินทรัพย์ทางการเงินร้อยละ 315 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขดังกล่าวได้รวมเอาต้นทุนจากการลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกไว้แล้ว

“งานวิจัยของเราเน้นย้ำต่อนักลงทุนระยะยาวว่า เราจะมีชีวิตที่ดีกว่าในโลกคาร์บอนต่ำ กองทุนบำเหน็จบำนาญต่างก็เห็นความสำคัญในประเด็นนี้ แต่น่าเสียดายที่ความตระหนักในเรื่องนี้ของภาคการเงินการธนาคารยังค่อนข้างต่ำ” Simon Dietz จาก London School of Economics ผู้เขียนงานวิจัยอธิบาย

Mark Campanale จากองค์กรคลังสมอง Carbon Tracker กล่าวว่าการสูญเสียทางการเงินที่แท้จริงจากความล้มเหลวที่จะรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มจะสูงกว่าแบบจำลองทางการเงินมาก“มันน่าจะแย่กว่านี้มาก การสูญเสียสินทรัพย์ทางการเงินจะมากกว่าและเร็วกกว่าการลดลงของจีดีพี (ซึ่งเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ใช้ในการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เราดูได้จากมูลค่าของบริษัทถ่านหินยักษ์ใหญ่อย่าง Peabody Energy ที่เคยมีมูลค่ากว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ตอนนี้แทบไม่เหลืออะไรเลย”

“ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือความเสี่ยงเชิงระบบขนาดยักษ์ นักลงทุนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้โดยเลือกลงทุนในบริษัทและยังช่วยลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกโดยสนับสนุนแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทะเยอทะยาน” Ben Caldecott ผู้จัดการโครงการ sustainable finance จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดกล่าว

งานศึกษาที่นำมาใช้อ้างอิงนี้ เผยแพร่ในวารสาร Nature Climate Change โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ในการประมาณผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกรณีที่เราล้มเหลวจากการดำเนินการตามแผนจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ การศึกษาชิ้นนี้ชี้ว่าสินทรัพย์ในปัจจุบันมีมูลค่ามากเกินกว่าที่ควรจะเป็น 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีโอกาสเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่มูลค่าจะสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น 24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความสูญเสียอาจเกิดจากการพังทลายของสินทรัพย์จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง รวมทั้งรายได้ที่ลดลงในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ภัยแล้ง และผลกระทบอื่นๆ

หากมีการดำเนินการตามแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ งานวิจัยพบว่าจะช่วยลดการสูญเสียทางการเงินในภาพรวม แต่สินทรัพย์ เช่น บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลจะเสียมูลค่า มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนเสนอว่าหากต้องการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ถ่านหิน แก๊ส และน้ำมันสำรองส่วนใหญ่ควรจะถูกเก็บไว้ใต้ดินโดยไม่ขุดนำมาใข้ ปัจจุบัน มูลค่าตลาดของบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ที่ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

“ไม่มีสถานการณ์ใดที่สินทรัพย์ทางการเงินจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มันย่อมมีผู้ชนะและผู้แพ้” Simon Dietz กล่าว นักลงทุนขนาดใหญ่อย่างกองทุนความมั่งคั่งแห่งนอร์เวย์ (Norway’s sovereign wealth fund) ซึ่งเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เริ่มขายหุ้นที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูง เช่น บริษัทถ่านหิน ออกไปแล้ว

นักลงทุนหลายคนก็ได้รับคำเตือนในการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินและแก๊สธรรมชาติหลัง พ.ศ. 2560 ที่มีงานวิจัยเสนอว่าหากต้องการบรรลุเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มเกิน 2 องศาเซลเซียส จะต้องไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าที่ปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์แห่งใหม่ไม่ว่าจะเป็นที่ใดของโลก เว้นแต่ว่าในอนาคตอันใกล้โรงไฟฟ้านั้นจะปิดตัวลง หรือปรับปรุงให้เป็นระบบดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์

“นักลงทุนที่นำเงินไปลงทุนในโครงสร้างที่ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จะต้องถามคำถามว่าสินทรัพย์นั้นจะดำเนินการอีกนานเท่าไร และได้ประเมินความเสี่ยงที่จะปิดตัวลงในอนาคต หรือถูกลดมูลค่าทางบัญชีหรือไม่” Cameron Hepburn จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดกล่าว

ถอดความจาก ‘Climate change will wipe $2.5tn off global financial assets: study’ โดย Damian Carrington เข้าถึงได้ที่ http://www.theguardian.com/environment/2016/apr/04/climate-change-will-blow-a-25tn-hole-in-global-financial-assets-study-warns

ถอดความโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

1.        รพีพัฒน์.อิงคสิทธิ์, 2559, At6 – การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วน, [online], Available: http://www.seub.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=1838:seubnews&catid=5:2009-10-07-10-58-20&Itemid=14 [5 มิถุนายน 2559].

Write a comment

fifteen + seven =