การบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กรณีศึกษาเทศบาลตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

วารสารการจัดการสิ่งแวดล้อม (2557)

ชาคริต โภชะเรือง, อมร รอดคล้าย และปาริชาติ วิสุทธิสมาจาร

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์ผลการศึกษาสถานการณ์ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประชาชนในชุมชนเทศบาลตำบลคูเต่า  2) ศึกษาการพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิธีการศึกษา ใช้การถอดบทเรียนจากการวิจัยเชิงปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วม ผ่านวิทยานิพนธ์ “การพัฒนากระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กรณีศึกษา พื้นที่เทศบาลตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา” ที่ผู้เขียนได้วิจัยร่วมกับชุมชน ผลการศึกษาพบว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ เกิดอุทกภัยและวาตภัย เฉลี่ย 1-2 ครั้งต่อปีในรอบ 30 ปี โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยที่สุดได้แก่ หมู่ 1, 2, 3, 5 และ6 และกระบวนการนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควรให้ความสำคัญกับการเสริมอำนาจให้กับสถาบันของท้องถิ่น การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นเรื่องจำเพาะของแต่ละพื้นที่ดังกรณีศึกษาตำบลคูเต่า เช่นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งมีการพัฒนาระบบการเตือนภัยอุทกภัยโดยองค์กรชุมชนแสดงบทบาทร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนท้องที่ และผู้นำศาสนา มีการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ร่วมกำหนดแนวทางเตือนภัยระดับชุมชน การพัฒนากลไกเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์ และผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาท้องถิ่น และพบว่า ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ กลไกประสานงานกลาง การบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล การกำหนดขั้นตอนและวิธีการอย่างมีส่วนร่วมและยืดหยุ่น การเข้าถึงข้อมูลและความรู้ และการสื่อสารทั้งรูปแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

คำสำคัญ

นโยบายสาธารณะ; การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ; คุณภาพชีวิต

เอกสารอ้างอิง

1.       Phocharueang, C., Rodklai, A., and Visuthismajarn, P., 2557, “Rt4 – การบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กรณีศึกษาเทศบาลตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา “, วารสารการจัดการสิ่งแวดล้อม, Vol. 10, No. 1.

Write a comment

4 + 6 =